เหตุต้นทุนพุ่งสู้คู่แข่งไม่ได้ "พิมพ์ภัทรา" ชี้โรงงานปิดตัว 5 เดือนแรก

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

เหตุต้นทุนพุ่งสู้คู่แข่งไม่ได้ "พิมพ์ภัทรา" ชี้โรงงานปิดตัว 5 เดือนแรก

Date Time: 27 มิ.ย. 2567 07:30 น.

Summary

  • “พิมพ์ภัทรา” เปิดข้อมูลกรมโรงงานอุตสาหกรรม 5 เดือนแรกของปีนี้ พบว่า มีโรงงานปิดกิจการ 488 โรงงาน เหตุคำสั่งซื้อลดลง ต้นทุนผลิตสูงขึ้นไม่สามารถ แข่งขันได้ มีบางรายหันไปลงทุนกิจการใหม่ ขณะที่โรงงานเปิดกิจการใหม่มี 848 โรงงาน

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

“พิมพ์ภัทรา” เปิดข้อมูลกรมโรงงานอุตสาหกรรม 5 เดือนแรกของปีนี้ พบว่า มีโรงงานปิดกิจการ 488 โรงงาน เหตุคำสั่งซื้อลดลง ต้นทุนผลิตสูงขึ้นไม่สามารถ แข่งขันได้ มีบางรายหันไปลงทุนกิจการใหม่ ขณะที่โรงงานเปิดกิจการใหม่มี 848 โรงงาน เป็นอัตราโรงงานเปิดใหม่สูงกว่าปิดกิจการ 74% รวมทั้งมูลค่าเงินลงทุนและการจ้างงานมากกว่าหลายเท่าตัว

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยถึงกรณีกระแสข่าวการปิดกิจการโรงงานอุตสาหกรรมในปัจจุบันว่า จากข้อมูลของกรมโรงงาน อุตสาหกรรม(กรอ.) ณ วันที่ 12 มิ.ย. ประกอบกับการวิเคราะห์ข้อมูลโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) พบว่าภาพรวม 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.) มีโรงงานปิดกิจการ 488 โรงงาน ขณะเดียวกัน มีโรงงานเปิดกิจการใหม่ 848 โรงงาน โดยจำนวนโรงงานเปิดใหม่สูงกว่าปิดกิจการถึง 74% และเมื่อพิจารณามูลค่าเงินลงทุนจากการเลิกประกอบกิจการ พบว่ามีจำนวน 14,042 ล้านบาท

ในขณะที่การเปิดโรงงานใหม่มีเงินลงทุนถึง 149,889 ล้านบาท ทำให้มีเงินลงทุนมากกว่าปิดกิจการกว่า 10 เท่า และในเรื่องการจ้างงานใน ภาคอุตสาหกรรม การปิดกิจการมีการเลิกจ้างงาน 12,551 คน ในขณะที่การเปิดโรงงานใหม่มีการจ้างงานถึง 33,787 คน ซึ่งมีความต้องการแรงงาน 21,236 คน และเมื่อรวมกับโรงงานเดิมที่มีการขยายกิจการจะมีอีก 126 โรงงาน เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้น 11,748 ล้านบาท เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น 4,989 คน

“เมื่อวิเคราะห์สาเหตุการปิดกิจการโรงงาน พบว่ามาจากสาเหตุมีคำสั่งซื้อที่ลดลง เนื่องจากสินค้าที่ผลิตส่วนใหญ่เป็นสินค้าทั่วไปมีการแข่งขันด้านราคา และประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันลดลงในสินค้าบางประเภท เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ทำให้มีสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาทำตลาดในไทยมากขึ้น ขณะเดียวกัน การส่งออกก็ลดลงด้วย เพราะราคาสินค้าของไทยแพงกว่าประเทศอื่น แต่ก็ยังมีบางโรงงานที่ปิดกิจการเดิมและเปิดกิจการใหม่ เพื่อปรับเปลี่ยนการลงทุนไปสู่อุตสาหกรรมที่สามารถ แข่งขันได้”

สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีเงินลงทุนเลิกกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.กลุ่มผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ 2,297 ล้านบาท เช่น การผลิต PCB 2.กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ 1,456 ล้านบาท อาทิ โครงสร้างเหล็ก และ 3.กลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติก 930 ล้านบาท เช่น ชิ้นส่วนพลาสติก

ทั้งนี้ ในกลุ่มโรงงานเปิดใหม่ที่มีเงินลงทุนสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร 29,644 ล้านบาท เช่น อาหารสัตว์สำเร็จรูป 2.กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี 18,474 ล้านบาท เช่น ปุ๋ยเคมี และ 3.กลุ่มผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ 12,378 ล้านบาท เช่น การผลิต PCB และเมื่อพิจารณากลุ่มผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ ซึ่งเป็นกลุ่มกิจการที่อยู่ใน 3 อันดับแรกของมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด ทั้งการเลิกกิจการและตั้งโรงงานใหม่ พบว่ามีเงินลงทุนในการเลิกกิจการ 2,297 ล้านบาท แต่มีการเปิดกิจการใหม่ด้วยเงินลงทุน 12,378 ล้านบาท มากกว่าเลิกกิจการถึง 5 เท่า แสดงให้เห็นว่ากลุ่มผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ ส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดใหญ่ ที่เข้ามาเปิดกิจการใหม่ในไทยมากขึ้น.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ