นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงปัญหาภัยทุจริตทางการเงินว่า ธปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง โดยหนึ่งในการดำเนินการสำคัญ ได้แก่ การออกพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 โดยมีวัตถุประสงค์ส่วนหนึ่งเพื่อจัดการบัญชีม้าที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการรับเงินและถ่ายโอนเงินจากการกระทำผิด และแลกเปลี่ยนเส้นทางเงินเพื่อสนับสนุนการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ อีกทั้ง พ.ร.ก.ยังได้กำหนดโทษเอาผิดกับบัญชีม้าที่ชัดเจนขึ้น อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาการจัดการกับบัญชีม้ายังมีข้อจำกัด ทำให้ยังมีผู้เสียหายเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ ธปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงร่วมกันยกระดับการจัดการบัญชีม้าให้เข้มงวดขึ้น เพื่อให้ธนาคารป้องกันความเสี่ยง และแก้ไขปัญหาการหลอกลวงออนไลน์ที่เกิดกับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยจะดูแลให้กระทบประชาชนผู้สุจริตน้อยที่สุด
นางสาวดารณี แซ่จู ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับระบบการชำระเงินและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อมูลจากศูนย์บริหารการแจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยอดสะสม ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.65-31 พ.ค.67 จำนวนผู้ถูกหลอกลวงทางการเงินยังคงเพิ่มขึ้น โดยมีผู้เสียหายทั้งสิ้น 540,000 ราย มูลค่ารวม 63,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นยอดเงินที่สูงมากในเวลาประมาณ 2 ปี โดยในยอดนี้ 40% เป็นการหลอกลวงซื้อสินค้าออนไลน์ ขณะที่อีก 60% หรือประมาณ 300,000 ราย เป็นการถูกหลอกลวงให้โอนเงิน โดยการหลอกให้ลงทุนเป็นการหลอกลวงที่สูงที่สุด
ที่สำคัญในการหลอกลวงมิจฉาชีพใช้บัญชีม้าเป็นเครื่องมือหลักในการรับส่งเงิน ซึ่งประมาณการได้ว่า ในการหลอกให้โอนเงินแต่ละครั้ง เงินจะวิ่งไปยังบัญชีม้าอย่างน้อย 5 บัญชี หรือมีบัญชีม้าเป็นล้านบัญชี แต่ในช่วง มี.ค.66-เม.ย.67 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันอายัดบัญชีได้ 200,000 บัญชี ซึ่งถือว่ายังน้อยอยู่ นอกจากนั้น ยังมีปัญหาในการอายัดบัญชีม้าที่ทำได้แค่ 7 วัน และต้องปล่อยบัญชีไป หากการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ทำให้มีการนำบัญชีเหล่านี้มาเป็นบัญชีม้ารอบใหม่ และการอายัดบัญชีม้าทำได้เฉพาะธนาคารของตัวเองเท่านั้น
การยกระดับมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงินในครั้งนี้ จึงประกอบด้วยมาตรการ 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 การยกระดับการจัดการบัญชีม้า โดยปรับจากการดำเนินการระดับ “บัญชี” เป็นระดับ “บุคคล” คือ หากพบว่าบัญชีของบุคคลใด เป็นบัญชีม้าจะระงับบัญชีอิเล็กทรอนิกส์ของบุคคลนั้นที่มีอยู่ในทุกธนาคาร ทุกบัญชีทันที และหากต้องการเปิดบัญชีใช้อีกครั้งจะต้องมาพิสูจน์ตัวตนที่เข้มข้น แสดงตัวตนที่สาขาธนาคาร แสดงเหตุผลที่ชัดเจนว่าเงินมาจากไหน มีการรับเงินเข้าออกเพราะอะไร เป็นต้น และห้ามเปิดบัญชีใหม่หากพิสูจน์ตัวตนไม่ได้ นอกจากนั้น จะดำเนินการตรวจสอบพฤติกรรมน่าสงสัยให้เข้มข้นขึ้นทั้งบัญชีในปัจจุบันและการเปิดบัญชีใหม่
นอกเหนือจากการเพิ่มความเข้มในการปราบบัญชีม้า ธปท.ยังได้ออกมาตรการกลุ่มที่ 2 เพื่อให้ลูกค้ามีทางเลือกที่จะเพิ่มความปลอดภัยให้บัญชีตนเองมากขึ้น โดยภายในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ธปท. กำหนดให้ธนาคารต้องมีผลิตภัณฑ์หรือบริการเพิ่มเติมเพื่อดูแลให้ลูกค้าใช้บริการดิจิทัลได้ปลอดภัยขึ้น ได้แก่ การล็อกวงเงินที่ห้ามทำธุรกรรมออนไลน์ เช่น ล็อกไว้ว่าจะโอนเงินได้กี่เปอร์เซ็นต์ของบัญชีเท่านั้น เช่น 50% หรือ 10% ของบัญชี มากกว่านั้นจะโอนไม่ได้ และการปลดล็อกวงเงินดังกล่าวให้ทำได้ยากขึ้นกว่าในปัจจุบัน รวมทั้งอาจจะมีฟังก์ชันการปรับลดวงเงินต่อครั้งในการสแกนใบหน้าการทำธุรกรรมบน mobile banking ต่ำกว่า 50,000 บาท นอกจากนี้ ธนาคารแต่ละแห่งจะเสนอบริการเพื่อดูแลลูกค้าเพิ่มเติมได้ เช่น การโอนเงินที่อาศัยบุคคลอื่นช่วยอนุมัติ (double authorisation) การโอนเงินเฉพาะรายชื่อที่กำหนดไว้ล่วงหน้า เป็นต้น โดย ธปท.มุ่งหวังว่ามาตรการครั้งนี้ จะช่วยจำกัดเส้นทางเดินเงินของกลุ่มมิจฉาชีพและดูแลให้ประชาชนใช้บริการทางการเงินได้อย่างปลอดภัยยิ่งขึ้น.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่