สงครามเย็นเศรษฐกิจระลอกใหม่

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

สงครามเย็นเศรษฐกิจระลอกใหม่

Date Time: 1 มิ.ย. 2567 05:26 น.

Summary

  • เมื่อกลางเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ ประกาศขึ้นภาษีสินค้าจากจีน โดยการเก็บภาษีเพิ่มขึ้นระหว่างร้อยละ 25 ถึง 100 การประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนครั้งนี้ สหรัฐฯอ้างถึงความจำเป็นการสร้างสมดุลทางการค้าตามกฎหมาย

Latest

ที่ยืนของ “ธุรกิจไทย” แคบลงทุกที ไทยขาดดุล “จีน” สูงขึ้นเรื่อยๆ นำเข้าสินค้า ผ่าน Shopee - Lazada

เมื่อกลางเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ ประกาศขึ้นภาษีสินค้าจากจีน โดยการเก็บภาษีเพิ่มขึ้นระหว่างร้อยละ 25 ถึง 100 การประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนครั้งนี้ สหรัฐฯอ้างถึงความจำเป็นการสร้างสมดุลทางการค้าตามกฎหมายการค้าของสหรัฐฯ มาตรา 301 ที่ให้อำนาจในการตอบโต้ทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม สินค้าที่มีการขึ้นภาษีนำเข้า อาทิ เหล็ก อะลูมิเนียม แต่ที่ต้องโฟกัสคือ รถยนต์ไฟฟ้า และ แบตเตอรี่ลิเทียม รวมทั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่นๆ ประเด็นหลักก็คือ รถยนต์ไฟฟ้าจากจีน ได้รับความนิยมสูงมากในยุโรปและอเมริกา ทำให้รถยนต์ที่ผลิตในยุโรปต้องหันมาตั้งเป้าผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแข่งกับจีน ที่มีราคาถูกกว่า ขนาด เทสล่า รถยนต์ไฟฟ้าเจ้าแรกๆ ยังเสียแชมป์ให้กับรถยนต์ไฟฟ้าที่เป็นแบรนด์จีนไปเรียบร้อยแล้ว

จะเป็นเรื่องการเมืองของสหรัฐฯที่จะมีการเลือกประธานาธิบดีกันใหม่ ในเดือน พ.ย.ที่จะถึงนี้หรือไม่ เป็นอีกเรื่อง แต่ผลกระทบไม่ได้เกิดขึ้นกับจีนแค่ประเทศเดียว ไทย และ ประเทศอื่นๆ ที่จีนไปตั้งฐานการผลิตสินค้าต่างๆก็ย่อมมีผลกระทบด้วยเช่นกัน มีการวิเคราะห์กันว่า การที่สหรัฐฯใช้มาตรา 301 ที่เป็นยาแรงในการตอบโต้จีน เท่ากับว่าเป็นการประกาศ สงครามการค้า รอบใหม่ ที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้น

จีนเองหันไปจับมือเจรจาการค้าการลงทุนกับเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ในฐานะพันธมิตรทางการค้าที่สำคัญ อีกด้านหนึ่งจีนเตรียมระบายสินค้าไปยังประเทศเป้าหมายอื่นๆ ในจำนวนนั้นย่อมมีประเทศไทยอยู่ด้วยแน่นอน รวมทั้งสินค้าต้องห้ามที่ผลิตในประเทศไทยก็จะถูกเพ่งเล็งเฝ้าระวังว่าเป็นสินค้าของจีนหรือไม่ เพราะจีนมีการลงทุนตั้งโรงงานผลิตสินค้าจำนวนมากจากไทย

ปัจจุบัน ไทยขาดดุลการค้ากับจีน ที่ 1.3 ล้านล้านบาท (ในขณะที่เราดีใจว่ามีนักท่องเที่ยวจากจีนมาเที่ยวบ้านเรามากที่สุด) ในอีกปีสองปี เราจะขาดดุลเพิ่มเป็น 1.5-1.6 ล้านล้านบาท

การประกาศตัวเลขทางเศรษฐกิจไทย ในไตรมาสที่ 1 ของสภาพัฒน์ ขยายตัวได้แค่ร้อยละ 1.5 ทำให้มีการปรับลดจีดีพีลงมาจากการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจจากประมาณร้อยละ 2.7 เหลือร้อยละ 2.5

ที่ผ่านมาเม็ดเงินการลงทุนจากต่างประเทศผ่าน บีโอไอ อยู่ที่ 6-8 แสนล้านบาท แต่เมื่อเทียบกับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในประเทศในอาเซียนด้วยกัน เรายังอยู่ในอันดับท้ายๆ อินโดนีเซีย มีการลงทุนจากต่างชาติ 21,701 ล้านดอลลาร์ มาเลเซีย 18,500 ล้านดอลลาร์ เวียดนาม 8,255 ล้านดอลลาร์ ส่วนไทย อยู่ที่ 2,969 ล้านดอลลาร์

ที่น่าสังเกตคือ การผลิตและการส่งออกของไทย ที่ลดลง คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 54.5 ของ จีดีพี ในไตรมาสแรกของปี 2567 มูลค่าการส่งออก ของไทยปรับตัวลดลงร้อยละ 1 ดัชนีการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 3.7 ติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 6

บรรทัดสุดท้ายขอยกคำพูดของอดีตนายกฯอานันท์ ปันยารชุน ที่ไปกล่าวไว้ในการสัมมนา ฉากทัศน์อนาคตสังคมไทย “ปัญหาหลักของประเทศไทยคือการขาดโอกาส วิกฤติศรัทธาในระบบการเมือง ทำให้ประชาชนโดยเฉพาะคนอายุน้อยๆ ไม่เห็นโอกาสในการสร้างชีวิตในประเทศไทย นิยมย้ายไปต่างประเทศ ทำให้ประเทศไทยเสี่ยง ขาดมันสมองและแรงงานสร้างชาติในอนาคต”.


หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th

คลิกอ่านคอลัมน์ “คาบลูกคาบดอก” เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ