ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยมุมมอง แนวโน้มเศรษฐกิจไทยและการเงินในช่วงครึ่งหลังปี 2567 ท่ามกลางสงครามการค้า Cleantech และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์
นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economst บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า แม้ที่ผ่านมา เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะให้ภาพแรงส่งของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่แข็งแรงกว่าคาด จนตลาดปรับการคาดการณ์ว่าเฟดจะยังไม่ลดอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้ หรือ Higher for Longer นั้น แต่ก็มีประเด็นที่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นมากในระยะหลัง ได้แก่นโยบายภาษีของสหรัฐฯ และยุโรปที่กีดกันอุตสาหกรรม Cleantech ของจีน ได้แก่ รถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ และแผงโซลาร์ ซึ่งมองว่าจะส่งผลให้เกิดการย้ายฐาน การผลิตในภูมิภาคยุโรป อาเซียน และอเมริกาใต้
ขณะที่ หากโดนัลด์ ทรัมป์ กลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกครั้ง กลยุทธ์ของจีนในการกระจายความเสี่ยงทางการค้า อย่างเช่น China+1 ที่ขยายฐานการผลิตออกจากจีนไปยังประเทศอื่นๆ เพื่อเลี่ยงกำแพงภาษีทางการค้า ก็มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบ ดังนั้นไทยต้องจับกระแสประเด็นการเปลี่ยนแปลงนี้ เพื่อภาคอุตสาหกรรมไทยปรับทิศทางได้ทัน
ด้านนางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองเพิ่มเติมถึงทิศทางเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ว่า มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นตามการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ และการส่งออกที่ขยายตัวเป็นบวกมาก ขึ้นจากปัจจัยฐานต่ำในปี 2566 อย่างไรก็ตาม ประเด็นความเสี่ยงจากมาตรการกีดกัน ทางการค้าที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นข้างต้น การระบายสินค้าจากกำลังการผลิตส่วนเกิน จากจีนมายังตลาดโลกรวมถึงไทยในขณะที่ปัญหาเชิงโครงสร้างและความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงมีผลให้ส่งออกไทยฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาดการณ์ โดยสรุปภาพรวมทั้งปี 2567 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะอยู่ที่ 2.6%
สรพล วีระเมธีกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย เปิดเผยมุมมองโอกาสและความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยซึ่งสะท้อนภาพผ่านสถานการณ์ตลาดหุ้นไทยอย่างชัดเจน โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติ ลดสัดส่วนการถือครองหุ้นไทยลง 10% หรือคิดเป็นมูลค่า 1 ล้านล้านบาท ทำให้ปัจจุบัน ต่างชาติถือครองหุ้นไทยที่สัดส่วน 27% จากระดับเดิม 37% อีกทั้งในช่วง 6 เดือนแรก นักลงทุนต่างชาติยังขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยเกือบ 1 แสนล้านบาท โดยสาเหตุที่ต่างชาติเทขายหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง มาจาก 4 ปัจจัย ดังนี้
1.ติดกับดักอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดย GDP โตต่ำกว่า 3% และทรงตัวอยู่ในช่วง
2%-2.5%
2.ติดกับดัก EPS หรือกำไรต่อหุ้น ที่ระดับ 90-95 บาทต่อหุ้น หุ้นไทยทำกำไรต่อไตรมาส ได้ไม่เกิน 2.5 แสนล้านบาท หรือปีละไม่เกิน 1.1 ล้านล้านบาท ซึ่งทำให้อัตราส่วน PE หุ้นไทยทรงตัวอยู่ที่ 13 เท่า ในขณะที่หุ้นในตลาดโลกอัตราส่วน PE สูงถึง 20 เท่า สะท้อนถึงราคาหุ้นไทยที่ไม่น่าดึงดูด
3.ผลิตภาพแรงงานที่ต่ำ เนื่องจากส่วนใหญ่พึ่งพาแรงงานเข้มข้นในภาคเกษตรและภาคบริการ ทำให้ผลิตภาพการผลิตของไทยไม่เติบโต สะท้อนจากผลผลิตในภาคเกษตรที่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ข้าวซึ่งเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ของไทย มีผลผลิตต่อไร่ทรงตัวที่ 450 กิโลกรัมต่อไร่ ในขณะที่ประเทศไต้หวัน เกาหลี ซึ่งภาคการผลิตคิดเป็นสัดส่วน 30% ของ GDP เช่นเดียวกับไทย มีผลิตภาพสูงกว่าจากการประยุกต์ ใช้เทคโนโลยี AI ที่สัดส่วน 15% ของภาคการผลิต ในขณะที่ไทยมีการใช้ AI อยู่ที่ 3% ซึ่งต่ำกว่าภูมิภาค
4.ความไม่แน่นอนทางการเมือง ที่อาจส่งผลกระทบต่อการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2568
สำหรับแนวโน้มตลาดหุ้นไทยในระยะข้างหน้า มองว่า SET มีโอกาสที่จะ Upside จากระดับ 1,280 จุด ไปสู่ระดับ 1,450 จุด เนื่องจาก SET Earning Yield gap ส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนหุ้นและพันธบัตร เริ่มปรับมาอยู่ที่ระดับ 4% ขึ้นมาเกือบเท่าตัว ซึ่งใกล้เคียงกับส่วนต่างในตลาดโลก ซึ่งทำให้ตลาดหุ้นไทยกลับมาน่าสนใจ โดยช่วงครึ่งปีหลัง 2567 มองว่า หุ้นกลุ่มที่มีรายได้จากในประเทศน้อย (revenue exposure) จะทำผลงานได้ดี โดยเฉพาะหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก เช่น หุ้นยาง หุ้นส่งออกอาหารสัตว์ หรือหุ้นโรงกลั่นน้ำมัน หุ้นธุรกิจเดินเรือซึ่งได้รับแรงหนุนเชิงบวกจากการฟื้นตัวของภาคผลิตอุตสาหกรรมทั้งจากสหรัฐฯ และจีน
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney