กองทุนน้ำมันติดลบ 1.1 แสนล้าน ฟันธง กบง.ตรึงราคาขายปลีกแอลพีจีต่อ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

กองทุนน้ำมันติดลบ 1.1 แสนล้าน ฟันธง กบง.ตรึงราคาขายปลีกแอลพีจีต่อ

Date Time: 24 มิ.ย. 2567 06:20 น.

Summary

  • ลุ้น กบง.สัปดาห์นี้ ตรึงราคาขายปลีกแอลพีจีต่อ ที่ราคา 423 บาทต่อถังขนาด 15 กก. โดยใช้เงินกองทุนน้ำมันมาอุดหนุน หลังจะสิ้นสุดมาตรการตรึงราคา 30 มิ.ย.นี้ แม้กองทุนน้ำมันจะติดลบแล้ว 1.1 แสนล้าน

Latest

เจ้าหนี้การบินไทยขอเลื่อนโหวตแผนฟื้นฟู

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) สัปดาห์นี้ที่ประชุม กบง.จะมีการพิจารณาราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ที่จะสิ้นสุดมาตรการตรึงราคาจำหน่ายที่ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม (กก.) ในวันที่ 30 มิ.ย.นี้ โดยคาดว่า กบง.จะมีมติต่ออายุมาตรการออกไปอีก ด้วยการใช้เงินกองทุนน้ำมันในส่วนของบัญชีแอลพีจีเข้ามาอุดหนุน เพื่อพยุงราคาไว้ เพราะหากเลิกอุดหนุนราคาจะส่งผลให้ต้องปรับราคาขึ้นตามกลไกตลาดโลก

สำหรับเงินกองทุนน้ำมันที่จะใช้อุดหนุนราคา ล่าสุด คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ได้อนุมัติขยายกรอบวงเงินชดเชยราคาแอลพีจีเพิ่มขึ้นอีก 2,000 ล้านบาท (จากเดิมกำหนดกรอบวงเงินไว้ 48,000 ล้านบาท) ส่งผลให้กรอบวงเงินสำหรับชดเชยราคาปัจจุบันรวมเป็น 50,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้กองทุนน้ำมันได้อุดหนุนราคาไปแล้ว 47,615 ล้านบาท และเหลือเงินอุดหนุนราคาได้อีกเพียง 2,385 ล้านบาทเท่านั้น

ขณะเดียวกัน ปัจจุบันกองทุนน้ำมันในส่วนของบัญชีแอลพีจีใช้ชดเชยราคาขายปลีกอยู่ที่ 4.74 บาทต่อ กก. เพื่อให้ราคาขายปลีกอยู่ที่ 25.87 บาทต่อ กก. หรือ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กก. ทำให้กองทุนน้ำมันมีเงินไหลออกจากการชดเชยราคา แอลพีจี 50.76 ล้านบาทต่อวัน หรือ 1,522 ล้านบาท ต่อเดือน ขณะที่ราคาแอลพีจีในตลาดโลกยังทรงตัวระดับสูงที่เฉลี่ย 582.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน

ทั้งนี้ การตรึงราคาแอลพีจีที่ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กก.ดังกล่าว กบง.ได้เริ่มตรึงราคามาตั้งแต่เดือน มี.ค.66 รวมเป็นเวลากว่า 1 ปีแล้วและย้อนไปช่วงเดือน มี.ค.67 กบง.ได้มีมติให้ตรึงราคาที่ 423 บาทต่อถัง เป็นเวลา 3 เดือน ระหว่าง 1 เม.ย.-30 มิ.ย.นี้ โดยให้กองทุนน้ำมันชดเชยราคาเฉพาะเดือน เม.ย. ส่วนเดือน พ.ค.-มิ.ย.จะของบกลางจากรัฐบาลมาชดเชยราคาแทน แต่มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 พ.ค. ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบให้ตรึงราคาตามเดิมที่ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กก. โดยให้ใช้เงินกองทุนน้ำมันดูแลเอง ซึ่งหมายถึงรัฐบาลไม่ได้จัดสรรงบกลางมาช่วยตรึงราคาแต่อย่างใด จึงส่งผลให้เมื่อต้นเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา กบน.ต้องมีมติเพิ่มกรอบวงเงินเพื่อใช้ชดเชยราคาเป็น 50,000 ล้านบาทดังกล่าว

ล่าสุด ฐานะกองทุนน้ำมัน ณ วันที่ 16 มิ.ย.67 ติดลบรวม 110,711 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 63,096 ล้านบาท บัญชีแอลพีจีติดลบ 47,615 ล้านบาท

ทั้งนี้ กองทุนน้ำมันจะต้องเร่งดำเนินการให้มีเงินไหลเข้ากองทุนน้ำมันเพิ่มขึ้น เนื่องจากได้กู้เงินกับสถาบันการเงินรวม 105,333 ล้านบาท เมื่อปี 65-66 และจะเริ่มครบกำหนดต้องจ่ายคืนเงินต้นก้อนแรกที่ยืมมา 30,000 ล้านบาท ในเดือน พ.ย.นี้ โดยเริ่มจากกรณีที่ กบน.ได้พยายามปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลครั้งละ 50 สตางค์ต่อลิตร เพื่อลดภาระการชดเชยราคาลง โดยมีการขึ้นราคาน้ำมันดีเซลรวมไปแล้ว 6 ครั้ง รวมราคา 3 บาทต่อลิตร ขณะเดียวกันก็พยายามแก้ปัญหาลดการชดเชยราคาแอลพีจีให้ลดลง แต่เมื่อ ครม. ไม่อนุมัติเงินมาช่วย จึงทำให้กองทุนน้ำมันยังต้องดึงเงินในกองทุนน้ำมันมาพยุงราคาต่อไปก่อน แม้ตัวเลขการติดลบของกองทุนน้ำมันจะเพิ่มขึ้นก็ตาม.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ