บทเรียนจาก "อดีต" ที่ยัง "ใช้ได้" ในปัจจุบัน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

บทเรียนจาก "อดีต" ที่ยัง "ใช้ได้" ในปัจจุบัน

Date Time: 13 มิ.ย. 2567 05:45 น.

Summary

  • วันอังคารที่ 11 มิถุนายน 2567 ก่อนหน้าที่ทีมฟุตบอล “ชาติไทย” หรือ “ช้างศึก” ของเราจะลงสนามเตะกับทีมสิงคโปร์ในการแข่งขันฟุตบอลโลก รอบคัดเลือก โซนเอเชีย กลุ่มซี แน่นอนในฐานะกองเชียร์ไทย ผมเชียร์ทีมชาติไทยของเราพันเปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว เมื่อทราบว่าเรายังมีโอกาสเข้ารอบ 3 อยู่ แต่จะต้องฝ่าเงื่อนไขหลักๆ 2-3 ประการไปให้ได้ก็ขอเชียร์สุดหัวใจ

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

ผมเขียนต้นฉบับวันนี้ช่วงบ่ายๆของวันอังคารที่ 11 มิถุนายน 2567 ก่อนหน้าที่ทีมฟุตบอล “ชาติไทย” หรือ “ช้างศึก” ของเราจะลงสนามเตะกับทีมสิงคโปร์ในการแข่งขันฟุตบอลโลก รอบคัดเลือก โซนเอเชีย กลุ่มซี นัดสุดท้ายจะเริ่มขึ้นสัก 2 ชั่วโมงเห็นจะได้

แน่นอนในฐานะกองเชียร์ไทย ผมเชียร์ทีมชาติไทยของเราพันเปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว เมื่อทราบว่าเรายังมีโอกาสเข้ารอบ 3 อยู่ แต่จะต้องฝ่าเงื่อนไขหลักๆ 2-3 ประการไปให้ได้ก็ขอเชียร์สุดหัวใจ

ผลเป็นอย่างไร? ป่านฉะนี้ท่านผู้อ่านคงจะทราบแล้ว...คนไทยจะได้เฮ! หรือว่าจะได้ “หุบ” คือพาดท่าตกรอบไปด้วยความโชคร้ายที่คาดไม่ถึง

ฉันใดก็ฉันนั้นเมื่อมองในการแข่งขันระดับชาติด้านเศรษฐกิจและสังคมที่ประเทศไทยของเรากำลังเผชิญอยู่อย่างสาหัสขณะนี้ ผมก็ขอเอาใจช่วย ประเทศไทย เช่นเดียวกัน

เอาใจช่วยและเอาใจเชียร์ผ่าน รัฐบาลไทย ที่กำลังทำหน้าที่เสมือนทีม “ช้างศึก” ของเราอยู่ในขณะนี้

แน่นอนเมื่อเอ่ยคำว่า รัฐบาล ก็มีทั้งรักทั้งชังในตัวบุคคลและในแนวนโยบายบางนโยบายอยู่บ้างเป็นธรรมดา แต่ก็จะพยายามลืมๆเอาไว้ก่อน ถึงเวลาเมื่อไรค่อยว่ากัน

สำหรับช่วงนี้สงครามเศรษฐกิจกำลังหนักหนาสาหัส และรัฐบาลก็มีการจัดตั้งและจัดประชุม คณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ หรือ ครม.เศรษฐกิจ อย่างที่เรียกกันง่ายๆมาแล้ว 2 ยก

ในการประชุมยกล่าสุดเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา หากสรุปสาระตามข่าวหนังสือพิมพ์ก็คงจะสรุปได้ดังข่าวพาดหัวของฉบับหนึ่งว่า “เศรษฐาถกเข้ม ครม.เศรษฐกิจ...สั่งปั๊มจีดีพีโต 3%...พิชัยเร่งดัน 3 เครื่องยนต์ เดินหน้าบูมท่องเที่ยว ฯลฯ”

ผมคงไม่ต้องลงรายละเอียดว่าในการปั๊มจีดีพีให้ได้ 3% นั้น ท่านจะดำเนินการกันอย่างไรบ้างและเท่าที่อ่านข่าวก็ถือว่าสอดคล้องกับหลักวิชา ไม่มีมาตรการไหนมานอกเหนือตำราแต่อย่างใด

รวมทั้งมาตรการที่ท่านรัฐมนตรีคลัง พิชัย ชุณหวชิร ท่านแถลง 3 ประการ คือ เร่งรัดการท่องเที่ยว, เร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐบาลของปี 2567 และเร่งมาตรการส่งเสริมการลงทุนผ่าน BOI ให้นักลงทุนขยับเวลามาลงทุนเร็วขึ้นนั้น...ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง

ขอเชียร์ให้รีบเร่งดำเนินการได้ผลอย่างไร คืบหน้าอย่างไร ให้รีบกลับมารายงาน...แล้วก็เดินหน้านโยบายอื่นๆต่อไป

ผมเองในชีวิตนี้เคยโชคดีมีส่วนร่วมในสงครามเศรษฐกิจย่อยๆของประเทศไทยสงครามหนึ่ง...คือเมื่อครั้งเศรษฐกิจตกตํ่าจนรัฐบาลป๋าเปรมโดยปู่สมหมาย รัฐมนตรีคลัง ต้องลอยตัวค่าเงินบาท เป็นเหตุให้ค่าเงินบาทลดลงจนเกือบเกิดวิกฤติการเมือง เมื่อปี 2527

ยุคนั้นแม้จะมี ครม.เศรษฐกิจ มีคณะกรรมการ กรอ. (ภาครัฐ ภาคเอกชน) แล้ว...ป๋าเปรมยังสั่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อสนับสนุนให้การลดค่าเงินบาทบังเกิดผลสูงสุดอีกด้วย

ระดมสรรพกำลังนักเศรษฐศาสตร์ นักบริหารธุรกิจ และนักการเงินการคลังมาอยู่ในกรรมการเฉพาะกิจ กำหนดมาตรการ 24 มาตรการ เพื่อแก้ไขเศรษฐกิจเฉพาะหน้า

ประชุมอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องกับมาตรการทั้ง 24 ประการทุกสัปดาห์ ประชุมแล้วก็แถลงข่าวกันทุกสัปดาห์ ว่าทำอะไรไปได้แค่ไหน มี ดร.เสนาะ อูนากูล เป็นแม่ทัพใหญ่อย่างที่ผมเล่าไว้วานนี้

แค่ปีเดียวเท่านั้น ทุกอย่างก็พลิกจากหลังมือเป็นหน้ามือ...จากคืนลอยกระทง 2527 ที่มีข่าวลือว่าจะปฏิวัติ แต่ป๋าเปรมสยบได้มาถึงคืนลอยกระทง 2528 ซึ่งกลายเป็นคืนที่คนไทยมีความสุขที่สุดวันหนึ่งในรอบ 10 ปี...คนลอยกระทงแทบจะเหยียบกันตายในหลายๆแหล่งหลายๆที่

ในฐานะนักรบเล็กๆคนหนึ่งที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ช่วยเลขานุการฝ่ายประชาสัมพันธ์ ทำให้ผมมีโอกาสได้เห็นภาพการต่อสู้...ภาพการทำงานอย่างเอาจริงเอาจัง ภาพแห่งความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่าย

ทำให้ผมเชื่อตั้งแต่นั้นมาว่า ในการทำสงครามอะไรก็ตาม ทุกๆฝ่ายจะต้องรวมหัวใจให้เป็นหนึ่งก่อน จากนั้นก็ลงมือทำอย่างสุดความสามารถ... ระดมความคิดและกลั่นความคิดออกมาเป็นมาตรการแล้วลุยทันที

ผมขอยืนยันอีกครั้งว่า ผมไม่ได้เชียร์รัฐบาล แต่เชียร์ประเทศไทยและจากประสบการณ์ที่ผมเคยอยู่กับทีมที่ชนะสงครามเศรษฐกิจ ผมพบว่า การรวมใจเป็นหนึ่งและการทำงานอย่างเข้มแข็งและจริงใจคือเบื้องหลังของชัยชนะ...ถ้ารัฐบาลนี้ทำได้เช่นนั้นอีก ผมก็เชื่อท่าน น่าจะชนะได้เช่นเดียวกัน.

“ซูม”

คลิกอ่านคอลัมน์ “เหะหะพาที” เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ