โตแบบ “สุขภาพดี” ของเศรษฐกิจคือ...

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

โตแบบ “สุขภาพดี” ของเศรษฐกิจคือ...

Date Time: 4 มิ.ย. 2567 05:33 น.

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

สวัสดีเดือนมิถุนายน “Pride Month” เดือนแห่งความภาคภูมิใจ เดือนแห่งเสรีภาพ ความเท่าเทียม และการเปิดรับความหลากหลายทางเพศ ซึ่งประเทศไทยถือเป็นประเทศอันดับต้นๆของโลกที่เปิดกว้างรับการ “เลือกใช้ชีวิตและความรักที่ไม่มีเพศสภาพมาเป็นเงื่อนไข” และยังเป็นเดือนเกิดของ “มิสเตอร์พี” ด้วย

ในแง่ของเศรษฐกิจเมื่อเข้าสู่เดือนมิถุนายน หมายความว่า เข้าสู่โค้งสุดท้ายของครึ่งปีแรกปี 2567 โดยหากจะให้สรุปภาพรวมเศรษฐกิจในครึ่งแรกของปีนี้ พบว่าเศรษฐกิจไทยยังคงอยู่ในช่วงฟื้นตัวอย่างช้าๆ โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากการท่องเที่ยว และการใช้จ่ายของประชาชนที่สูงขึ้น ตัวเลขเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.5% จากระยะเดียวกันปีก่อน และคาดว่าเศรษฐกิจในไตรมาส 2 จะดีต่อเนื่องและจะดีขึ้นอีกในครึ่งปีหลัง โดยหากไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้ผลแรงๆ อย่างโครงการแจกเงินหมื่นบาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต ออกมา เศรษฐกิจไทยปีนี้น่าจะโตได้ประมาณ 2.5-2.8%

แต่ตัวเลขการขยายตัวที่ต่ำกว่า 3% นั้น “ไม่น่าพอใจ” สำหรับใครหลายๆคนโดยเฉพาะเมื่อเพื่อนบ้านในภูมิภาคเดียวกันมีแนวโน้มโตพุ่งไปที่ 4-6% ในปีนี้ นอกจากนั้น ยังมีการตั้งข้อสงสัยด้วยว่า มูลค่าการบริโภคที่เพิ่มขึ้นนั้น น้ำหนักเกิดจากคนไทยมีเงินใช้จ่ายเพิ่มขึ้น หรือเพราะค่าครองชีพที่สูงขึ้นมากกว่า

ทำให้มีคำถามตามมาว่า การเติบโตแบบมีสุขภาพดี และยั่งยืน ควรจะเติบโตในอัตราเท่าไร และมีเครื่องชี้วัดอะไรที่น่าสนใจบ้าง องค์การระหว่างประเทศ ซึ่งเชี่ยวชาญทางการเงินหลายแห่งได้ประเมินการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี อยู่ในเกณฑ์ที่เรียกว่าสุขภาพดี (Healthy Rate) ไม่โตต่ำหรือร้อนแรงเกินไป ว่า ควรอยู่ที่การขยายตัว 2-3% ต่อปี ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) มองค่าเฉลี่ยทั่วโลกไว้ที่ 3-4%

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ประเทศเติบโตเฉลี่ย 2-3% ต่อปี และเป็นประเทศที่มี “เศรษฐกิจสุขภาพดี” ส่วนใหญ่จะเป็นประเทศที่มีรายได้สูง (high) หรือประเทศที่ประชากรมีรายได้ต่อหัวเฉลี่ยมากกว่า 13,845 เหรียญสหรัฐฯต่อปี (มากกว่า 498,420 บาทต่อปี) ในขณะที่การประเมินรายได้ประเทศในงบปี 2567 ของธนาคารโลก ล่าสุด จัดให้ประเทศไทยอยู่ในประเทศรายได้ปานกลางระดับบน (upper-middle) มีรายได้ต่อหัวเฉลี่ยระหว่าง 4,466-13,845 เหรียญสหรัฐฯ หรือมีรายได้ต่อหัวระหว่าง 160,776-498,420 บาทต่อปี

หมายความว่า หากประเทศไทยเติบโตในอัตรา 2-3% ต่อปีต่อไปเรื่อยๆก็จะเป็นการโตแบบเท่าทุน สัดส่วนรายได้ต่อรายจ่ายแทบไม่เพิ่มขึ้น หากโตขึ้นมาเฉลี่ยปีละ 3-4% ตามที่ไอเอ็มเอฟระบุ ก็จะดีขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง แต่เราอาจจะยังไม่สามารถยกระดับประเทศไทยจากรายได้กลาง-บน ขึ้นเป็นประเทศที่มีรายได้สูงได้

นิยามของเศรษฐกิจไทยเวลานี้ จึงอยู่ในช่วง “คนวัยทำงานตอนปลายที่มีเป้าหมายสู่การเกษียณสุข มีรายได้พอใช้จ่ายในวัยชรา” แต่ภาระที่แบกอยู่มากมาย มีรายได้ไม่สอดคล้องกัน“ หนทางจะรอดได้จำเป็นต้องเพิ่มทักษะในด้านการงาน เปลี่ยนงานที่ดีขึ้น หรือหารายได้เสริมใหม่ๆ ซึ่งในแง่ของภาพรวมของเศรษฐกิจ คือ การยกระดับปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้เข้าสู่เศรษฐกิจโลกใหม่ เพื่อให้เกิดหนทางหารายได้เพิ่มขึ้น และเข้าสู่เศรษฐกิจสุขภาพดี.

มิสเตอร์พี

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ