นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า แพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ อาทิ ช้อปปี้ ลาซาด้า ได้สนใจต้องการเข้าร่วมเป็นร้านค้าในโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต โดยแจ้งว่ามีกลไกรับประกันว่าสินค้าที่สั่งจะเป็นสินค้าที่ผลิตในประเทศไทยและกำหนดพื้นที่ตามเงื่อนไขของโครงการ พร้อมยืนยันว่าจะไม่มีการทุจริตเกิดขึ้น เรื่องนี้จะต้องพิจารณาละเอียดว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่ เพราะเงื่อนไขในปัจจุบันนี้ ดิจิทัล วอลเล็ต ไม่สามารถซื้อสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ได้ เนื่องจากมีการควบคุมพื้นที่ (โลเกชัน) และยังเป็นการใช้จ่ายรูปแบบเผชิญหน้ากัน (face to face) เท่านั้น
“นายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญกับสินค้าที่เป็นรายการสินค้าต้องห้ามใช้เงินดิจิทัลวอลเล็ต (Negative List) โดยเป็นห่วงเรื่องสินค้านำเข้า ซึ่งโทรศัพท์มือถือเป็นสินค้าที่นำเข้ามา ผลิตจากต่างประเทศ ยังมีมิติการผลิต และจ้างงานภายในประเทศ จึงมอบให้กระทรวงพาณิชย์ไปสรุปรายละเอียด เพื่อให้มีความชัดเจน และอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่จะใช้ รวมทั้งดูรายละเอียดว่าจะกำกับ ควบคุมการใช้จ่ายได้จริงหรือไม่”
สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศ ก็ไม่สามารถระบุได้ว่าสามารถซื้อได้เฉพาะยี่ห้อที่ผลิตในไทย แต่เรื่องสมาร์ทโฟนสามารถตอบได้อย่างชัดเจนว่าผลิตในต่างประเทศเท่านั้น ส่วนเรื่องกลไกการกำหนดเรื่องร้านค้า ได้มอบให้กระทรวงพาณิชย์เป็นผู้กำหนด ส่วนการส่งหนังสือให้คณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อตีความว่าธนาคารการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดำเนินการโครงการดิจิทัลวอลเล็ตได้หรือไม่ ขณะนี้ยังไม่ได้ดำเนินการ
นายภูมิธรรม เวชยชัย รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงกำลังเตรียมความพร้อมในการจัดหาร้านค้าเข้าร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ซึ่งได้คัดกรองเครือข่ายร้านธงฟ้าได้ครบแล้ว มีหลายแสนราย และได้ขยายไปตรวจสอบถึงกลุ่มเอสเอ็มอีและร้านค้าทั่วไปที่ไม่ได้เป็นร้านธงฟ้าว่ามีความพร้อมเพียงใดในการเข้าร่วมโครงการ และมีแผนสนับสนุนให้ธุรกิจรายย่อย เอสเอ็มอี เข้าร่วมดิจิทัลวอลเล็ตให้มากที่สุด เพราะโครงการนี้จะช่วยกระตุ้นยอดขายได้มาก ส่วนการกำหนดรายการสินค้าที่ใช้ร่วมกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต กำลังร่วมพิจารณากับกระทรวงการคลัง.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่