กนง.ชี้เหตุเศรษฐกิจไทยฟื้น ส.อ.ท.โอดคงดอกเบี้ย 2.5% ต้นทุนพุ่ง

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

กนง.ชี้เหตุเศรษฐกิจไทยฟื้น ส.อ.ท.โอดคงดอกเบี้ย 2.5% ต้นทุนพุ่ง

Date Time: 13 มิ.ย. 2567 07:38 น.

Summary

  • กนง.มีมติไม่เอกฉันท์ คงดอกเบี้ยนโยบายต่อที่ 2.5% ชี้เศรษฐกิจมีทิศทางดีขึ้นต่อเนื่อง โดยคงประมาณการเศรษฐกิจปีนี้ไว้ที่ 2.6% แต่มีแรงกระตุ้นภาครัฐ-ดิจิทัลวอลเล็ตเป็นปัจจัยบวก หากได้ผลดีอาจโตพุ่งเป็น 3% ได้ นายกฯเมินไม่ลดดอกเบี้ย เดินหน้าสู้กระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่ม

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

กนง.มีมติไม่เอกฉันท์ คงดอกเบี้ยนโยบายต่อที่ 2.5% ชี้เศรษฐกิจมีทิศทางดีขึ้นต่อเนื่อง โดยคงประมาณการเศรษฐกิจปีนี้ไว้ที่ 2.6% แต่มีแรงกระตุ้นภาครัฐ-ดิจิทัลวอลเล็ตเป็นปัจจัยบวก หากได้ผลดีอาจโตพุ่งเป็น 3% ได้ นายกฯเมินไม่ลดดอกเบี้ย เดินหน้าสู้กระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่ม ด้าน ส.อ.ท.มองคงดอกเบี้ยทำเอสเอ็มอีต้นทุนสูง ลดความสามารถการแข่งขันเอกชน

นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง.วานนี้ (12 มิ.ย.) ว่า กนง.มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ต่อปี โดย 1 เสียง เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25%ต่อปี เนื่องจาก กนง.มองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มดีขึ้นชัดเจน โดยไตรมาสแรก ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อน 1.5% ไตรมาสที่ 2 หลังจากเห็นตัวเลขของเดือน เม.ย.แล้วคาดว่าจะขยายตัวได้มากกว่า 2% ไตรมาสที่ 3 คาดว่าจะขยายตัว 2% ปลายจนถึง 3% และไตรมาสที่ 4 คาดว่าจะขยายตัวได้ 3-4% ทำให้ ธปท.คาดว่า เศรษฐกิจไทยปี 2567 ทั้งปีจะขยายตัวได้ 2.6% และขยับเพิ่มเป็น 3% ในปี 2568

“การประเมินเศรษฐกิจปีนี้ ธปท.ได้รวมการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากการใช้จ่ายและลงทุนผ่านงบประมาณ ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและผลดีจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ถือเป็นปัจจัยเชิงบวกที่จะเข้ามาช่วยเพิ่มการขยายตัว โดยมองว่าหากมาตรการกระตุ้นของรัฐบาลมีผลดี ปีนี้จะขยายตัว 3% ก็เป็นไปได้”

ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท. กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ การท่องเที่ยวมีทิศทางที่ดีต่อเนื่อง งบประมาณรายจ่ายภาครัฐที่ออกมาแล้ว ช่วยให้เกิดการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ แต่ต้องจับตาการส่งออกที่ยังขยายตัวต่ำว่าในช่วงต่อไปจะเป็นอย่างไร ขณะที่ภาคการผลิตน่าจะผ่านจุดต่ำสุดในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา และเริ่มปรับดีขึ้น ส่วนการปิดโรงงานในขณะนี้ต้องจับตาผลกระทบต่อภาคแรงงาน แต่หากมองภาพรวมยังเห็นว่ามีการเปิดโรงงานใหม่มากกว่าปิด”

ด้านอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มทยอยปรับขึ้นและประเมินว่าจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2567 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะขยายตัวที่ 0.6% ในปีนี้ และ 1.3% ในปีหน้า ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะอยู่ที่ 0.5%ในปีนี้ และ 0.9% ในปี 2568 อย่างไรก็ตาม คาดว่าจากฐานที่สูงในปีก่อน จะทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปใน 2-3 เดือนข้างหน้าจะกลับขยายตัวต่ำกว่า 1% ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นอีกครั้งในช่วงไตรมาส 4 และปีหน้า

“กนง.ส่วนใหญ่เห็นว่า อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเข้าสู่ศักยภาพและการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน อย่างไรก็ตาม กนง.ไม่ได้ปิดกั้นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ขึ้นกับการติดตามการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจในระยะต่อไป โดย ธปท.มองว่า ในขณะนี้นโยบายการเงิน และการคลังอยู่ในทิศทางที่สอดคล้องกัน โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายขณะนี้อยู่ในระดับที่ไม่สร้างความเสี่ยงในด้านเสถียรภาพ และเอื้อต่อการขยายตัว ทำให้นโยบายการคลังสามารถเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจเฉพาะจุดได้”

นายปิติกล่าวต่อว่า กนง.จับตาทิศทางค่าเงินบาทที่อ่อนค่า และการไหลออกของเงินทุนอย่างใกล้ชิด ขณะที่มีความกังวลต่อหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง รวมทั้งหนี้เสียบัตรเครดิตที่เพิ่มขึ้น นอกจากนั้น ยังเป็นห่วงปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง จึงสนับสนุนการใช้มาตรการที่ตรงจุด เช่น มาตรการค้ำประกันสินเชื่อ

ด้านนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการคงดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.ว่าแม้ว่าไม่มีลดดอกเบี้ยนโยบาย เรายังคงมีการเดินหน้าในการสร้างเศรษฐกิจตลอดเวลาอยู่แล้ว โดยพยายามที่จะทำทุกอย่าง หากติดขัดตรงไหนก็พยายามอ้อมไปอีกทางหนึ่ง ยึดข้อกฎหมายเป็นที่ตั้ง และยึดความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนเป็นที่ตั้ง ถ้าไม่ได้ทางนี้ก็ไปอีกทางหนึ่งให้ได้ ไม่เอามาเป็นข้ออ้างหรือคำอธิบายว่าทำไมถึงไม่ได้ ก็ต้องทำงานกันต่อไป

ขณะที่นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. ว่า การคงดอกเบี้ยดังกล่าว จะส่งผลต่อต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการยังคงอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี แต่การคงดอกเบี้ยดังกล่าว ยังไม่ได้ส่งผลกระทบให้การลงทุนใหม่ชะงัก เพราะอัตราดอกเบี้ยเป็นเพียงหนึ่งในปัจจัยที่นำมาตัดสินใจเท่านั้น อย่างไรก็ดี หากมองในแง่ขีดความสามารถในการแข่งขัน แน่นอนว่า ต้นทุนที่อยู่ในระดับสูง จะกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ