ให้กำลังใจ “ประเทศไทย”ฝ่า “สงครามเศรษฐกิจ”

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ให้กำลังใจ “ประเทศไทย”ฝ่า “สงครามเศรษฐกิจ”

Date Time: 30 พ.ค. 2567 05:23 น.

Summary

  • เมื่อค่ำๆวันจันทร์ที่ผ่านมา ผมนั่งดูข่าวทีวี “ไทยรัฐนิวส์โชว์” เห็นภาพนายกฯเศรษฐา ทวีสิน เรียกประชุม ครม.เศรษฐกิจนัดแรกแล้วก็รู้สึกมีขวัญมีกำลังใจขึ้นเยอะ

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

เมื่อค่ำๆวันจันทร์ที่ผ่านมา ผมนั่งดูข่าวทีวี “ไทยรัฐนิวส์โชว์” เห็นภาพนายกฯเศรษฐา ทวีสิน เรียกประชุม ครม.เศรษฐกิจนัดแรกแล้วก็รู้สึกมีขวัญมีกำลังใจขึ้นเยอะ

เพราะอย่างที่เราทราบกันดีอยู่แล้วว่าปัญหาเศรษฐกิจของโลกยังไม่คลี่คลาย ผลร้ายจากโควิด-19 ระบาดยังถูกกระหน่ำซ้ำด้วยสงครามทั้งที่รัสเซียยูเครนและที่ตะวันออกกลางอย่างไม่มีทีท่าว่าจะหยุดง่ายๆ

เผอิญโชคร้ายของประเทศไทยเราที่มีการเปลี่ยนรัฐบาลในช่วงจังหวะที่จะจัดทำงบประมาณประจำปีเข้าพอดี ทำให้การจัดทำและการใช้งบประมาณปี 2567 ต้องล่าช้ากว่ากำหนดไปมาก

ส่งผลให้เครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญตัวหนึ่ง อันได้แก่ การลงทุนหรือการใช้จ่ายภาครัฐบาลต้องแผ่วลงไป

ประกอบกับเครื่องยนต์ด้านการส่งออกก็พลอยแผ่วลงไปด้วย ทำให้ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจหรืออัตราเพิ่มของจีดีพีของเราตํ่ากว่าเป้าหมายที่คาดไว้ แถมยังต่ำกว่าเพื่อนๆในอาเซียนเสียอีกด้วย

ดังนั้น การดำริให้รื้อฟื้นระบบ “คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ” ขึ้น และเชื้อเชิญรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ รวมถึงหน่วยงานหลักของภาครัฐที่มีบทบาทสำคัญ มาประชุมร่วมกันเพื่อหาทางแก้ปัญหา จึงเป็นเรื่องที่ถูกต้องและสมควรดำเนินการอย่างยิ่ง

คำว่า “ครม.เศรษฐกิจ” นั้นเป็นชื่อเรียกของสื่อมวลชนอย่างไม่เป็นทางการ ตั้งขึ้นครั้งแรกในยุครัฐบาล “ป๋าเปรม” ดูเหมือนจะมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า คณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เรียกย่อๆว่า “รศก.” เป็นกรรมการชุดหนึ่งที่ตั้งโดยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี

มิได้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในตัวเองเมื่อมีมติอย่างไรแล้วยังจะต้องนำเสนอให้ ครม.ตัวจริงเป็นผู้อนุมัติซ้ำอีกครั้งหนึ่ง

แต่ประโยชน์ของคณะกรรมการชุดนี้ก็คือการทำงานที่คล่องตัว สามารถตัดสินใจและมีมติได้รวดเร็วกว่าการไปรอคิวเข้า ครม.ใหญ่

อย่างไรก็ดี แม้การมีคณะกรรมการชุดนี้จะทำให้ช่วยย่นระยะในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้เร็วขึ้น...แต่ผลลัพธ์หรือความสำเร็จที่แท้จริงนั้นจะขึ้นอยู่กับ ฝ่ายเลขานุการ ซึ่งเป็นข้าราชการประจำเป็นสำคัญ

นับว่าเป็นโชคดีของประเทศไทยในยุคที่ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี และได้ท่านเลขาธิการสภาพัฒน์ยุคนั้น ดร.เสนาะ อูนากูล ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่รู้จริงรู้รอบด้าน รวมทั้งเป็นนักประสานงานที่ดีเยี่ยม มาเป็นกรรมการเลขานุการ

ความสำเร็จของกรรมการชุดนี้ในยุคป๋าเปรม ทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากปัญหาเศรษฐกิจตกตํ่าจนต้องประกาศลดค่าเงินบาทครั้งใหญ่ไปได้...จากนั้นก็เกิดการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมใหม่อย่างรวดเร็ว รวมทั้งการพัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออก จนประเทศไทยกลายเป็น “เสือตัวที่ 5” แห่งเอเชีย จากการตั้งฉายาของสื่อต่างประเทศ

ผมเห็นภาพจากจอโทรทัศน์เมื่อวันก่อนแล้วก็ยิ้ม เพราะเห็นท่านเลขาธิการสภาพัฒน์ท่านปัจจุบันนั่งอยู่ในที่ที่เลขานุการควรนั่งเคียงข้างกับท่านผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และท่านปลัดกระทรวงการคลัง

ช่างเหมือนกับที่ท่านเลขาธิการ ดร.เสนาะ อูนากูล ยุคโน้น นั่งเคียงข้างท่านปลัดคลังและท่านผู้ว่าการแบงก์ชาติยุคโน้นอย่างไรอย่างนั้น

คุณเศรษฐาจะอยู่หรือไป ผู้สันทัดกรณีหลายท่านบอกว่าศาลรัฐธรรมนูญน่าจะใช้เวลาพิจารณาประมาณ 2 เดือน...ซึ่งในสถานการณ์เศรษฐกิจขณะนี้ เป็น 2 เดือนที่มีความหมายอย่างมาก

การที่ท่านยังทำงานยังขยันทุ่มเทแม้จะมีเสียงนินทาว่าจุ๊บจิ๊บรำป้อยังไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน แต่ผมว่าเป็นการทำงานที่ถูกต้องแล้ว เพราะการเดินสาย การพูดจา การสร้างความเชื่อมั่น เป็นสิ่งสำคัญของโลกยุคปัจจุบัน จึงขอให้ท่านทำต่อไปควบคู่กับการหันมาเน้นงานหลักในบ้านเราเองให้มากขึ้น

ยํ้าอีกครั้งครับว่า ผมไม่ได้เชียร์นายกฯเศรษฐาแต่อย่างใด และมิได้เชียร์ใครทั้งสิ้น นอกเสียจากเชียร์ประเทศไทยและอยากเห็นประเทศไทยฝ่าฟันเอาชนะสงครามเศรษฐกิจครั้งนี้ไปได้ในที่สุด

ที่สำคัญขอให้ใช้เวทีกรรมการชุดนี้เพื่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่อยู่ในครรลองคลองธรรม เป็นที่ยอมรับของนักเศรษฐศาสตร์ทั่วไปนะครับ... อย่านำโครงการที่นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากไม่ยอมรับอย่างการ “แจกเงินดิจิทัล” มาพูดในเวทีนี้เป็นอันขาด

ประชุมคราวหน้าผู้ว่าการแบงก์ชาติลาประชุมก็กร่อยเลย!

“ซูม”

คลิกอ่านคอลัมน์ “เหะหะพาที” เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ