ต่างชาติไล่ทุบอุตสาหกรรมไทย ส.อ.ท.วอนรัฐเพิ่มมาตรการตอบโต้ทุ่มตลาด-ช่วยลดต้นทุนผลิต

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ต่างชาติไล่ทุบอุตสาหกรรมไทย ส.อ.ท.วอนรัฐเพิ่มมาตรการตอบโต้ทุ่มตลาด-ช่วยลดต้นทุนผลิต

Date Time: 21 มิ.ย. 2567 06:40 น.

Summary

  • ส.อ.ท.แนะรัฐยกระดับป้องกันอุตสาหกรรมไทยก่อนล่มสลาย อัดฉีดมาตรการป้องกันสินค้าจากต่างประเทศทุ่มตลาด หนุนใช้สินค้าผลิตในประเทศ เร่งช่วยลดต้นทุนการผลิต

Latest

ที่ยืนของ “ธุรกิจไทย” แคบลงทุกที ไทยขาดดุล “จีน” สูงขึ้นเรื่อยๆ นำเข้าสินค้า ผ่าน Shopee - Lazada

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท. เห็นว่าปัจจัยที่มีสำคัญต่ออุตสาหกรรมของไทยที่ต้องแก้ไขด่วน คือ 1.การลดผลกระทบจากสงครามการค้า (Trade War) และสินค้าต่างชาติที่มาแย่งส่วนแบ่งตลาดสินค้าไทย ด้วยการใช้มาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันสินค้าทุ่มตลาดจากต่างประเทศ รวมถึงส่งเสริมการใช้สินค้าผลิตในประเทศ (Made in Thailand หรือ MIT) 2.การสนับสนุนเพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตของอุตสาหกรรมไทย ได้แก่ ค่าพลังงาน ค่าขนส่ง ต้นทุนทางการเงิน เป็นต้น

ส่วนปัจจัยที่ต้องแก้ไขพัฒนาในระยะกลาง-ยาว ได้แก่ 1.การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในอุตสาหกรรมไทยอย่างจริงจัง 2.การเพิ่มผลิตภาพแรงงานไทย 3.การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมไทย และ 4.การแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบราชการต่างๆ เพื่อเอื้ออำนวยต่อการทำธุรกิจ โดยมุ่งความสำคัญไปที่อุตสาหกรรมขนาดเล็กและกลางซึ่งขณะนี้ได้รับความเดือดร้อนหนักมากเป็นลำดับต้น

ด้านนายนาวา จันทนสุรคน รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวถึงสถานการณ์การปิดกิจการของโรงงานอุตสาหกรรม จากข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค. 2567) ว่าได้มีโรงงานปิดกิจการไปแล้ว 567 แห่ง เฉลี่ย 113 โรงงานต่อเดือน และมีแรงงานตกงาน 15,300 คนแล้ว โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการปิดตัวมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก กลุ่มอุตสาหกรรมโลหะ และกลุ่มอุตสาหกรรมไม้ และการแปรรูปไม้

นายนาวากล่าวว่า ซึ่งเมื่อเทียบกับเมื่อปี 2566 ที่ยอดปิดกิจการของโรงงานที่ 1,337 แห่ง เฉลี่ย 111 แห่งต่อเดือนนั้น ถือว่าสถานการณ์ปี 2567 ยังน่าเป็นห่วง โดยแนวโน้มโรงงานที่จะต้องปิดตัวมีมากขึ้น ทำให้ศักยภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรมไทยถดถอยลง

รองประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า สาเหตุสำคัญ คือ ราคาสินค้าที่ตกต่ำ จากภาวะสงครามทางการค้า โดยเฉพาะการส่งออกของสินค้าจีนราคาถูกที่แย่งตลาดของสินค้าไทยในประเทศ

ทั้งนี้ สินค้าจีนไม่ได้มีการผลิตเพิ่มขึ้น แต่ตลาดส่งออกของจีนลดลงจากมาตรการกีดกัน และควบคุมการนำเข้าสินค้าของสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป (อียู) ทำให้จีนหันมาส่งออกให้กับกลุ่มประเทศในอาเซียนมากขึ้น เพราะฉะนั้น อยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยดูแล 1.การเพิ่มมาตรการทางภาษี หรือเครื่องมือที่จะลดนำเข้าของสินค้าราคาถูกให้เข้มข้นขึ้น 2.การช่วยเรื่องต้นทุนการผลิต ไม่ว่าจะราคาวัตถุดิบ ค่าครองชีพ ราคาพลังงาน ต้นทุนด้านโลจิสติกส์ เป็นต้น และ 3.การปรับตัวของโครงสร้างโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการในประเทศ

ขณะที่นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวถึงทิศทางเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ว่า มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นตามการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ และการส่งออกที่ขยายตัวเป็นบวกมากขึ้นจากปัจจัยฐานต่ำในปี 2566 อย่างไรก็ตาม ประเด็นความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นข้างต้น การระบายสินค้าจากกำลังการผลิตส่วนเกินจากจีนมายังตลาดโลกรวมถึงไทย ในขณะที่ปัญหาเชิงโครงสร้างและความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงมีผลให้ส่งออกไทยฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาดการณ์ โดยสรุปภาพรวมทั้งปี 2567 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะอยู่ที่ 2.6%

ด้านแนวโน้มภาคอุตสาหกรรมไทยนั้น นางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ให้น้ำหนักกับ 3 ปัจจัยที่จะกระทบภาคอุตสาหกรรมในช่วงเวลาข้างหน้า ได้แก่ 1.ความไม่แน่นอนของการเบิกจ่ายภาครัฐที่จะกระทบอุตสาหกรรมก่อสร้าง 2.สินค้านำเข้าที่ไหลเข้าไทยเพิ่มขึ้น จากผลของสงครามการค้า ซึ่งจะกระทบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ และเหล็ก 3.ต้นทุนทางธุรกิจเพิ่มขึ้น ทั้งราคาน้ำมันดีเซลที่ภาครัฐทยอยลดการอุดหนุน และค่าแรงที่มีทิศทางสูงขึ้นจะกระทบต่อเอสเอ็มอี โดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้แรงงานเข้มข้น ทั้งนี้ เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ภาครัฐควรเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ กวดขันสินค้านำเข้าและสนับสนุนการใช้วัตถุดิบในประเทศ รวมถึงเติมสภาพคล่องให้กับเอสเอ็มอี.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ