มุมมอง “ธนาคารโลก” เศรษฐกิจไทย “ค่อยๆ” ฟื้นตัว

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

มุมมอง “ธนาคารโลก” เศรษฐกิจไทย “ค่อยๆ” ฟื้นตัว

Date Time: 5 ก.ค. 2567 05:25 น.

Summary

  • ธนาคารโลกได้เผยแพร่รายงานการติดตามเศรษฐกิจของประเทศไทยฉบับล่าสุด ที่จัดทำโดยธนาคารโลก.โดยประมาณการว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 นี้ จะขยายตัวตลอดทั้งปีได้ร้อยละ 2.4 จากที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.9 ในปีที่แล้ว (2566)

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

เมื่อวันพุธที่ผ่านมานี้เอง ธนาคารโลกได้เผยแพร่รายงานการติดตามเศรษฐกิจของประเทศไทยฉบับล่าสุด ที่จัดทำโดยธนาคารโลก.โดยประมาณการว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 นี้ จะขยายตัวตลอดทั้งปีได้ร้อยละ 2.4 จากที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.9 ในปีที่แล้ว (2566)

รายงานของธนาคารโลกฉบับนี้ยังมองไปถึงปีหน้า 2568 ด้วย โดยพยากรณ์ว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยน่าจะขยายเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.8 หรือเพิ่มจากปีนี้เล็กน้อย

นาย ฟาบริซิโอ ซาร์โคเน ผู้จัดการธนาคารโลก ประจำประเทศไทย ให้เหตุผลว่า สาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวดีขึ้นใน 6 เดือนหลัง ของปีนี้และปีหน้าด้วยนั้น เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 และการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐในปีนี้และจากที่ล่าช้าลงไปมากในช่วงครึ่งปีแรก

นอกจากนี้ยังมองว่าการบริโภคภาคเอกชน ภาคการท่องเที่ยวจะเป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย ขณะเดียวกันการส่งออกสินค้าก็จะฟื้นตัวขึ้นท่ามกลางการค้าโลกที่ปรับตัวดีขึ้น

ในส่วนของเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะชะลอตัวลงสู่ระดับต่ำสุดในภูมิภาคที่ร้อยละ 0.7 ภายในปีนี้ (2567) อันเนื่องจากราคาอาหารและพลังงานที่เฉลี่ยแล้วลดลง

ด้านหนี้สาธารณะคาดว่าจะเพิ่มขึ้นสู่ร้อยละ 64.6 ในปี 2568 และการขาดดุลการคลังจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.6 ของจีดีพี หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมเนื่องจากการเบิกจ่ายงบประมาณกลับมาเป็นปกติ ประกอบกับการดำเนินมาตรการกระตุ้นทางการคลังเพื่อส่งเสริมการบริโภค ซึ่งสอดคล้องกับแผนการคลังระยะปานกลางของรัฐบาล

คุณ ซาร์โคเน กล่าวตอนหนึ่งว่า ประเทศไทยยังต้องเผชิญ กับความท้าทายที่เพิ่มขึ้นในการรักษาความ ยั่งยืนทางการคลัง ในขณะ ดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น

(ดังนั้น) “เพื่อเพิ่มเสถียรภาพทางการคลังท่ามกลางความต้องการด้านใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ประเทศไทยสามารถเริ่มต้นด้วยการ มุ่งเน้น ไปที่การช่วยเหลือทางสังคม และการให้ความช่วยเหลือแบบเจาะกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น เพื่อช่วยเหลือครัวเรือนที่เปราะบางและบรรเทาปัญหาความยากจนได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

ผมก็สรุปมาสู่กันอ่านเพื่อให้พอเห็นภาพว่า “คนนอก” เขามองเราอย่างไรบ้าง เพราะที่ผ่านมาเราก็อ่านแต่มุมมองของเราเอง

สำหรับโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท รายงานของธนาคารโลกไม่ได้เอ่ยอย่างเจาะจง แต่อาจไปรวมๆไว้ในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ซึ่งธนาคารโลกมองว่าควรกระตุ้นแบบเจาะกลุ่มเป้าหมาย เพื่อช่วยครัวเรือนที่เปราะบาง หรือคนยากจนมากกว่า

ซึ่งก็เป็นตามแนวคิดของนักเศรษฐศาสตร์ทั่วๆไปนั่นเอง แม้แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยของเราก็แนะไว้ในแนวทางนี้

ก็ถือว่าเป็นการมองในแง่ดีและให้กำลังใจประเทศไทยว่า อย่างไรเสีย จีดีพี ยังคงเติบโตขึ้น เพียงแต่อาจไม่มากและไม่ทันใจคนไทยโดยเฉพาะรัฐบาลไทยที่อยากจะกระตุ้นให้มากกว่านี้

เนื่องจากปัญหาหลักที่สะสมกันมา ทำให้ปัญหาของเราแรงกว่าตัวเลขกว้างๆที่พูดถึงกันข้างต้น...ภาวะการตกงานจากการทยอยปิด
โรงงานที่เกิดขึ้น...หนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 91.4 เปอร์เซ็นต์ ของ GDP อาจทำให้ครัวเรือนที่อยู่ในภาวะหนี้สินท่วมตัวต้องเจอวิกฤติก่อน

แต่จะทำอะไรได้...ก็ต้องค่อยๆแก้ปัญหากันไป ใช้สมองกันให้มากขึ้น และรับฟังความคิด คำเตือนด้วยความหวังดีต่างๆให้มากขึ้น

เท่าที่ผมจำความได้ ประเทศไทยของเราได้เผชิญวิกฤติเศรษฐกิจมาหลายครั้งหลายหน...แต่ในที่สุดเราก็เอาตัวรอดได้เสมอมา อาจจะเจ็บตัวบ้าง แต่โดยรวมเราก็ฟื้นและยังอยู่ได้

หวังว่าวิกฤติครั้งนี้แม้จะหนักที่สุดที่ผมเคยเห็นแต่ก็น่าจะค่อยๆฟื้นกลับมาได้...หากเราช่วยกันคิดช่วยกันหาทางแก้ปัญหา และเปิดใจ รับฟังซึ่งกันและกันโดยไม่ดื้อดึง หรือมีวาระซ่อนเร้น

สรุป...ขอบคุณเวิลด์แบงก์ที่ช่วยพยากรณ์ว่า เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวขึ้นแน่นอน แม้จะฟื้นน้อยไปหน่อยก็ยังดีกว่าไม่ฟื้นเลย...ยังพอเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ว่างั้นเถอะครับ.

“ซูม”

คลิกอ่านคอลัมน์ “เหะหะพาที” เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ