แบงก์ชาติ ยืนหยัด “คงดอกเบี้ย” เห็นตรงรัฐบาล ดิจิทัลวอลเล็ต มีลุ้นดัน GDP แตะ 3%

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

แบงก์ชาติ ยืนหยัด “คงดอกเบี้ย” เห็นตรงรัฐบาล ดิจิทัลวอลเล็ต มีลุ้นดัน GDP แตะ 3%

Date Time: 12 มิ.ย. 2567 19:39 น.

Video

“The Summer Coffee Company” มากกว่า เครื่องดื่ม คือ ความสุข | Brand Story Exclusive EP.3

Summary

  • กนง.ยืนหยัดคงอัตราดอกเบี้ย 2.5% ชี้เศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน หลัง GDP ไตรมาส 1/2567 ดีกว่าคาด
  • มองกรอบเงินเฟ้อปัจจุบันเหมาะสม แม้บริหารไม่เข้าเป้า เห็นตรงรัฐบาล ลุ้นดิจิทัลวอลเล็ต ดันเศรษฐกิจโตแตะระดับ 3%

Latest


ประชุมคณะกรรมการนโนบายการเงิน (กนง.) วันที่ 12 มิ.ย. 2567 มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2.50% ต่อปี โดย 1 เสียง เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี

ปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวจากอุปสงค์ในประเทศและภาคการท่องเที่ยว ขณะที่การส่งออกขยายตัวในระดับต่ำ โดยสินค้าส่งออกบางกลุ่มมีแรงกดดันเพิ่มเติมจากการแข่งขันที่สูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าหมวดยานยนต์และโซลาร์เซล

ด้านอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มทยอยปรับขึ้น และประเมินว่าจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2567 แต่มองไป 2-3 เดือนข้างหน้า คาดว่าเงินเฟ้อจะต่ำกว่า 1% เป็นผลมาจากฐานที่ต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อน กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจที่โน้มเข้าสู่ศักยภาพและการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้ 


ขณะที่กรรมการ 1 ท่าน เห็นว่าควรปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ต่อปี เพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำลงจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ชัดเจนขึ้น และจะมีส่วนช่วยบรรเทาภาระของลูกหนี้ได้บ้าง

เปิดคาดการณ์ GDP 4 ไตรมาส


หลังสภาพัฒน์ฯ รายงาน GDP ไตรมาส 1/2567 ขยายตัวดีกว่าคาดที่ 1.5% ซึ่งส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวอย่างชัดเจน แม้การเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้าจะยังเป็นปัจจัยที่ฉุดรั้งการเติบโต แต่ภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวอย่างต่อเนื่อง กนง.จึงมองว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะขยายตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยยังคงประมาณการ GDP ปี 2567 ที่ 2.6% และประมาณการเศรษฐกิจไตรมาสที่เหลือของปีไว้ดังนี้ 

  • ไตรมาส 2 คาดว่า GDP จะขยายตัวเกิน 1.5%
  • ไตรมาส 3 คาดว่า GDP จะขยายตัวเกิน 2.5%
  • ไตรมาส 4 คาดว่า GDP จะขยายตัวแตะระดับ 4%

แบงก์ชาติเห็นตรงรัฐบาล ปีนี้มีลุ้น GDP แตะ 3%


อย่างไรก็ตาม สำหรับประเด็นที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ตั้งเป้าผลักดัน GDP ปี 2567 ขยายตัวแตะระดับ 3% จากคาดการณ์ปัจจุบันที่ 2.4% ผ่านการเร่งผลักดัน 3 แรงขับเคลื่อนสำคัญ ได้แก่ การท่องเที่ยว การเบิกจ่ายงบภาครัฐ และการลงทุนเอกชน กนง.มองว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวถึง 3% หากมีการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ หรือผลการดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งจะส่งผลมากในช่วงไตรมาส 4/2567 และไตรมาส 1/2568   


ทั้งนี้ มาตรการกระตุ้นของรัฐบาลที่จะออกมาเพิ่มเติม ไม่ได้เปลี่ยนแปลงภาพรวมทิศทางเศรษฐกิจมากนัก ดังนั้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตอนนี้จึงเหมาะสมเพราะสามารถรองรับความเสี่ยงด้านสูง (Upside risk) และความเสี่ยงด้านต่ำ (Downside risk) ที่จะมาจากภาคการส่งออก


กรอบเงินเฟ้อเหมาะสมแล้ว แม้บริหารไม่เข้าเป้า


นอกจากนี้ เลขานุการ กนง. ยังชี้แจงว่า เงินเฟ้อที่หลุดกรอบมาอยู่กรอบล่างส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชน ไม่ว่าจะเป็นมาตรการอุดหนุนราคาน้ำมัน หรือราคาไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยจ่ายค่าน้ำมันและค่าไฟฟ้าต่ำกว่าราคาตลาดโลก 


อีกทั้งก่อนหน้านี้ที่เงินเฟ้อพุ่งขึ้นไป 8% นอกกรอบบนก็เป็นผลจากปัจจัยด้านความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งไม่เกี่ยวกับอุปสงค์ในประเทศหรือการดำเนินนโยบายทางการเงิน ดังนั้นธรรมชาติของเงินเฟ้อต้องตระหนักว่าปัจจัยอะไรคุมได้ อะไรคุมไม่ได้ แล้วปัจจัยใดมีนัยสำคัญต่อการกำหนดนโยบายการเงิน 


สำหรับการกำหนดกรอบเงินเฟ้อที่ 1-3% พิจารณาจากแนวโน้มเศรษฐกิจระยะปานกลาง โดยพิจารณาจากพื้นฐานของเศรษฐกิจว่าเงินเฟ้อระดับใดที่เอื้อให้เศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้ตามศักยภาพ ไม่สูงเกินไปที่จะสร้างปัญหากับภาระค่าครองชีพครัวเรือน และไม่ต่ำจนเกินไปจนทำให้นโยบายการเงินตึงตัว ดังนั้นกรอบเงินที่ 1-3% จึงเป็นระดับที่สอดคล้องกับพื้นฐานเศรษฐกิจไทย และเป็นกรอบที่ใกล้เคียงกับต่างประเทศ

ที่มา: ธปท.

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่ 
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney

 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ