กำลังซื้อหายร้านอาหารวูบร้อง “นายกรัฐมนตรี” ช่วยด้วย

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

กำลังซื้อหายร้านอาหารวูบร้อง “นายกรัฐมนตรี” ช่วยด้วย

Date Time: 1 ก.ค. 2567 06:01 น.

Latest

ที่ยืนของ “ธุรกิจไทย” แคบลงทุกที ไทยขาดดุล “จีน” สูงขึ้นเรื่อยๆ นำเข้าสินค้า ผ่าน Shopee - Lazada

นายสรเทพ โรจน์พจนารัช ประธานชมรมผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร เปิดเผยว่า ชมรมทำหนังสือเปิดผนึกถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้พิจารณาเร่งด่วนเรื่องมาตรการช่วยเหลือกระตุ้นเศรษฐกิจ ก่อนที่ธุรกิจร้านอาหารจะปิดตัวลงมากกว่านี้เนื่องจากสถานการณ์สภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ซบเซาอย่างหนัก ซึ่งมาจากกำลังซื้อของประชาชนคนไทยที่ไม่มีเหลือ รวมถึงต้นทุนวัตถุดิบทั้งผักสดและอื่นๆ ขึ้นราคาสูง รวมทั้งค่าไฟฟ้าที่เป็นปัญหาหลัก ที่สำคัญนักท่องเที่ยวที่มาน้อยลงอย่างมาก

ทั้งนี้ ปี 2562 รายได้มวลรวมธุรกิจร้านอาหารปีก่อนโควิด-19 อยู่ที่ประมาณ 420,000 ล้านบาทคิดเป็น 7% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นประมาณ 50% ต้นทุนวัตถุดิบขึ้นมา 20-30% จากพืชผักและเครื่องปรุงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผงชูรสยังขึ้น นม ไข่ ต่างปรับตัวขึ้นจำนวนมาก โดยในปี 2567 คาดว่าจะโตขึ้น 4-5% ซึ่งในไตรมาสแรกโตขึ้นตามเป้าหมายที่วางไว้ แต่หลังจากเดือน เม.ย.ตัวเลขไม่มีการเติบโต มีร้านอาหารปิดตัวลงอย่างต่อเนื่อง อาทิ ร้านใหญ่ เช่น สุกี้เจ้าดังไตรมาสแรกกำไรหายไปรายได้ลดฮวบกว่า 143 ล้านบาท ผู้ค้าขายรายย่อยๆ ร้านข้างทางก็กำลังหมดลมหายใจ เพราะสายป่านน้อยมาก

สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวปี 2567 ตั้งแต่ม.ค-มิ.ย.อยู่ที่ 17 ล้านคน ซึ่งปี 2562 ก่อนโควิดเรามีประมาณ 40 ล้านคน ดังนั้น เป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้ที่ 35 ล้านคน จึงไม่น่าจะถึงเพราะเหลือเวลาอีกเพียง 5 เดือน ดังนั้น ทางชมรมผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารอยากให้ภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อช่วยเหลือเป็นการด่วน
จึงเสนอให้นายกรัฐมนตรี เร่งพิจารณาเป็นการด่วนในมาตรการซึ่งจะพอช่วยพยุงให้ภาคเศรษฐกิจร้านอาหารยังต่อลมหายใจไปได้ ได้แก่ 1.แก้ไขกฎหมายที่ล้าหลังในการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารในช่วงเวลา 14.00-17.00 น. ซึ่งใช้มาตั้งแต่ปี 2515 ซึ่งในช่วงนั้นเป็นมาตรการที่ออกมาเพื่อป้องกันข้าราชการไปนั่งดื่มในเวลางาน ซึ่งขัดแย้งกับยุคสมัยในปัจจุบันที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมามาก

2.ลดภาษีโรงเรือนให้ธุรกิจร้านอาหาร 3. เร่งออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายโดยแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ มาตรการกระตุ้นให้กับร้านอาหารอย่างกลุ่มเอสเอ็มอี เช่น บุคคลธรรมดาสามารถเก็บใบกำกับภาษี เพื่อนำไปลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 20,000 บาท และในส่วนของบริษัท ห้างร้าน นิติบุคคลสามารถนำไปลดหย่อนภาษีค่าใช้จ่ายได้ไม่เกิน 100,000 บาท เป็นต้น และออกมาตรการเงินสดลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชนทั่วไปคนละ 2,000 บาท 3 เดือน โดยให้เป็นเงินเติมในแอปเป๋าตัง เพื่อให้ประชาชนไปใช้จ่ายซื้ออาหารได้อย่างเดียว.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ