ธุรกิจกลาง-เล็ก กังวล “ต้นทุนเพิ่ม-กำลังซื้อลด” หวังรัฐบาลกระตุ้นคนใช้จ่าย ระบายของค้างสต๊อก

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ธุรกิจกลาง-เล็ก กังวล “ต้นทุนเพิ่ม-กำลังซื้อลด” หวังรัฐบาลกระตุ้นคนใช้จ่าย ระบายของค้างสต๊อก

Date Time: 5 ก.ค. 2567 11:38 น.

Video

ทางรอดเศรษฐกิจไทยในยุค AI ครองโลก | 1st Anniversary Thairath Money

Summary

  • SME D Bank เผยผลสำรวจ ผู้ประกอบการ SME ความเชื่อมั่นลดในไตรมาส 2/67 กังวลต้นทุนธุรกิจเพิ่มสูงขึ้น สินค้าเหลือขาย จากกำลังซื้อที่แผ่วลง ผู้รับเหมาก่อสร้างความเชื่อมั่นต่ำที่สุด หวังรัฐบาลอัดฉีดเงินเข้าระบบ กระตุ้นกำลังซื้อ ยกระดับประสิทธิภาพการผลิต

Latest


ธุรกิจ SME ยังเผชิญแรงกดดันทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางกำลังซื้อที่แผ่วลง จากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้าจากปัญหาโครงสร้าง กดดันให้ต้นทุนการประกอบการเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะราคาพลังงาน ในขณะที่ผู้ประกอบการ SME ส่วนใหญ่ต้องประสบปัญหาสภาพคล่องจากการเข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบ โดยในไตรมาส 1/2567 ที่ผ่านมา สินเชื่อ SME หดตัวมากถึง 5.1%

พิชิต มิทราวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank กล่าวว่า SME D Bank โดยศูนย์วิจัยและข้อมูล ธพว. ร่วมกับ สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยผลสำรวจ “ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ SMEs ต่อเศรษฐกิจและธุรกิจ ไตรมาส 2/2567 และคาดการณ์อนาคต” จากการสำรวจผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศ ครอบคลุมทุกประเภทอุตสาหกรรม จำนวนกว่า 500 ตัวอย่าง

พบว่า ภาพรวมดัชนีเชื่อมั่นฯ ไตรมาส 2/2567 อยู่ที่ระดับ 52.06 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ในระดับ 52.36 เนื่องจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีความกังวลที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะด้านต้นทุนการประกอบการและปริมาณสินค้าคงคลัง ทั้งนี้ ปัจจัยกดดันสำคัญ ได้แก่ 

1.ด้านต้นทุนการประกอบการที่เพิ่มสูงขึ้น 

2.ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทั้งเศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลก 

3.นโยบายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐยังขาดความชัดเจน

4.กำลังซื้อของลูกค้าที่ลดลง และประเด็นอื่นๆ เช่น ขาดสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ เป็นต้น  

เมื่อแยกตามประเภทอุตสาหกรรม เอสเอ็มอีด้านการผลิต ประมาณ 55% มีความเชื่อมั่นสูงกว่ากลุ่มอื่น เนื่องจากไตรมาส 2/2567 เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวในภาคการท่องเที่ยว การบริโภคในประเทศ และการส่งออก ทำให้ธุรกิจการผลิตในภาคอุตสาหกรรมเชื่อมั่นว่าผลประกอบการและสภาพคล่องของธุรกิจการผลิตจะดีขึ้น และเชื่อมั่นจะมีการลงทุนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ธุรกิจการผลิตในภาคการเกษตร มีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่กลุ่มรับเหมาก่อสร้างยังคงมีความเชื่อมั่นต่ำที่สุด และต่ำกว่าธุรกิจอื่น เช่นเดียวกับในไตรมาสที่ 1/2567 ที่ผ่านมา

ส่วนคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า (ไตรมาส 3/2567) ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีความเชื่อมั่นโดยภาพรวมเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 58.60 โดยเพิ่มขึ้นในเกือบทุกด้าน โดยเฉพาะด้านผลประกอบการ จำนวนคำสั่งซื้อ ราคาขายของสินค้า สภาพคล่องของธุรกิจ และปริมาณการผลิต เนื่องจากคาดการณ์เศรษฐกิจโดยรวมจะดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ความกังวลด้านต้นทุนการประกอบการยังคงอยู่ในระดับเดิม 

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องการให้ภาครัฐออกมาตรการ ช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนอย่างทันท่วงที โดยมาตรการที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี กลุ่มวิสาหกิจรายย่อย (Micro) และกลุ่มวิสาหกิจขนาดย่อม (Small) ต้องการมากที่สุด คือ มาตรการอัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ ในขณะที่ กลุ่มวิสาหกิจขนาดกลาง (Medium) ต้องการมาตรการเงินลงทุนยกระดับมาตรฐาน หรือปรับปรุงการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

นายพิชิต กล่าวสรุปว่า จากผลสำรวจดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจยังไม่สนับสนุนให้เอสเอ็มอีมีความเชื่อมั่นมากนัก และยังมีความกังวลด้านต้นทุนเพิ่มขึ้น ประกอบกับเอสเอ็มอียังต้องการมาตรการสนับสนุน เพื่อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อและส่งเสริมต่อการประกอบธุรกิจให้เติบโต.

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ Thairath Money ได้ที่ 
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ