คนไทยเครียดสะสม มีปัญหาสุขภาพจิต พุ่ง 10 ล้านคน สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก 7 ใน 10 วัยทำงาน กำลัง “หมดไฟ”

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

คนไทยเครียดสะสม มีปัญหาสุขภาพจิต พุ่ง 10 ล้านคน สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก 7 ใน 10 วัยทำงาน กำลัง “หมดไฟ”

Date Time: 28 พ.ค. 2567 09:37 น.

Video

คนไทยจ่ายภาษีน้อย มนุษย์เงินเดือนรับจบ ปัญหาอยู่ที่ระบบหรือคนกันแน่ ? | Money Issue

Summary

  • สภาพัฒน์ฯ เผย คนไทย เผชิญภาวะ เครียดสะสม มีปัญหาสุขภาพจิตพุ่ง! 10 ล้านคน สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก เสี่ยงซึมเศร้า-ฆ่าตัวตาย สูงขึ้น จากภาวะแรงกดดันทางสังคมและเศรษฐกิจ ขณะ 7 ใน 10 วัยทำงาน กำลัง “หมดไฟ”รับตำแหน่ง กรุงเทพฯ ขึ้นแท่นเมืองที่คนทำงานหนักติดอันดับโลก สะเทือน “เศรษฐกิจโลก” 1 ล้านล้านดอลลาร์

Latest


ข้อมูลจาก สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เผยว่า “ปัญหาสุขภาพจิต” ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในสังคมไทย เมื่อกรมสุขภาพจิต พบว่า มีผู้ป่วยจิตเวชเข้ารับบริการเพิ่มขึ้น จาก 1.3 ล้านคน ในปี 2558 เป็น 2.9 ล้านคน ในปี 2566 

7 ประเด็นน่ากังวล แนวโน้มสุขภาพจิตในสังคมไทย

  1. แม้ว่าประเทศไทยจะมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษา 2.9 ล้านคน แต่ผู้มีปัญหาอาจมากถึง 10 ล้านคน ทำให้สัดส่วนผู้มีปัญหาสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับโลก และสะท้อนให้เห็นว่ายังมีผู้ที่ไม่ได้เข้ารับรักษาเป็นจำนวนมาก
  2. ผู้มีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตมีสัดส่วนสูงเช่นกัน (1 ตุลาคม 2566 - 22 เมษายน 2567) พบผู้มีความเครียดสูงถึง 15.48% เสี่ยงซึมเศร้า 17.20%  และเสี่ยงฆ่าตัวตาย 10.63% ซึ่งแย่ลงกว่าในช่วงปีที่ผ่านมา
  3. ปัญหาสุขภาพจิตไม่เพียงกระทบต่อตนเอง แต่ยังส่งผลต่อเศรษฐกิจมากกว่าที่คาดคิด องค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า ภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวลของประชากรทั่วโลก ทำให้วันทำงานหายไปประมาณ 1.2 หมื่นล้านวัน สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ 
  4. เกือบ 1 ใน 5 ของผู้มีปัญหาสุขภาพจิตไม่สามารถดูแลตนเองได้ ทำให้ครัวเรือนต้องจัดหาผู้ดูแล และเป็นการสูญเสียทรัพยากรบุคคลเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง (SMI-V) ไม่ถึง 1 ใน 4 ที่ได้รับการติดตามดูแลและเฝ้าระวังตามแนวทางที่กำหนด 
  5. สภาพทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีความกดดันส่งผลให้คนไทยเป็นโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวลมากขึ้น ในปีงบประมาณ 2566 พบสัดส่วนผู้ป่วยกลุ่มโรควิตกกังวลและโรคซึมเศร้า สูงเป็น 2 อันดับแรก สูงกว่าผู้ป่วยติดยาบ้าและยาเสพติดอื่นๆ รวมกัน
  6. การฆ่าตัวตายสูงใกล้เคียงกับช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง ในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 พบว่า มีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 7.94 ต่อประชากรแสนคน ใกล้เคียงช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง (8.59 ต่อประชากรแสนคน) 
  7. ปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นปัจจัยภายนอกที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตภายใน จากการศึกษาในประเทศอังกฤษ พบว่า มลพิษทางอากาศส่งผลให้เกิดภาวะซึมเศร้าในเยาวชนเพิ่มขึ้น 20% ซึ่งไทยต้องเฝ้าระวังเนื่องจากกำลังประสบปัญหาฝุ่น PM 2.5 สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก 

เด็ก-เยาวชน และวัยทำงาน เผชิญภาวะเครียดสะสม 

นอกจากนี้หากพิจารณาตามช่วงวัย ยังพบอีกหลายข้อห่วงใย โดยเฉพาะสถานการณ์ วัยเด็กและเยาวชนมีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้น จากสาเหตุหลักจากการเรียนและความคาดหวังด้านการทำงานในอนาคต และสถานะทางการเงินของครอบครัว นอกจากนี้การกลั่นแกล้งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า 

ขณะ วัยทำงาน ความรับผิดชอบสูง และหลายปัญหารุมเร้า บริษัท Kisi พบว่า ในปี 2565 กรุงเทพฯ อยู่ในอันดับ 5 จาก 100 เมืองทั่วโลกที่มีผู้คนทำงานหนักเกินไป สอดคล้องกับมหาวิทยาลัยมหิดล ที่พบว่า คนกรุงเทพฯ 7 ใน 10 หมดไฟในการทำงาน 

อีกทั้ง ข้อมูลจากสายด่วน 1323 ของกรมสุขภาพจิต พบว่า ปี 2566 วัยแรงงานขอรับบริการเรื่อง ความเครียด วิตกกังวล ไม่มีความสุขในการทำงานถึง 5,989 สาย จากทั้งหมด 8,009 สาย 

เช่นเดียวกับ ภาวะของ “ผู้สูงวัย” ต้องอยู่กับ ความเหงาและโดดเดี่ยว สูญเสียคุณค่าในตนเอง ในปี 2566 พบว่า ผู้สูงอายุ 84.93% มีความสุขในระดับที่ดี แต่จะลดน้อยลงตามวัย ส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดกิจกรรมและบทบาททางสังคม อีกทั้งยังพบผู้สูงอายุที่ต้องอยู่คนเดียวเพิ่มขึ้น และมีผู้สูงอายุอีก 8 แสนคน มีภาวะความจำเสื่อม ซึ่งส่วนใหญ่มีปัญหาสุขภาพจิตด้านอื่นร่วมด้วย.

ที่มา : สภาพัฒน์ 

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่ 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ