วัดกันชอตต่อชอต ไทยยัง “น่าลงทุน” อยู่ไหม เมื่อเทียบกับคู่แข่งอาเซียน

Economics

Thailand Econ

Tag

วัดกันชอตต่อชอต ไทยยัง “น่าลงทุน” อยู่ไหม เมื่อเทียบกับคู่แข่งอาเซียน

Date Time: 22 มิ.ย. 2567 14:39 น.

Video

ล้วงไส้ TEMU อีคอมเมิร์ซจีน บุกไทย ทำไมอาจสร้างวิบากกรรมกว่าที่คิด ? | Digital Frontiers

Summary

  • อนาคตของ "เศรษฐกิจไทย" เริ่มกลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง หลัง GDP โตต่ำรั้งท้ายอาเซียน ประกอบความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเคยเป็นจุดแข็งในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เริ่มถดถอยลง Thairath Money ชวนส่องศักยภาพ "เศรษฐกิจไทย" ยังน่าลงทุนอยู่ไหม เมื่อเทียบกับคู่แข่งอาเซียน

Latest


ตั้งแต่วิกฤตการณ์โควิด อนาคตของเศรษฐกิจไทยเริ่มกลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง หลายฝ่ายแสดงความกังวลถึงอัตราการเติบโตของ GDP ที่ต่ำกว่าระดับศักยภาพที่ 3% รั้งท้ายอาเซียน จากปัญหาเชิงโครงสร้างที่เริ่มสะท้อนผ่านภาคเศรษฐกิจต่างๆ โดยเฉพาะปัญหา "หนี้ครัวเรือน" ที่พุ่งสูงขึ้นแตะระดับ 90% กดดันกำลังซื้อในประเทศ และเครื่องยนต์หลักทางเศรษฐกิจอย่าง "ภาคการส่งออก" ที่ฟื้นตัวช้า และมีศักยภาพในการแข่งขันน้อยลง เนื่องจากปรับตัวไม่ทันในการผลิตสินค้าให้ตรงความต้องการตลาดโลก รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติ หันไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน 


ปัจจุบันความพร้อมด้าน "โครงสร้างพื้นฐาน" ไม่ได้เป็นจุดแข็งที่ช่วยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศอีกต่อไป เพราะในช่วงที่ผ่านมาระหว่างที่ไทยติดหล่มอยู่กับความขัดแย้งทางการเมือง หลายประเทศในอาเซียน ได้ลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในด้านต่างๆ โดยเฉพาะคุณภาพแรงงาน และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน จนมีศักยภาพทัดเทียมประเทศไทยหรือไม่ก็นำหน้าไปแล้ว เช่น เวียดนาม และอินโดนีเซียที่กลายมาเป็นจุดหมายการลงทุนอันดับต้นๆ ของบริษัทระดับโลก


Thairath Money ชวนส่องศักยภาพ "เศรษฐกิจไทย" ยังน่าลงทุนอยู่ไหม เมื่อเทียบกับคู่แข่งอาเซียน

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ฉายภาพความท้าทายของอุตสาหกรรมไทย ในงาน Thailand Competitiveness Forum 2024 ไว้ว่า เมื่อพูดถึงขีดความสามารถการแข่งขัน ไทยต้องรู้ว่าอะไรเป็นข้อได้เปรียบ ของตัวเอง เวลาส่งออกสินค้าประเภทเดียวกันไปขายแข่งกับประเทศอื่นในตลาดโลก ถ้าเรามีข้อได้เปรียบมาก ก็จะทำให้เรามีขีดความสามารถทางการแข่งขันที่สูงขึ้น โอกาสที่เราจะขายของได้ก็มีมากขึ้น แต่เมื่อมาดูการเติบโตของ GDP ล่าสุด พบว่า ในไตรมาส 1/2567 ไทยมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำที่สุดในภูมิภาคที่ 1.5% ในขณะที่ประเทศส่วนใหญ่ มีอัตราการขยายตัวมากกว่า 3% โดยเวียดนาม และฟิลิปปินส์ GDP ขยายตัวมากสุดที่ 5.7% ตามมาด้วย อินโดนีเซีย 5.1% มาเลเซีย 4.2% และสิงคโปร์ที่ 2.7% ซึ่งประเทศไทยติดกับดักเศรษฐกิจโตต่ำกว่าศักยภาพ มาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว โดยเรามีอัตราการเติบโตเฉลี่ย อยู่ท่ี 1.92% ทั้งนี้การตกต่ำของ GDP มีสาเหตุมาจากขีดความสามารถการแข่งขันที่ถดถอยลงทุกด้าน

สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ สินค้าที่ไทยเคยครองตลาดส่งออก เริ่มเสื่อมความนิยม เช่น รถยนต์สันดาป ICE ที่ไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ อันดับ 1 ของเอเชีย คิดเป็นสัดส่วน 10% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด หากทั่วโลกเปลี่ยนไปใช้รถพลังงานไฟฟ้า BEV ไทยจะได้รับผลกระทบอย่างมาก รวมถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะที่เน้นพึ่งพาการส่งอออก ผลิตภัณฑ์หลักไม่กี่ชนิด เช่น HDD, PCB, IC และ Semiconductor ซึ่งมีอัตราเติบโตคงที่และมีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยลักษณะอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ยังเป็นเพียงผู้รับจ้างประกอบ ขาดการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงเป็นของตนเอง 

ไทย FDI รั้งท้ายอาเซียน จุด “เปราะบาง” ภาคการผลิต 

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เป็นการลงทุนทางตรงของธุรกิจที่มีฐานในต่างประเทศ เข้ามาซื้อที่ดิน สร้างโรงงาน ทำธุรกิจในไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดขีดความสามารถทางการแข่งขันที่สำคัญมากอันหนึ่ง ข้อมูลล่าสุดในปี 2566 พบว่า ปริมาณการลงทุนจาก FDI ในอาเซียนเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยแต่ละประเทศสามารถดึงดูดเงินลงทุนได้ดังนี้

อันดับ 1 สิงคโปร์  มีมูลค่า FDI 151,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

อันดับ 2 อินโดนีเซีย มีมูลค่า FDI 21,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

อันดับ 3 เวียดนาม มีมูลค่า FDI 18,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

อันดับ 4 มาเลเซีย มีมูลค่า FDI 8,255 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

อันดับ 5 ฟิลิปปินส์ มีมูลค่า FDI 6,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

อันดับ 6 ไทย มีมูลค่า FDI 2,969 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

อันดับ 7 เมียนมา มีมูลค่า FDI 651.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ไม่พบข้อมูล FDI ในประเทศ บรูไน กัมพูชา และลาว ในอดีตไทยเคยมีการไหลเข้าของ FDI สูงสุดเป็นอันดับ 3 ในอาเซียน แต่แนวโน้มเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศที่ลดลง จนเกือบรั้งท้ายอาเซียนในปีล่าสุด สอดคล้องกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ที่ติดลบ 18 เดือนติดต่อกัน สะท้อนถึงความเปราะบาง ในภาคการผลิตไทยจากอุปสงค์โลกที่ฟื้นตัวช้า และสินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่เริ่มส่งผลกระทบชัดเจนขึ้น หากไม่มีการลงทุนใหม่ๆ เข้ามา การจ้างงานในประเทศก็จะลดลง ส่งผลต่อเนื่องไปถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ศักยภาพดึงดูดการลงทุนที่ถดถอยลง เป็นโจทย์สำคัญที่รัฐบาลต้องเร่งหาทางออก และตอบให้ได้ว่าทำไมบริษัทระดับโลกที่เคยสนใจลงทุนในไทย ในตอนสุดท้าย ถึงเลือกทุ่มเม็ดเงินมหาศาลในประเทศเพื่อนบ้าน

ไทยยัง “น่าลงทุน” อยู่ไหม เมื่อเทียบกับคู่แข่งอาเซียน

6 จุดอ่อนอุตสาหกรรมไทย

จากภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่อธิบายไปข้างต้น จะเห็นว่าขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศที่ถดถอยลง ส่งผลกระทบอย่างมากต่อภาคการผลิต ส.อ.ท. ได้จำแนก 6 ปัจจัยที่กระทบต่อความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยไว้ดังนี้

1. ปัญหาเชิงโครงสร้าง

2. ต้นทุนการผลิตสูง

3. ขาดเทคโนโลยีและนวัตกรรมของตัวเอง

4. ผลิตภาพแรงงานต่ำและขาดแคลนแรงงาน

5. กฎหมายล้าสมัย การคอร์รัปชันเป็นอุปสรรคต่อการลงทุน 

6. การแข่งขันที่รุนแรงในตลาดและปัญหาการทุ่มตลาด 

เสริมแกร่งอุตสาหกรรมเก่า พัฒนาอุตสาหกรรมใหม่

แม้อุตสาหกรรมไทยจะเผชิญความท้าทายรอบด้าน แต่ก็ยังไม่หมดหวังเสียทีเดียว เศรษฐกิจไทยยังไปต่อได้ หากทุกภาคส่วนร่วมกันยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันอุตสาหกรรมไทยตั้งแต่วันนี้ โดย ส.อ.ท.ได้นำเสนอแนวทางการยกระดับขีดความสามารถใการแข่งขัน ทั้งการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเดิม (FIRST INDUSTRIES) และการเร่งสร้างเครื่องยนต์ใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (NEXT-GEN INDUSTRIES) ไว้ดังนี้

1. ปรับโมเดลทางธุรกิจเพื่อสร้างโอกาสในการเข้าไปมีส่วนใน Supply Chain ของอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย (S-Curve) หรือ Next-Gen Industries 

2. ปรับปรุงกระบวนการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งการนำเทคโนโลยีดิจิทัล & AI มาช่วยในการดำเนินธุรกิจและบริหารจัดการองค์กร

3. พัฒนาสินค้าและยกระดับมาตรฐานสินค้าให้เป็นที่ยอมรับของตลาด และมุ่งเจาะตลาดต่างประเทศที่มีศักยภาพ 

4. ยกระดับฝีมือแรงงานด้วยการ Upskill & Reskill และสร้าง New Skill

5. เตรียมความพร้อมในการพัฒนาองค์กรให้สอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน (ESG) และต่อยอดธุรกิจด้วยแนวคิด BCG Model (เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว)

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ


ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

โมจัง ลีลา (โมจัง)

โมจัง ลีลา (โมจัง)
Junoir Content Creator at Thairath Money