นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ (ครม.สัญจร) จ.นครราชสีมา รับทราบแนวทางการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย โดยให้หยุดการดำเนินการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรด้านคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อขายสำหรับร้านค้าปลอดอากรขาเข้าของผู้ประกอบการ ซึ่งได้สอบถามทางผู้ประกอบการแล้ว มีความยินดีในการหยุดดำเนินการ ซึ่ง ครม.มอบหมายให้กระทรวงการคลังดำเนินการตามความเหมาะสม ยังไม่ได้กำหนดระยะเวลาว่าจะเริ่มเมื่อใด
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีนิติบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทร้านดิวตี้ฟรี ขาเข้า 3 ราย ในท่าอากาศยานนานาชาติ 8 แห่ง ได้แก่ 1.ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 2.ท่าอากาศยานดอนเมือง 3.ท่าอากาศยานเชียงใหม่ 4.ท่าอากาศยานภูเก็ต 5.ท่าอากาศยานหาดใหญ่ 6.ท่าอากาศยานอู่ตะเภา 7.ท่าอากาศยานสมุย 8.ท่าอากาศยานกระบี่ โดยจากสถิติของกรมศุลกากรในปี 2566 มียอดจำหน่ายสินค้ารวมทั้งสิ้น 3,021.75 ล้านบาท
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้ศึกษาผลประโยชน์และผลกระทบของการหยุดการดำเนินการ
1.นักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มการจับจ่ายใช้สอยในประเทศมากขึ้น โดยหากหยุด 1 ปี จะส่งผลให้ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวต่อคนต่อทริปเพิ่มขึ้น 570 บาท
2.ผู้เดินทางชาวไทยอาจจะเลือกซื้อสินค้าปลอดอากรจากประเทศต้นทาง หรือใช้จ่ายซื้อสินค้าในประเทศเพิ่มมากขึ้น
3.ผู้ประกอบการดิวตี้ ฟรี สูญเสียรายได้อากรขาเข้า แต่จะมีเม็ดเงินหมุนเวียนใหม่เพิ่มเติมในระบบสูงสุด 3,460 ล้านบาทต่อปี และคาดว่าจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ขยายตัวได้เพิ่มขึ้น 0.012% ต่อปี.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่