จับตา PDP 2024 จุดเปลี่ยน “ไฟฟ้าไทย”

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

จับตา PDP 2024 จุดเปลี่ยน “ไฟฟ้าไทย”

Date Time: 11 มิ.ย. 2567 05:33 น.

Latest

ที่ยืนของ “ธุรกิจไทย” แคบลงทุกที ไทยขาดดุล “จีน” สูงขึ้นเรื่อยๆ นำเข้าสินค้า ผ่าน Shopee - Lazada

ในวันที่ 12-13 มิ.ย.ที่จะถึงนี้ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 (Power Development Plan : PDP 2024) โดยการเปิดรับฟังความคิดเห็นพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เป็นพื้นที่แรก และจะปิดรับฟังความคิดเห็นออนไลน์ใน 4 ภูมิภาค ครอบคลุมทั่วประเทศในวันที่ 17 และ 19 มิ.ย. ก่อนที่จะเสนอให้ ครม.ในเดือน ก.ย.นี้

แต่ในวันนี้หลายคนยังคงสงสัยว่า PDP 2024 ซึ่งเปรียบเสมือนแผนแม่บทของพลังงานไทย คืออะไร มีแนวทางอย่างไร และจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพลังงานของไทยไปทางไหนในอนาคต และที่สำคัญคือ จะทำให้ค่าไฟฟ้าที่เราต้องจ่ายแพงขึ้น หรือถูกลง

เท่าที่ได้ฟังจาก “วีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู” ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) แผน PDP เป็นแผนที่ทำใน 3 ด้าน ด้านที่ 1 คือ การเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าของประเทศ (Security) ทบทวนความต้องการไฟฟ้า จัดหาไฟฟ้าในระยะยาวว่าจะมาจากส่วนไหนบ้าง รวมทั้ง แผนการสร้างโรงไฟฟ้าในอนาคต เพื่อให้เพียงพอต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจและสังคมในระยะข้างหน้า ตามเป้าหมายของรัฐบาล

ในด้านที่ 2 ยังต้องดูแลด้านต้นทุนค่าไฟฟ้าอยู่ในระดับที่เหมาะสม (Economy) สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ประชาชนไม่แบกรับภาระที่ไม่เป็นธรรม เตรียมความพร้อมให้เกิดการแข่งขันการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น และด้านที่ 3 ซึ่ง PDP 2024 ให้ความสำคัญ คือ ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (Ecology) ตามเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ภาคการผลิตไฟฟ้าให้เหลือ 41.5 ล้านตันคาร์บอน ในปี 2593 เพื่อเข้าสู่การสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยจะเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียนเพิ่มจากปัจจุบัน 11% เป็นมากกว่า 50%

โดยในแผน PDP ฉบับนี้ จะมีโรงไฟฟ้าใหม่และเทคโนโลยีใหม่ที่จะนำมาพิจารณา เช่น โรงไฟฟ้าพลังน้ำสูบกลับ รับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากต่างประเทศ พลังงานจากโซลาร์ โซลาร์ลอยน้ำ (BESS) และในปลายแผนมีแนวคิดจะเพิ่มการใช้พลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) ขนาด  600 เมกะวัตต์ เข้ามาเป็นทางเลือกในการผลิตไฟฟ้า

ยังจะมีการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ อาทิ การดักจับ ใช้ประโยชน์ และกักเก็บคาร์บอน และระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ เพราะตัวเลขที่ สนพ.ติดตามมา พบว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในช่วง 2 ปีมานี้เกิดในเวลากลางคืน ซึ่งการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ไม่สามารถรองรับได้ หากไม่มีระบบรองรับเช่นแบตเตอรี่

เพราะในแผน PDP 2024 จะให้โอกาสเกิดไฟฟ้าดับ (LOLE) ต้องไม่เกิน 0.7 วันต่อปี หรือไม่เกิน 17 ชั่วโมง จาก 8,760 ชั่วโมง จากเดิมใช้เกณฑ์กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin) รวมทั้งจะเร่งพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดของประเทศ เพื่อสนับสนุนผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เองที่จะมากขึ้นในอนาคต

สรุปเบื้องต้นว่า PDP 2024 จะทำให้พลังงานไฟฟ้าไทยเปลี่ยนไป โดยใช้พลังงานสะอาดผลิตมากขึ้น ส่วนความกังวลสำคัญของคนไทยที่ว่า เมื่อใช้พลังงานสะอาดแล้ว ค่าไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ ตั้งเป้าว่าตลอดแผน PDP 2024 จะคงอัตราค่าไฟให้ใกล้เคียงกับแผนเดิม หรือไม่ให้เกิน 4 บาทต่อหน่วย.

มิสเตอร์พี

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ