เปิดจักรวาล “คนจน” เมื่อคนไทย 1 คน จนมากกว่าที่คิด! “เส้นยากจน” วัดกันอย่างไร?

Economics

Thailand Econ

Tag

เปิดจักรวาล “คนจน” เมื่อคนไทย 1 คน จนมากกว่าที่คิด! “เส้นยากจน” วัดกันอย่างไร?

Date Time: 31 พ.ค. 2567 13:39 น.

Video

ล้วงไส้ TEMU อีคอมเมิร์ซจีน บุกไทย ทำไมอาจสร้างวิบากกรรมกว่าที่คิด ? | Digital Frontiers

Summary

  • ส่องสถานการณ์ “คนจน” ในประเทศไทย เมื่อคนไทย 1 คน จนมากกว่าที่คิด! ชวนทำนายอนาคต เศรษฐกิจไทย เมื่อผู้สูงวัย 34% มีรายได้ต่ำกว่า “เส้นยากจน” มาตรวัด รวย-จน แบ่งกันอย่างไร? แล้วเมื่อไรไทยจะหลุดจากฐานะประเทศรายได้ปานกลาง

Latest


ก่อนหน้านี้ “Thairath Money” นำเสนอประเด็นข่าวเศรษฐกิจไทย กำลังเผชิญกับความท้าทายใหญ่ ไม่ใช่แค่โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป ปัญหาคนแก่ล้นเมืองเท่านั้น แต่งานวิจัยยังพบว่า 34% ของผู้สูงวัยในไทย ยังมีรายได้ต่ำกว่า “เส้นยากจน” (Poverty Line) 

ขณะที่แรงงานภาคเกษตรมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนเพียงคนละ 6,975 บาทเท่านั้น นั่นหมายถึงเศรษฐกิจกำลังสุกง่อม ตามอายุของประชากรส่วนใหญ่ ภายใต้คนบางส่วน ไม่ใช่แค่อยู่ในภาวะมีกำลังการจับจ่ายใช้สอยน้อย แต่แม้แต่การหา “รายได้” ประทังชีวิต ยังต้องดิ้นรนกันแบบรายวัน

ข้อมูลวิจัยของ Worldbank ระบุ แม้ตั้งแต่ปี 2531 เป็นต้นมา กรุงเทพฯ มีการเปลี่ยนแปลง สามารถลดความยากจนได้ประมาณ 10% ต่อปี แต่ด้วยประเทศไทย เป็นเมืองเกษตรกรรม คนแต่ละภูมิภาคยังพึ่งพาการเกษตร เป็นแหล่งรายได้ที่พร้อมจะเผชิญปัจจัยแปรปรวน น้ำท่วม น้ำแล้ง ตลอดเวลา ราคาซื้อ-ขายพืชผล จึงขึ้นลงตามสภาพอากาศ ทำให้ “ประเทศไทย” ยังคงติดกับดักอยู่ในตำแหน่งประเทศรายได้ปานกลางมาเป็นเวลานานแล้ว 

อย่างไรก็ดี “คนจน” ไม่ได้ยืนอยู่บนมิติในแง่รายได้ต่ำ กำหนดด้วยปริมาณเงินในกระเป๋าต่อเดือน/ต่อปีเท่านั้น แต่จากข้อมูลวิเคราะห์ของ ระบบ TPMAP หรือ Thai People Map and Analytics Platform ซึ่งถือเป็นระบบ Big Data ของภาครัฐที่สามารถระบุได้ว่า คนจนนั้นอยู่ที่ไหน มีปัญหาในมิติอะไรบ้าง? 

พบว่าอัปเดตปี 2566 ภาพรวมคนจนของประเทศไทย (เป้าหมายที่ต้องได้รับการช่วยเหลือจากรัฐ) มีจำนวนอยู่ที่ 655,365 คน ทั้งนี้ มาจากประชากรสำรวจ 36,130,610 คน โดยวัดจาก 5 มิติด้วยกัน และพบว่าคนจน 1 คน มีปัญหาได้มากกว่า 1 ด้าน

  1. ด้านสุขภาพ 
  2. ด้านความเป็นอยู่ 
  3. ด้านการศึกษา 
  4. ด้านรายได้ 
  5. ด้านการเข้าถึงบริการรัฐ 

ยกตัวอย่าง ในเกณฑ์ด้านความเป็นอยู่ รัฐจะพิจารณาจากเงื่อนไขหลักๆ เช่น 

  • ครัวเรือนมีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย และบ้านมีสภาพคงทนถาวรหรือไม่
  • ครัวเรือนมีน้ำสะอาดสำหรับดื่มและบริโภคเพียงพอตลอดปี อย่างน้อยคนละ 5 ลิตรต่อวันหรือไม่ 
  • ครัวเรือนมีน้ำใช้เพียงพอตลอดปี อย่างน้อยคนละ 45 ลิตรต่อวันหรือไม่
  • ครัวเรือนมีการจัดการบ้านเรือนเป็นระเบียบเรียบร้อย สะอาด และถูกสุขลักษณะหรือไม่ 

ขณะในมาตรวัดด้านรายได้ ประเมินจากช่วงอายุ อาชีพ และรายได้ที่เหมาะสมทั้งรายบุคคลและระดับครัวเรือน นอกจากนี้ จำนวนคนจนยังถูกนับเข้ามาจากข้อมูลผู้ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ กระทรวงการคลังอีกด้วย 

เจาะความหมายของรัฐเกี่ยวกับมิติความยากจน คือ 1. จนเงิน ไม่มีเงิน ขาดเงินทุน เข้าไม่ถึงแหล่งทุน 2. จนทางสังคม ขาดสถานะทางสังคม 3. จนทางวัฒนธรรม ขาดการมีส่วนร่วม 4. จนทางการศึกษา ด้อยโอกาส และขาดความรู้ความสามารถ 5. จนทางการเมือง 6. จนทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่มีโอกาสได้สิทธิในการใช้ประโยชน์ และ 7. จนทางจิตวิญญาณ ขาดการมีโอกาสใช้ความคิดริเริ่มใหม่ๆ 

อย่างไรก็ดี จากที่ระบุตัวเลขดังกล่าว มาจากตัวอย่างการสำรวจราว 36 ล้านคนเท่านั้น ทำให้ฐานข้อมูลค่อนข้างแตกต่างจากข้อมูลของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ประมวลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ และมีข้อมูลสรุปว่า ปัจจุบันไทยมีคนยากจน (ตามดัชนี MPI) ราว 4.4 ล้านคน และอีกก้อนคือกลุ่มที่มาลงทะเบียนกับรัฐ (บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ) รวม 11.4 ล้านคน 

เจาะเชิงลึก อ้างอิงข้อมูลชุดของระบบ TPMAP 

5 อันดับ คนจน “มากสุด”

  • เชียงใหม่ 
  • นครศรีธรรมราช
  • อุดรธานี
  • กระบี่
  • บุรีรัมย์ 

5 อันดับ คนจน “น้อยสุด”

  • สมุทรสาคร
  • ตราด
  • สมุทรสงคราม
  • แพร่
  • พังงา 

รายได้เท่าไร ถึงเรียกว่า “จน” 

วิเคราะห์แง่รายได้ ที่ใช้ตัดเส้นความยากจนตามรายภูมิภาค ดังนี้ 

  • กทม. : ต่ำกว่า 3,556 บาท/เดือน
  • ภาคกลาง : ต่ำกว่า 3,175 บาท/เดือน
  • ภาคเหนือ : ต่ำกว่า 2,678 บาท/เดือน
  • ภาคอีสาน : ต่ำกว่า 2,684 บาท/เดือน
  • ภาคใต้ : ต่ำกว่า 3,036 บาท/เดือน 

ครั้งหนึ่ง “เบอร์กิท ฮานสล์” ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย ช่วงปี 2561 เคยกล่าวไว้ว่า “แนวโน้มความยากจนในช่วงที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าแม้ประเทศไทยจะมีการพัฒนาการด้านเศรษฐกิจที่ดีในระดับหนึ่ง แต่กระนั้นครัวเรือนก็ยังมีความเปราะบางต่อภาวะการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง และภาวะเศรษฐกิจอ่อนแอ”

ทั้งนี้ การที่ประเทศไทยจะก้าวสู่สถานะประเทศที่มีรายได้สูงอย่างที่ตั้งเป้าหมายไว้ได้นั้น ครัวเรือนของประเทศไทยต้องได้รับการปกป้องจากการที่รายได้ของครัวเรือนปรับลดลงรุนแรง เช่น จากความเจ็บป่วย การตกงาน และภัยธรรมชาติที่ดีกว่านี้ ที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ประเทศไทยต้องสนับสนุนให้มีการสร้างงานที่มีผลิตภาพ และงานที่มีค่าจ้างที่สูงกว่านี้...

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ Thairath Money ได้ที่ 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

อุมาภรณ์ พิทักษ์

อุมาภรณ์ พิทักษ์
เศรษฐกิจ การเงิน ลงทุน และ อสังหาริมทรัพย์