เพราะอะไร? คนไทยจำนวนมาก ไม่ยื่นแบบเงินได้-ไม่เสียภาษี เทียบกรณีศึกษาต่างประเทศ มีวิธีการอย่างไร

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

เพราะอะไร? คนไทยจำนวนมาก ไม่ยื่นแบบเงินได้-ไม่เสียภาษี เทียบกรณีศึกษาต่างประเทศ มีวิธีการอย่างไร

Date Time: 4 มิ.ย. 2567 15:00 น.

Video

บรรยง พงษ์พานิช แกะปมเศรษฐกิจไทยโตต่ำ ฟื้นช้า พร้อมแนะทางออก

Summary

  • “ไม่รู้-ไม่มี-ไม่จ่าย” เพราะอะไร? คนไทยจำนวนมากไม่ยื่นแบบแสดงเงินได้ และไม่เสียภาษี เทียบวิธีจูงใจ และบทลงโทษ ระดับสากล ต่างประเทศทำอย่างไร ดึงคนเข้าสู่ "ระบบภาษี" ปลูกฝังหน้าที่พลเมืองตั้งแต่วัยเด็ก แนวทางที่ไทยควรนำมาปรับใช้ ก่อนเกิดวิกฤติการคลัง

Latest


“ทำงานอิสระ มีรายได้ไม่แน่นอน, กลัวยื่นแล้วถูกตรวจสอบภาษีย้อนหลัง, ไม่เห็นประโยชน์ของการเสียภาษี และ เสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายไปมากแล้ว"  

นี่คือข้อคำตอบหลักๆ ถึงสาเหตุที่ คนไทยจำนวนหนึ่งตัดสินใจไม่ได้ยื่นแบบภาษี แม้จะมีรายได้ถึงเกณฑ์ จากการเปิดเผยของ สภาพัฒน์ฯ หลังปรากฏข่าวใหญ่ และเป็นประเด็นน่ากังวลของสังคม เศรษฐกิจ สั่นคลอนฐานะการคลังของประเทศในอนาคต 

หลังพบว่า เมื่อปี 2565 จากจำนวนแรงงานในระบบ 19 ล้านคน แต่มีผู้ยื่นแบบภาษี เพียง 10.7 ล้านคน และท้ายสุดเหลือผู้ที่มีรายได้สุทธิที่อยู่ใน เกณฑ์ต้องเสียภาษีเพียง 4.2 ล้านคนเท่านั้น 

ขณะจากการลงพื้นที่ลงสำรวจของ สภาพัฒน์ฯ ร่วมกับ ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคม และธุรกิจ (SAB) ยังพบว่า คนไทยมากถึง 64.3% ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แบ่งเป็น ผู้ที่อยู่ในเกณฑ์ต้องยื่น 50.5% และไม่เข้าข่ายต้องยื่นภาษี 13.8%

จุดที่น่าสนใจคือ คนไทยบางส่วนไม่รู้ว่าการยื่นแบบภาษี และเสียภาษีเป็นหน้าที่ตามกฎหมาย อีกทั้งไม่เคยรับรู้ว่าการยื่นแบบฯ ไม่ได้ หมายความว่าจะต้องเสียภาษี หรือหากมีเงินได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาท จะได้รับการยกเว้นการเสียภาษี ซึ่งสัดส่วนผู้ไม่รู้ กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อย หรือมีสถานะทางการเงินที่ไม่ดี 

ไม่ได้มีเจตนาจะหลบเลี่ยง แต่ด้อยความรู้เรื่อง “ภาษี”

มาถึงตรงนี้อาจสรุปได้ว่า ไม่ใช่กลุ่มคนที่เรากำลังกล่าวถึงทั้งหมดมีเจตนาไม่ยื่นแบบภาษี แต่อาจมีสาเหตุจากปัจจัยอื่น เช่น การขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องภาษีขั้นพื้นฐาน และการไม่ทราบถึงหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขต่างๆ ในการเสียภาษี 


เช่น รายได้ประเภทใดบ้างที่ต้องนำมายื่นภาษี หรือแม้แต่ไม่เคยรับรู้มาก่อนว่า กรมสรรพากร เปิดให้ยื่นภาษีออนไลน์ได้ แม้เลยเวลากำหนดมาแล้ว รวมถึงบทลงโทษที่ว่า หากไม่ยื่นภาษีในเวลาที่กำหนด จะมีค่าปรับ 2,000 บาท ที่ส่งผลให้คนไทยบางส่วนไม่มีส่วนร่วมในระบบภาษี

นอกจากนี้ คนไทยส่วนใหญ่ยังมองว่า ระบบการจัดเก็บภาษีเงินได้ฯ ในปัจจุบันของไทยมีความเป็นธรรมค่อนข้างต่ำ จากระบบการตรวจสอบยังไม่ครอบคลุม ทำให้มีผู้ที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ไม่ต้องยื่นแบบฯ และเสียภาษี ขณะที่ผู้มีรายได้สูงบางกลุ่มมีการหลบเลี่ยงภาษี โดยอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมายเกิดความรู้สึกไม่ศรัทธาในระบบภาษี นำมาซึ่งความไม่เต็มใจในการยื่นแบบและพร้อมจ่าย ที่ยืนอยู่บนความรู้สึก “เสียไม่คุ้มได้” จ่ายเงินให้รัฐ แต่ประชากรขาดแคลนสวัสดิการ 

ผลสำรวจในชุดเดียวกันยังพบข้อท้าทายในการจูงใจกลุ่มที่ไม่ได้ยื่นแบบฯ กล่าวคือ บางส่วนระบุว่า ไม่มีปัจจัยใดเลยที่มีผลจูงใจให้ยื่นแบบฯ โดยเฉพาะกลุ่มที่ ไม่ได้ยื่นแบบฯ แม้จะอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องยื่นภาษี สะท้อนภาพ “จุดอ่อน” และ “โจทย์ยาก” ที่รัฐต้องปรับปรุง แก้ไข และพัฒนา เพื่อให้การจัดเก็บภาษีเงินได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 

เทียบแนวทางสากล ส่งเสริมคน “เสียภาษี”  

เจาะแนวทาง เทียบเคียงในระดับสากล ประเทศต่างๆ มีวิธีการอย่างไรบ้างเพื่อดึงให้ประชากรมีส่วนร่วมในระบบภาษี และเห็นความสำคัญของ “หน้าที่พลเมือง” 

  • ญี่ปุ่น : กำหนดให้มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับระบบภาษีทั้งทฤษฎี และปฏิบัติตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา 
  • สหรัฐอเมริกา : มีการกำหนดวิชา “Understanding Taxes” เป็นวิชาในหลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียน เพื่อให้ความรู้ พื้นฐานทางด้านเศรษฐศาสตร์และระบบภาษีตั้งแต่ระดับประถมศึกษา ขณะเดียวกัน 33 จาก 50 มลรัฐ เปิดโอกาสให้ชำระภาษีย้อนหลัง โดยไม่สืบสวนหรือลงโทษทางอาญา
  • มาเลเซีย และแอฟริกาใต้ : มีการจัดทำหลักสูตรเกี่ยวกับภาษีสำหรับการเรียนการสอนในโรงเรียน 
  • บังกลาเทศ และภูฏาน : ใช้วิธีจูงใจโดยให้มีการให้รางวัลแก่ผู้ที่เสียภาษีที่ดี 
  • ปากีสถาน : ให้รางวัลแก่ผู้ที่เสียภาษีที่ดี และสิทธิพิเศษอื่น เช่น บริการ Duty free และ VIP Lounge ที่สนามบินแห่งชาติ โดยมุ่งหวังให้เป็นตัวอย่าง และสร้างจิตสำนึกในการปฏิบัติตามกฎหมายภาษี
  • ออสเตรเลีย ฮังการี เม็กซิโก และโปแลนด์ : ยกเว้นและลดหย่อนเบี้ยปรับให้แก่ผู้เสียภาษีที่ต้องการเข้าสู่ระบบโดยสมัครใจ 
  • เดนมาร์ก ฟินแลนด์ อิตาลี และญี่ปุ่น : ยกเว้นโทษจำคุกให้แก่ผู้เสียภาษีที่ต้องการเข้าสู่ระบบโดยสมัครใจ
  • จีน สิงคโปร์ เบลเยียม และเดนมาร์ก : ใช้บทลงโทษดูแล โดยกำหนดเบี้ยปรับในอัตราที่สูงมาก หากแจ้งข้อมูลที่เป็นเท็จหรือไม่ครบถ้วน 
  • ฝรั่งเศส : รัฐใช้สิทธิในการเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ หรือห้ามประกอบธุรกิจสูงสุด 3 ปี หากแจ้งข้อมูลภาษีที่เป็นเท็จหรือไม่ครบถ้วน

ระบบเก็บภาษีที่เป็นธรรม แนวทางจูงใจที่ดีที่สุด 

อย่างไรก็ดี แม้ปัจจุบัน ประเทศไทย จะมีการนำแนวทางในลักษณะ การสร้างแรงจูงใจผ่านการมอบรางวัลรัษฎากรพิพัฒน์เพื่อยกย่องผู้เสียภาษีที่ดี อีกทั้งก็มีบทลงโทษสำหรับคนยื่นภาษีไม่ครบถ้วน, ยื่นแบบภาษีล่าช้า และหลีกเลี่ยงการเสียภาษี ด้วยค่าปรับ และมีโทษทางอาญา แต่จะเห็นได้ว่าการบังคับใช้บทลงโทษดังกล่าวยังเป็นไปไม่เข้มงวด และครอบคลุมทั่วถึง ผู้มีเจตนาฝ่าฝืนเกิดช่องโหว่ และสร้างความไม่พอใจและไม่เป็นธรรมให้กับผู้เต็มใจเสียภาษี 

โดยโจทย์สำคัญเร่งด่วน อาจเป็นทั้งการตรวจสอบและลงโทษผู้ที่ปฏิบัติไม่ถูกต้องอย่างเข้มงวด, การพัฒนาระบบกรอกภาษี และยื่นแบบให้สะดวก เข้าใจง่ายมากกว่านี้, การสร้างความรับรู้ และสร้างผลงานให้เห็นประจักษ์ว่าภาษีที่เสียไป ถูกนำไปใช้ประโยชน์ และสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชนอย่างไร รวมไปถึงเอาองค์ความรู้เกี่ยวกับภาษีเงินได้เข้าไปอยู่ในระบบการเรียนการสอนตั้งแต่วัยเด็ก เพื่อ สร้างความเข้าใจ และคุ้นชิน รวมถึงสร้างการตระหนักรู้ถึงหน้าที่พลเมืองที่ต้องเข้าสู่ “ระบบภาษี” ด้วย. 

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่ 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ