พิษการเมือง! ตัวการสำคัญ ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคทุกรายการลด 3 เดือนติด

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

พิษการเมือง! ตัวการสำคัญ ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคทุกรายการลด 3 เดือนติด

Date Time: 14 มิ.ย. 2567 05:30 น.

Summary

  • ม.หอการค้าไทยเผย การเมืองไม่นิ่ง ฉุดดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคทุกรายการลดลง 3 เดือนติด ชี้ถ้าการเมืองไม่รุนแรง รัฐมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง รัฐเร่งเบิกจ่ายงบฯเงินดิจิทัลถึงมือประชาชน เชื่อดันจีดีพีปีนี้โตตามเป้า 2.6% แต่หากการเมืองบานปลายยากที่จะประเมิน!! ให้น้ำหนักปัจจัยการเมืองมีผลต่อทิศทางเศรษฐกิจสูงถึง 60–75%

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ค.67 ว่า ดัชนีทุกรายการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันในรอบ 10 เดือน นับตั้งแต่เดือน ส.ค.66 โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ 60.5 ลดลงจาก 62.1 ในเดือน เม.ย.67 ต่ำสุดในรอบ 7 เดือน นับตั้งแต่เดือน พ.ย.66 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบัน อยู่ที่ 44.1 ลดจาก 45.3 และดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคต อยู่ที่ 68.4 ลดจาก 70.2 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวมและดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 54.3, 57.6 และ 69.8 ตามลำดับ จากเดือน เม.ย.67 ที่ 56.0, 58.9 และ 71.5 ตามลำดับ

ดัชนีทุกรายการที่ปรับตัวลดลง มีสาเหตุจากผู้บริโภคกังวลว่าการเมืองไทยเริ่มขาดเสถียรภาพ หลังศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของ 40 สมาชิกวุฒิสภา (สว.) เกี่ยวกับคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี กังวลเศรษฐกิจไทยชะลอตัวและฟื้นช้าประกอบกับราคาพลังงานสูงขึ้น ค่าครองชีพสูง และผู้บริโภคกังวลกับเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว สงครามตะวันออกกลางอาจยืดเยื้อบานปลาย เพิ่มแรงกดดันทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้า ส่งผลถึงการจ้างงานในอนาคต ซึ่งจะทำให้รายได้ในอนาคตของผู้บริโภคมีความไม่แน่นอนสูง “การที่ดัชนีความเชื่อมั่นลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ในรอบ 10 เดือนทุกรายการ แสดงว่าผู้บริโภคเริ่มไม่แน่ใจว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวดีขึ้นได้รวดเร็ว โดยเฉพาะการเมืองเริ่มผันผวนมากขึ้น แต่ความเชื่อมั่นน่าจะดีขึ้นได้ในอนาคต หากรัฐบาลเร่งเบิกจ่ายงบฯและกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็วในครึ่งหลังปีนี้”

อย่างไรก็ตาม ศูนย์ฯยังไม่ปรับเป้าหมายการขยายตัวเศรษฐกิจปีนี้ที่คาดโต 2.6% เพราะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งส่งเสริมท่องเที่ยวเมืองรอง 55 จังหวัด การเร่งรัดเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐให้ได้ 70% ของงบรวม 700,000 ล้านบาท จะทำให้มีเม็ดเงิน 400,000-500,000 ล้านบาท กระจายสู่เศรษฐกิจทุกพื้นที่จะเป็นแรงส่งให้เริ่มเห็นการฟื้นตัวเศรษฐกิจตั้งแต่ไตรมาส 3 ปีนี้ รวมถึงหากมีการผูกพันงบประมาณเร่งรัดการใช้จ่ายงบปี 68 ได้ตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีนี้ ก็จะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตได้ดีขึ้นในครึ่งหลังของปีนี้

นอกจากนี้ การเพิ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติอีก 1 ล้านคน และเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวปีนี้ อีกอย่างน้อย 500,000 ล้านบาท มาตรการส่งเสริมการลงทุนต่างๆ รวมถึงเงินดิจิทัลวอลเล็ตที่จะเข้ามาไตรมาส 4 เชื่อว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยมีโอกาสโตได้ 3.0-3.2% ซึ่งเศรษฐกิจไทยจะผันตัวจากเศรษฐกิจขาลง และผ่านจุดต่ำสุด มิ.ย.67 “การเมืองจะเป็นตัวพลิกผันสำคัญที่มีผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนและเศรษฐกิจ หากการเมืองไม่รุนแรง เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 2.6% แต่หากบานปลาย ก็ยากที่จะประเมิน ซึ่งการเมืองมีน้ำหนักถึง 60-75% เทียบกับปัจจัยเศรษฐกิจโลก ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ราคาน้ำมัน เศรษฐกิจสหรัฐฯ จีน ยุโรป มีผลต่อเศรษฐกิจไทย 25% ส่วนอีก 10% เป็นเรื่องของน้ำ ภัยแล้ง หากการเมืองไม่นิ่ง มีผลให้ความเชื่อมั่นลดลงต่อเนื่อง เศรษฐกิจไทยยังโตไม่โดดเด่นในไตรมาส 2-3 แต่หากทุกอย่างคลี่คลาย ปลายไตรมาส 3-4 เศรษฐกิจจะฟื้นได้อย่างชัดเจน”.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ