วิทยุการบินปรับกลยุทธ์ครั้งใหญ่ เปิดเส้นทางคู่ขนาน-ลดคอขวดรับ "การบิน" เฟื่องฟู

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

วิทยุการบินปรับกลยุทธ์ครั้งใหญ่ เปิดเส้นทางคู่ขนาน-ลดคอขวดรับ "การบิน" เฟื่องฟู

Date Time: 25 พ.ค. 2567 05:30 น.

Summary

  • “วิทยุการบิน” เร่งปรับตัวรับอุตสาหกรรมการบินในประเทศกลับมาโตแบบก้าวกระโดด เดินหน้าปรับโครงสร้างเส้นทางบิน จากเส้นทางบินทางเดียวเป็นเส้นทางบินคู่ขนาน พร้อมออกแบบพัฒนาห้วงอากาศ ลดปัญหาคอขวด เส้นทางบินเข้า– ออกใหม่ หวังเพิ่มเส้นทางบินในประเทศและเส้นทางเอเชียเพิ่มขึ้น

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ในฐานะประธานคณะกรรมการ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) เปิดเผยถึงแผนการรับมือการพัฒนาระบบจราจรทางอากาศ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมการบินในประเทศไทยเติบโตแบบก้าวกระโดด ว่า บวท.ดูแลรับผิดชอบเรื่องการจัดจราจรทางอากาศในประเทศ โดยปัจจุบันประเทศไทยมีปริมาณเครื่องบินที่ทำการบินเข้าออกจำนวนมาก มีปริมาณเทียบเท่ากับก่อนวิกฤติโควิดปี 62 ดังนั้น บวท.จึงได้เตรียมการรองรับปริมาณจราจรทางอากาศที่เพิ่มขึ้น และเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่การเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการเดินอากาศให้มีเส้นทางบินใหม่ๆเพื่อขึ้นมารองรับ

รุกปรับโครงสร้างเส้นทางบินใหม่

ทั้งนี้ บวท.มีนโยบายที่จะปรับปรุงโครงสร้างเส้นทางบินใหม่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถรองรับปริมาณเที่ยวบิน จากปัจจุบันที่เป็นรูปแบบเส้นทางบินทางเดียว (Single Route) จะพัฒนาให้เป็นเส้นทางบินคู่ขนาน (Parallel Routes) ซึ่งการดำเนินการนี้จะเป็นความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาค ในการเชื่อมต่อเส้นทางบินระหว่างประเทศเพื่อรองรับปริมาณเที่ยวบิน เพิ่มความคล่องตัวของการจราจรทางอากาศ ช่วยลดระยะทางการบิน ลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นการเพิ่มขีดความสามารถรองรับปริมาณจราจรทางอากาศได้จากทุกทิศทางที่มายังประเทศไทย

นอกจากนั้น บวท.ยังมีการออกแบบพัฒนาห้วงอากาศ และเส้นทางบินเข้า-ออก สำหรับกลุ่มสนามบินที่มีความซับซ้อนของการจราจรทางอากาศสูง (Metroplex) แบ่งออกเป็น กลุ่มที่ 1 สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง สนามบินอู่ตะเภา, กลุ่มที่ 2 สนามบินภูเก็ต สนามบินกระบี่ สนามบินอันดามัน (พังงา) และ กลุ่มที่ 3 สนามบินเชียงใหม่ สนามบินลำปางและสนามบินล้านนา (ลำพูน) ซึ่งจะทำให้โครงสร้างพื้นฐานการเดินอากาศของประเทศไทยมีศักยภาพมากขึ้น

เสริมเทคโนโลยีเพิ่มศักยภาพจราจร

นายพิเชฐ กล่าวต่อว่า เพื่อให้การจัดจราจรทางอากาศมีประสิทธิภาพมากที่สุด บวท.ยังได้มีการวิเคราะห์ความสามารถสูงสุดในการรองรับอากาศยานของสนามบินแบบจำลอง Fast-time Simulation ด้วยการใช้ระบบ 3D Simulator เข้ามาใช้ในการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศ เพื่อให้ปฏิบัติงานได้ในทางวิ่งที่มีความหนาแน่นสูงสุด จะทำให้รู้ถึงความสามารถในการรองรับเครื่องบินของสนามบินหลักๆ ไม่ว่าจะเป็นสนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต ว่าเพิ่มขึ้นได้เท่าไหร่

อีกทั้ง ยังได้นำแนวทางบริหารจัดการความคล่องตัวการจราจรทางอากาศ (Air Traffic Flow Management : ATFM) ผ่านระบบบริหารจัดการเที่ยวบินขาเข้า (Arrival Manage ment : AMAN) และการบริหารจัดการเที่ยวบินขาออกด้วยระบบ Intelligent Departure Enhancement Program (iDEP) ตามโครงการ Airport Collaborative Decision Making (A-CDM) ซึ่งเป็นนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ทำให้ บวท.สามารถเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงที่สนามบินเชียงใหม่ เชียงราย และหาดใหญ่รวมถึงขยายเวลาเปิดสนามบินภายในประเทศในส่วนภูมิภาคอีกด้วย

จัดแบ่งสลอตทหารเสริมเส้นทางบิน

นายพิเชฐกล่าวเสริมต่อ ถึงการจัดแบ่งสลอตการบินระหว่าง บวท.กับหน่วยงานทางความมั่นคง เพื่อเพิ่มช่องทางเส้นทางบินใหม่ๆให้เพิ่มมากขึ้น และให้ไม่เกิดจุดตัด มีความคืบหน้าอย่างไรนั้นว่า ที่ผ่านมาเรื่องนี้ บวท.ได้ประสานงานกับหน่วยงานภาคความมั่นคงอย่างใกล้ชิดในการใช้งานห้วงอากาศ เพื่อผลประโยชน์แห่งชาติร่วมกัน ผ่านศูนย์บริหารห้วงอากาศประเทศไทย และคณะกรรมการห้วงอากาศร่วมระหว่างพลเรือนและทหาร หรือ Thai CMAC เพื่อการใช้งานพื้นที่ห้วงอากาศร่วมกันแบบยืดหยุ่น (Flexible Use Of Airspace : FUA)

โดยความร่วมมือจะสามารถกำหนดเส้นทางบินผ่านพื้นที่ฝึกทางการทหาร ในช่วงเวลาทางทหารไม่ได้ใช้งาน ซึ่งจะทำให้ทาง บวท. สามารถกำหนดเส้นทางเชิงพาณิชย์ได้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวันหยุดยาวหรือในช่วงเทศกาล ซึ่งจะช่วยเพิ่มความคล่องตัวจราจรทางอากาศ และรองรับปริมาณเที่ยวบินได้เพิ่มขึ้น

หนุนฮับการบินในภูมิภาค

นายพิเชฐกล่าวต่อว่า การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางทางการบินในภูมิภาคได้นั้น ปัจจัยที่สำคัญคือ ต้องมีเส้นทางบินเข้า-ออกประเทศที่มีประสิทธิภาพ ไม่มีปัญหาเรื่องคอขวดของเส้นทางบิน รวมถึงเส้นทางบินในประเทศต้องสามารถเชื่อมโยงกับต่างประเทศได้ ซึ่งจากปัจจัยต่างๆเหล่านี้ถือเป็นต้นทุนของสายการบินและส่งผลให้ราคาบัตรโดยสารสูงขึ้น ดังนั้น บวท.จึงมีนโยบายที่ชัดเจนว่าจะต้องพัฒนาเส้นทางบินในประเทศให้รองรับกับปริมาณจราจรทางอากาศที่สูง แล้วนำประสบการณ์และความรู้ในด้านปฏิบัติการและวิศวกรรม ไปดำเนินธุรกิจเกี่ยวเนื่องสนับสนุนประเทศเพื่อนบ้าน ในการพัฒนาและยกระดับโครงสร้างพื้นฐานระบบด้านการบินให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น

นอกจากนี้ บวท.ยังได้นำเทคโนโลยีการบินสมัยใหม่ในด้านการสื่อสารข้อมูลปฏิบัติการบิน ที่ช่วยในการสื่อสารแบบข้อความข่าวสาร ระหว่างนักบิน ผู้ควบคุมการจราจรทางอากาศ และสายการบินมาใช้ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งปัจจุบัน บวท. เป็นศูนย์กลางด้านระบบเทคโนโลยีสื่อสารข้อมูลปฏิบัติการบินในภูมิภาค ดูแลสถานีสื่อสารข้อมูลปฏิบัติการบินตั้งแต่ประเทศมองโกเลีย ลงไปจนถึงนิวซีแลนด์ และจากเกาหลีใต้ด้านตะวันออกไปจนถึงอินเดียด้านตะวันตก ปัจจุบันมีสถานีฐานรวม 157 สถานี ใน 15 ประเทศ ตามเส้นทางการบินที่สำคัญในภูมิภาค และยังคงเดินหน้าดำเนินการขยายสถานีฐานให้ครอบคลุมทั้งภูมิภาค

“ทั้งหมดนี้เป็นการสร้างรายได้ให้กับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องทั้งในและต่างประเทศของ บวท. เช่น การให้บริการระบบวิทยุสื่อสารในกลุ่มด้านการบินและ Logistic การให้บริการข้อมูลการบินและการวิเคราะห์ผลสำหรับสายการบิน บริการการบินทดสอบเครื่องช่วยเดินอากาศประจำสนามบิน การให้บริการติดตั้งและซ่อมบำรุงเครื่องช่วยการเดินอากาศ การให้บริการฝึกอบรมบุคลากร เป็นที่ปรึกษาด้านการพัฒนากิจการเดินอากาศ เป็นต้น”.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ