น่าจะเป็น “เสียงสะท้อน” หาทางออก มากกว่า เสียงโอดครวญ สำหรับข้อเท็จจริงของเศรษฐกิจไทย ในมุมมองของภาคเอกชน อย่าง คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ล่าสุด
โดยในการแถลงข่าวประจำเดือน ก.ค. 2567 หลังการหารือของเอกชนหลายอุตสาหกรรมไทย “ผยง ศรีวณิช” ฐานะประธานการประชุม กกร. เผยว่า วันนี้ เอกชน มีการถกกันหลายประเด็นสำคัญ และส่งต่อข้อห่วงใย ต่อทิศทางเศรษฐกิจไทย
สืบเนื่องจาก การค้าโลก อยู่ในโหมด “ชะลอตัว” อย่างชัดเจน เป็นผลจากความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่รุนแรงมากขึ้น ประกอบกับการที่ผู้ประกอบการบางส่วนเร่งสั่งซื้อสินค้ากักตุน เพื่อหนีผลกระทบ จากมาตรการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ต่อจีน
ส่งผลให้ค่าระวางเรือล่าสุดปรับตัวขึ้น 95% เมื่อเทียบจากเดือน เม.ย. 67 และการขนส่งใช้ระยะเวลาในการขนส่งนานขึ้น ตามภาวะขนส่งคับคั่งและขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ โดยคาดว่าภาวะแบบนี้ จะรุนแรงขึ้น ช่วง ก.ย. ต่อเนื่อง พ.ย. กระทบทั้งอุตสาหกรรมการส่งออก ทั้งทางตรงและทางอ้อม
“การส่งออก เผชิญความเสี่ยงรอบทิศ แม้มีปัจจัยบวกระยะสั้น จากการที่หลายชาติเร่งสั่งสินค้าจากไทย จนอาจทำให้การส่งออกทั้งปี ขยับอยู่ในช่วง 0.8-1.5% ได้ แต่การที่สหรัฐฯ กีดกันสินค้าจากจีน กระทบต่อไทยโดยตรง เนื่องจากเราอยู่ในห่วงโซ่การผลิตของจีน มากถึง 19.5% จีนส่งออกไม่ได้ คำสั่งซื้อไทยก็หดตัว”
นอกจากนี้ กกร.ยังมีความกังวล จากภาพการชะลอตัวของอุตสาหกรรมหลัก ที่มีผลต่อ GDP ของประเทศอย่างมาก ในกลุ่มยานยนต์ และอสังหาริมทรัพย์ หลังจากยอดขายรถยนต์ในช่วง 5 เดือนแรกหดตัว 24% เพราะปัญหาผู้บริโภคมีรายได้น้อยลง
ขณะยอดโอนอสังหาฯ 4 เดือนแรกหดตัว บ้านจัดสรร-11.8% และอาคารชุด-7.4% จึงคาดจะฉุดให้เศรษฐกิจร่วง กว่าที่คาดไว้ 0.3-0.4% ประเมิน GDP ไทยปีนี้ ขยายตัวราว 2.2-2.7%
ด้าน ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่ร่วมในการแถลงข่าวด้วย ระบุ เพิ่มเติมว่า ด้วยภาวะความเปราะบางทางเศรษฐกิจไทยเช่นนี้ ทั้งการที่ผู้ส่งออกไทย กำลังเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้น, ความขัดแย้งยืดเยื้อ, ราคาพลังงาน อยู่นอกเหนือการควบคุม รัฐบาลต้องเร่งทบทวน นโยบายปรับขึ้นค่าแรง 400 บาท
โดยเอกชน ยังยืนยันคัดค้านการขึ้นค่าแรง 400 เท่ากันทั่วประเทศ ซึ่งนอกจากจะเป็นการปรับขึ้นค่ารอบ ครั้งที่ 3 ในรอบปีแล้ว ยังไม่เหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในช่วงนี้อีกด้วย
ซึ่งหลังจาก กกร.จังหวัด ทั่วประเทศ ได้มีการประชุมหารือกันแล้ว แทบทุกจังหวัด ทั้งฝั่งผู้จ้างงาน และฝั่งตัวแทนผู้ใช้แรงงาน เห็นร่วมกันว่า จำเป็นต้องให้ความสำคัญในการใช้กลไกของคณะอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำรายจังหวัด (ไตรภาคี) ในการพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำ โดยพิจารณาให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในพื้นที่
เพื่อป้องกันผลกระทบกลุ่ม SME ที่ไม่สามารถแบกรับต้นทุนใหม่ได้อีกแล้ว ขณะเดียวกัน เรื่องค่าแรง ยังมีผลต่อแผนการลงทุนของต่างชาติด้วย ซึ่งการที่รัฐบาลประกาศจะขึ้นค่าแรงนั้น ยังย้อนแย้งกับหลักการ ที่ต้องการดึงดูดต่างชาติ เข้ามาลงทุนในประเทศไทยอีกด้วย
“ทุกจังหวัด เห็นร่วม ให้ใช้หลักการตามไตรภาคี ขึ้นค่าแรงตามสภาพเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่เป็นหลัก ไม่ใช่ 400 ทั่วประเทศ อยากให้รัฐรับไปพิจารณาถึงผลกระทบ”
ด้าน “ทวี ปิยะพัฒนา” รองประธานอาวุโส สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวภายใต้ ข้อเสนอของ กกร. หลายประเด็นที่อยากส่งต่อ ถึงรัฐบาล ทั้งเรื่องการเบรกขึ้นค่าแรง, นโยบายเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย ที่ต้องปรับตัว ให้เป็นไปตามเทรนด์โลก เพราะยังมีโอกาส และมีหวัง ไม่ได้มืดมนซะทีเดียว ซึ่งต้องอาศัยทั้งมาตรการระยะสั้น และระยะยาวของรัฐบาล ก่อนให้เอกชนช่วยขับเคลื่อน
ว่า ต้องยอมรับ ขณะนี้ เศรษฐกิจประเทศ อยู่ในภาวะ “แย่” ไม่ใช่แค่ระดับจังหวัดภูมิภาค แต่ กทม.ยังเงียบ ถ้ารัฐบาลไม่มีมาตรการเพิ่มเติม สนับสนุนในส่วนที่เป็นพระเอกของเศรษฐกิจ เราอาจอยู่ในภาวะลำบากมากขึ้น
จากแรงสั่งสะเทือน ที่สหรัฐฯ มีแนวโน้มจะแอนตี้ จีน เพิ่มมากขึ้น กลายเป็นสัญญาณอันตราย ของภาคการส่งออกในระยะข้างหน้า และยังเน้นย้ำ การขอให้รัฐบาลชะลอการขึ้นค่าแรงรอบที่ 3 เพราะเชื่อว่า จะทำให้ธุรกิจขนาดเล็ก หรือขนาดจิ๋ว ล้มหายไปจากตลาดมากขึ้นอีก
ทั้งนี้ ปัจจุบัน กกร.อยู่ระหว่าง ทบทวนข้อเสนอสมุดปกขาว ที่เคยส่งต่อให้รัฐบาลไปเมื่อปีที่ผ่านมา เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะความเป็นไปของสถานการณ์ปัจจุบันให้ได้มากที่สุด ภายใต้คำว่า ไทยต้องรอด อย่างไรก็ดี ขอชื่นชมรัฐบาล หลังมีการเร่งผลักดันกระบวนการ เข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS ของไทย อย่างจริงจัง ซึ่งจะทำให้เรามีโอกาสในตลาดการค้าโลกมากขึ้น.
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney