กองทุนประกันสังคม แบกรายจ่าย มากกว่ารายรับ “อายุขัย” คนไทยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น แต่อายุเกษียณเท่าเดิม

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

กองทุนประกันสังคม แบกรายจ่าย มากกว่ารายรับ “อายุขัย” คนไทยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น แต่อายุเกษียณเท่าเดิม

Date Time: 14 มิ.ย. 2567 15:12 น.

Video

แก้เกมหุ้นไทยตกต่ำ ประธานตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดแผนฟื้นความเชื่อมั่น | Money Issue

Summary

  • ผ่าจุดเสี่ยง กองทุนประกันสังคม เมื่อกำลังแบกรายจ่าย มากกว่า “รายรับ” ปี 2566 ค่าใช้จ่ายพุ่ง! 1.56 แสนล้าน เงินจ่ายหลังเกษียณ-ค่าใช้จ่ายสุขภาพของผู้ประกันตน เร่งตัว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ ขยายอายุเกษียณ หนึ่งในทางออก หลังอายุขัยคนไทยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น แต่กำหนดวัยเกษียณยังเท่าเดิม มาหลายสิบปี

Latest


ปัจจุบัน ประเทศไทยมีประชากรที่เป็น “ผู้สูงอายุ” อยู่ราว 13 ล้านคน ซึ่งเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว จึงกลายเป็นความเสี่ยงต่อภาระทางการคลังที่เพิ่มขึ้น และจะมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นอีก ตามการเร่งตัวของโครงสร้างสังคมสูงวัย 

เกิดเป็นความท้าทายให้ “รัฐบาล” ต้องหารายรับให้เพียงพอต่อ “รายจ่าย” โดยเฉพาะรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ, กลุ่มผู้สูงอายุ และเงินที่ต้องจ่ายให้ผู้ประกันตนหลังเกษียณอีกด้วย 

เบี้ยยังชีพ 1,000 บาทถ้วนหน้า ดันรายจ่ายรัฐบาลพุ่ง! 

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ว่า ไทยกำลังแบกรายจ่ายสวัสดิการ “เบี้ยยังชีพ” ผู้สูงอายุ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งในแง่จำนวนและอัตราการจ่ายเบี้ยที่เพิ่มขึ้น 

หลังจากรัฐบาลเตรียมยกเลิกการจ่ายแบบขั้นบันได มาเป็นจ่ายเบี้ยยังชีพ 1,000 บาท เท่ากันทุกช่วงวัย ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนสวัสดิการโดยรัฐ และอยู่ระหว่างรอเสนอ ครม. เพื่อพิจารณาในเดือนนี้  ซึ่งจะส่งผลให้งบประมาณรายจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้นอีก

สะท้อนจากในปี 2567 ภาครัฐได้จัดสรรงบประมาณสำหรับการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุไว้ราว 9.3 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% จากปีก่อนที่อยู่ที่ 8.8 หมื่นล้านบาท และคาดการณ์ว่าในปี 2572 ที่ไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยขั้นสุดยอด รายจ่ายส่วนนี้อาจไม่ต่ำกว่า 1.6 แสนล้านบาท

เจาะรายจ่ายสวัสดิการด้านสุขภาพ ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 4% เช่นกัน จากปี 2557 งบประมาณส่วนนี้ของรัฐอยู่ที่ 2.4 แสนล้านบาท ปรับเพิ่มมาอยู่ที่ 3.5 แสนล้านบาท ในปี 2567

จุดเสี่ยงกองทุนประสังคม เมื่อรายจ่าย มากกว่า “รายรับ”

สำหรับกองทุนประกันสังคม ที่เป็นสวัสดิการหลักของแรงงานไทยราว 25 ล้านคน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า เมื่อประเมินภาพจากรายจ่ายรวมของกองทุนประกันสังคม โดยเฉพาะเงินที่จ่ายหลังเกษียณและสวัสดิการด้านสุขภาพต่างๆ ที่มีแนวโน้มเติบโตสูงกว่ารายรับ อาจไม่เพียงพอและหมดลงในระยะข้างหน้าหากไม่มีการปรับเงื่อนไข


“รายจ่ายรวมของกองทุนประกันสังคม ขยายตัวเฉลี่ย 10% ต่อปี ขณะที่รายรับรวมขยายตัวเฉลี่ยเพียงแค่ 3% ต่อปีเท่านั้น โดยเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา ประกันสังคมมีรายจ่ายมากถึง 156,779 ล้านบาท ขณะมีรายรับเพียง 66,844 ล้านบาท” 

ทั้งนี้ 1 ในข้อเสนอแนะ คือ รัฐบาลต้องจัดสรรกองทุนประกันสังคมทั้งด้านรายรับและรายจ่ายให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไป เช่น การขยายเพดานค่าจ้าง การขยายอายุเกษียณผู้ประกันตน การดึงแรงงานข้ามชาติเข้าระบบประกันสังคม และการปรับแผนการลงทุนให้สร้างผลตอบแทนมากขึ้น 

คนไทยอายุยืนขึ้น แต่อายุเกษียณยังกำหนดเท่าเดิม

ซึ่งบางแนวทางภาครัฐอาจมีการศึกษาความเป็นไปได้ไปบ้างแล้ว แต่ที่สำคัญคงเป็นเรื่องของการผลักดันให้เกิดขึ้นจริงได้เร็วที่สุด เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งให้แก่สถานะการเงินของกองทุนประกันสังคม และลดความเสี่ยงที่เงินอาจไม่เพียงพอและหมดลงในอนาคต

เนื่องจากปัจจุบันอายุเกษียณเฉลี่ยไทยอยู่ที่ 58 ปี ขณะที่คนไทยมีอายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น แต่อายุเกษียณกลับไม่เปลี่ยนตั้งแต่ปี 2494 ซึ่งการขยายอายุเกษียณเป็นหนึ่งทางเลือกที่รัฐบาลในหลายประเทศที่ประสบปัญหาสังคมสูงวัยเลือกใช้ เช่น ฝรั่งเศส ที่ปัจจุบันอายุเกษียณอยู่ที่ 62 ปี และจะมีการปรับเพิ่มขึ้นเป็น 64 ปี ภายในปี 2575 เป็นต้น

เช่นเดียวกับการส่งเสริมให้ประชาชนมีการออมเงินเพื่อเกษียณมากขึ้น โดยเฉพาะการดึงแรงงานนอกระบบให้เข้ามาออมในระบบ ซึ่งปัจจุบันไทยมีแรงงานนอกระบบราว 21 ล้านคน แต่มีการออมผ่านระบบประกันสังคม 11 ล้านคน และกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) 3 ล้านคน ขณะที่ยังมีอีกไม่ต่ำกว่า 7 ล้านคน ที่เสี่ยงไม่มีหลักประกันรายได้ยามเกษียณ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ