ดิ้น! เวนคืนที่ดินเอื้อนายทุน "ธนารักษ์" เมินชุมชนหลังหมอชิตเดือดร้อน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ดิ้น! เวนคืนที่ดินเอื้อนายทุน "ธนารักษ์" เมินชุมชนหลังหมอชิตเดือดร้อน

Date Time: 7 มิ.ย. 2567 05:45 น.

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้มีความพยายามของกรมธนารักษ์ กับบริษัทบางกอกเทอร์มินอล (BKT) ได้พยายามดำเนินการทุกวิถีทาง เพื่อขยายหรือต่อเวลาพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวเขตเวนคืนที่ดินชุมชนชาวบ้านหลังหมอชิต เพื่อสร้างถนนยกระดับหรือถนนลอยฟ้าเพื่อเป็นทางเข้าออกให้กับโครงการคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่ ที่จะหมดอายุภายในเดือน ส.ค.67

โดยกรมธนารักษ์ได้ให้สัมปทาน บริษัทบางกอกเทอร์มินอล (BKT) พัฒนาโครงการบนที่ดินของกรมธนารักษ์บริเวณหมอชิตเก่าพื้นที่ 63 ไร่ โดยจะสร้างเป็นคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่หรือโครงการมิกซ์ยูส ที่ประกอบด้วย อาคารสำนักงาน เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ โรงแรม ศูนย์การค้า อาคารจอดรถและศูนย์ประชุม ซึ่งได้รับการคัดค้านการเวนคืนที่ดินจากชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนมาอย่างต่อเนื่อง โดยพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวเขตเวนคืนที่ดิน จะหมดอายุเดือน ส.ค.67 นี้

ในอดีตกาลมากกว่า 30 ปีที่แล้ว พื้นที่บริเวณหมอชิตเก่า 63 ไร่ เคยถูกกำหนดให้สร้างเป็นศูนย์กลางสถานีขนส่งทางบกของ กทม.ตั้งแต่กระทรวงคมนาคมยังไม่มีแผนในการสร้างสถานีกลางบางซื่อ (สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์) ซึ่งปัจจุบันสถานีกลางบางซื่อถูกกำหนดให้เป็นศูนย์กลางของระบบขนส่งครบวงจร คือการขนส่งทางบกและทางราง ที่มีทั้งสถานี ขสมก.หรือรถเมล์ รถร่วมเอกชน สถานี บขส. รถไฟฟ้าใต้ดิน รถไฟ ชานเมืองและรถไฟความเร็วสูง รวมถึงรถไฟระยะทางไกล ที่เป็นเครือข่ายของระบบขนส่งที่เชื่อมต่อการเดินทางของประชาชนได้อย่างสะดวกรวดเร็ว จึงทำให้ปัจจุบัน ไม่มีความจำเป็นหรือความเหมาะสมในการย้าย สถานี บขส.กลับมาแออัดที่บริเวณหมอชิตเก่า

ที่สภาพปัจจุบันถนนพหลโยธิน และตรอกซอยต่างๆใกล้เคียง มีการจราจรแออัดแทบตลอดทั้งวัน โดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วนทั้งตอนเช้าและตอนเย็น ที่รถบนถนนแทบไม่ขยับ สร้างมลภาวะและสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษให้กับประชาชนผู้สัญจรไปมา ท่ามกลางที่ความเจริญและความเป็นเมือง ได้ขยายพื้นที่ออกไปโดยรอบ กทม.

ซึ่งตามข้อตกลงเดิม ก่อนสถานี บขส.จะย้ายออกไปอยู่ที่บนถนนกำแพงเพชร หรือที่ปัจจุบันใช้เป็นสถานีหมอชิตใหม่หรือหมอชิต 2 ระบุว่า โดยหากโครงการคอมเพล็กซ์สร้างเสร็จจะย้ายสถานี บขส.กลับมาอยู่ที่เดิมโดยจะกันพื้นที่ไว้ให้ 112,000 ตารางเมตร จากพื้นที่ใช้สอยในโครงการคอมเพล็กซ์รวม 888,046 ตารางเมตร ที่เหลือเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ให้เอกชนสร้างรายได้ 776,046 ตารางเมตร

ที่สำคัญโครงการนี้ตามข้อตกลงสัมปทาน กรมธนารักษ์จะได้ค่าเช่าที่ดินต่ำเตี้ยเรี่ยดิน คือ BKT จ่ายค่าธรรมเนียมการใช้ประโยชน์ที่ดิน 550 ล้านบาท และค่าเช่าพื้นที่ในระหว่างการก่อสร้าง 6.1 ล้านบาทต่อปี ส่วนค่าเช่าหลังก่อสร้างโครงการเสร็จแล้ว ปีละ 5 ล้านบาท ตกเดือนละไม่ถึง 5 แสนบาท บนที่ดินกลางเมืองผืนงามผืนใหญ่ถึง 63 ไร่ แถมภาครัฐโดย กทม.ยังจะใช้ภาษีของประชาชนเพื่อออกค่าใช้จ่ายในการเวนคืนที่ดินของประชาชน เพื่อสร้างถนนเข้า-ออกโครงการคอมเพล็กซ์กับถนนวิภาวดีรังสิตและทางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์ เอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนเอกชนผู้รับสัมปทานโครงการนี้ด้วย โดยมีเหตุผลหลักสำคัญคือ การมีสถานี บขส.ซึ่งเป็นบริการสาธารณะ กลับมาอยู่ในโครงการนี้ เพื่อความสมเหตุสมผลในการเวนคืนที่ดินชาวบ้าน

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้อดีตอธิบดีกรมธนารักษ์ คือ นายยุทธนา หยิมการุณ สมัยเป็นอธิบดีกรมธนารักษ์ในปี 64 เคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนต่อหน้าชาวบ้านว่า จะยกเลิกการเวนคืนที่ดินที่ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน โดยจะไม่สร้างถนนลอยฟ้า เพราะปัจจุบันอาจไม่มีความเหมาะสมแล้ว ขณะที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ปัจจุบันได้ให้สัมภาษณ์เมื่อไม่นานมานี้ว่า บขส. จะไม่ย้ายกลับมาหมอชิตเก่า จะย้ายไปอยู่บริเวณใกล้เคียงกับสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งจะทำให้ประชาชนเชื่อมต่อการเดินทางและการขนส่งได้สะดวกรวดเร็วมากกว่า.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ