บอร์ด รฟท.ให้ "ซีพี" หาแบงก์การันตี แก้ไขสัญญารถไฟเชื่อมสามสนามบินกลับมายืนที่เดิม

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

บอร์ด รฟท.ให้ "ซีพี" หาแบงก์การันตี แก้ไขสัญญารถไฟเชื่อมสามสนามบินกลับมายืนที่เดิม

Date Time: 24 พ.ค. 2567 07:01 น.

Summary

  • บอร์ดรถไฟฯกลับมานับหนึ่งแก้ไขสัญญาไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบิน ตามเงื่อนไขเดิมที่คู่สัญญาเคยเจรจากันไว้ เร่งซีพีหาแบงก์การันตี 119,000 ล้านบาท ประเด็นใหม่ยอมตัดเงื่อนไขรับบัตรส่งเสริมบีโอไอ เพื่อให้ รฟท.ออกหนังสืออนุญาตเข้าพื้นที่ หวังตอกเสาเข็มในปีนี้ เปิดให้บริการในปี 2572 เตรียมส่ง ครม.เคาะต่อ

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

นายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด ร.ฟ.ท.) ว่า ที่ประชุมบอร์ดได้รับทราบ เรื่องหลักการแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน และวิกฤตการณ์ของระบบสถาบันการเงิน โดย ร.ฟ.ท.รายงานผลเจรจากับบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ซึ่งอยู่ภายใต้เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือกลุ่มซีพี ซึ่งเป็นคู่สัญญาในโครงการดังกล่าว เพื่อหาแนวทางในการขับเคลื่อนโครงการอย่างต่อเนื่อง เพราะเมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา เป็นกำหนดสิ้นสุดที่เอกชนได้รับการขยายเวลาจากบีโอไอ ครั้งที่ 3 หากไม่หาทางออกจะส่งผลกระทบต่อโครงการ ทั้งนี้ หลักการที่ ร.ฟ.ท.นำเสนอมีเป้าหมายโดยภาครัฐต้องไม่เสียผลประโยชน์เกินกรอบสัญญา ส่วนภาคเอกชนต้องไม่ได้รับผลประโยชน์เกินควร

สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนโครงการนี้ จากการหารือกับกลุ่มซีพี ได้ข้อสรุปร่วมกันแบ่งเป็น ประเด็นการรับสิทธิบริหารแอร์พอร์ตเรลลิงก์ เอกชนขอแบ่งจ่ายค่าบริหารสิทธิเป็น 7 งวด มูลค่ารวม 10,640 ล้านบาท โดยจะเริ่มจ่ายงวดแรกในปี 2567 ส่วนประเด็นการร่วมลงทุน เนื่องจากเอกชนกู้เงินไม่ได้ เพราะผลกระทบจากโควิด-19 ปัญหาสงคราม และอัตราดอกเบี้ย ทำให้มีเงื่อนไขร่วมกันในการเร่งให้ภาครัฐจ่ายค่าที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการ วงเงิน 119,000 ล้านบาท โดยให้จ่ายก่อนกำหนดในงวดที่ 18 นับจากวันที่ออกหนังสืออนุญาตเข้าพื้นที่ (NTP) จากเดิมภาครัฐต้องจ่ายหลังเอกชนก่อสร้างโครงการแล้วเสร็จ

“จากการเจรจาให้ภาครัฐเร่งจ่ายค่าร่วมลงทุน 119,000 ล้านบาท และการแบ่งจ่ายค่าสิทธิแอร์พอร์ตเรลลิงก์ เพื่อไม่ให้รัฐรับความเสี่ยงและการันตีได้ว่าเอกชนรับเงินอุดหนุนจากภาครัฐไปแล้วจะยังคงดำเนินการก่อสร้างโครงการต่อเนื่อง จึงมีข้อตกลงร่วมกันให้เอกชนจัดหาวางหนังสือค้ำประกัน ซึ่งเป็นหลักประกันทางการเงิน หรือแบงก์การันตี วงเงิน 119,000 ล้านบาท เป็นค่าที่รัฐร่วมลงทุน”

นายอนันต์กล่าวต่อว่า การแก้ไขสัญญาครั้งนี้ ยังตัดเงื่อนไขเอกชนต้องรับบัตรส่งเสริมการลงทุน (BOI) ออกไป เพราะสัญญาก่อนหน้านี้กำหนดว่า ร.ฟ.ท.จะออกหนังสือ NTP ได้ต่อเมื่อทางเอกชนคู่สัญญาได้รับบัตรส่งเสริม BOI แต่ในขณะนี้เห็นว่าเอกชนไม่สามารถออกบัตรส่งเสริมการลงทุนได้แล้ว หากตัดเงื่อนไขนี้ออกไปก็จะทำให้ ร.ฟ.ท.สามารถออกหนังสือ NTP และเอกชนเข้าพื้นที่เริ่มก่อสร้างได้

ทั้งนี้ ภายหลังบอร์ด ร.ฟ.ท.รับทราบในหลักการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนในครั้งนี้ ขั้นตอนต่อไปจะเสนอสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) และอัยการสูงสุดในการแก้ไขสัญญา โดยคาดว่าขั้นตอนทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ จะทำให้ ร.ฟ.ท.ออกหนังสือ NTP เพื่อให้เอกชนเริ่มงานก่อสร้างได้ในปีนี้ โดยเงื่อนไขวางแบงก์การันตี ทางเอกชนต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 270 วัน นับจากวันที่ลงนามแก้ไขสัญญา

อย่างไรก็ดี เมื่อมีการแก้ไขสัญญาฉบับใหม่ ร.ฟ.ท. มีความพร้อมส่งมอบพื้นที่ครบ 100% ตลอดเส้นทาง จึงเตรียมเร่งรัดให้เอกชนเริ่มก่อสร้างส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการอื่น อาทิ โครงสร้างร่วมรถไฟไทยจีน ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง วงเงินส่วนแรกราว 4,000 ล้านบาท ซึ่งเอกชนยังยืนยันจะรับภาระให้ รวมไปถึงเร่งแก้ปัญหาพื้นที่ร่วมใต้อาคารผู้โดยสารโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก

“ถ้า ครม.อนุมัติให้แก้ไขสัญญาถือเป็นการปลดล็อกปัญหา และเป็นกระดุมเม็ดแรกในการดำเนินโครงการนี้ รฟท.มั่นใจว่าจะออก NTP ได้ภายในปีนี้ ใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปีแล้วเสร็จ เปิดให้บริการในปี 2572“.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ