“คนสูงวัย” ล้นเมือง ฉุดการใช้-จ่าย 34% มีรายได้ต่ำกว่า“เส้นยากจน” SME ส่ออ่วม จ้างงานสูง รายได้ต่ำ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

“คนสูงวัย” ล้นเมือง ฉุดการใช้-จ่าย 34% มีรายได้ต่ำกว่า“เส้นยากจน” SME ส่ออ่วม จ้างงานสูง รายได้ต่ำ

Date Time: 23 พ.ค. 2567 09:33 น.

Video

บัญชีม้า เกลื่อนเมือง คนไทยอยู่อย่างไร ใครต้องรับผิดชอบ ? | Money Issue

Summary

  • “คนสูงวัย” ล้นเมือง ฉุดการใช้-จ่าย กระทบทิศทางเศรษฐกิจไทย ข้อมูลพบ ผู้สูงอายุ ราว 34% มีรายได้ต่ำกว่า “เส้นยากจน” กระจุกตัวภาคการเกษตร ที่มีรายได้ เฉลี่ยเพียง 6,975 บาทต่อเดือน เท่านั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ SME เตรียมอ่วม เหตุจ้างงานสูง 
  • แต่สร้างรายได้ต่ำ เพียง 35% ของ GDP แนะรัฐออกนโยบาย ช่วยยุคเปลี่ยนผ่าน

Latest


โครงสร้างประชากรของประเทศไทย เปลี่ยนแปลงชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่รายได้คนในชาติ ยังไม่แน่นอน เพราะ ขึ้น-ลง ตามสถานการณ์เศรษฐกิจนั้น นี่ทำให้อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในอนาคตอย่างน่าเป็นห่วง

เมื่อล่าสุด ไทยได้เปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมสูงวัยขั้นสุดยอด (Super-aged society) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากการที่เศรษฐกิจ ต้องอาศัยการบริโภคในสัดส่วนที่สูงขึ้น แต่ฐานประชากรที่เป็นวัยทำงาน มีกำลังซื้อลดลง ย่อมเสี่ยงทำให้การบริโภคในประเทศโตช้าลงด้วย 

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ฉายให้เราเห็นภาพว่าเศรษฐกิจไทย อาจได้รับผลกระทบใน 3 แง่สำคัญด้วยกัน ได้แก่ 

  • การขาดแคลนแรงงานในระดับที่รุนแรงขึ้น
  • การบริโภคในประเทศที่โตช้าลง
  • ภาระทางการคลังที่เพิ่มขึ้น

ผู้สูงอายุ 34% รายได้ต่ำกว่าเส้นยากจน

ย้อนไปเมื่อปี 2566 เศรษฐกิจไทย พึ่งพาการบริโภค (การจับจ่ายใช้สอย) ภายในประเทศ 58% ของ GDP เพิ่มขึ้นจากเมื่อ 10 ปีก่อน ที่มีสัดส่วน 53% สวนทางกับประเทศอื่นๆ เช่น สิงคโปร์ที่กำลังจะเป็นสังคมสูงวัยขั้นสุดยอดไล่เลี่ยกับไทย แต่มีแนวโน้มพึ่งพาการบริโภคในประเทศลดลงจาก 37% เหลือเพียง 31% 

หรือแม้แต่เวียดนามและอินโดนีเซีย ที่กำลังจะเข้าสู่สังคมสูงวัยก็เริ่มเห็นสัดส่วนการพึ่งพาการบริโภคในประเทศลดลงเช่นกัน สะท้อนให้เห็นว่าประเทศเหล่านี้ มีแรง 2 ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้านอื่นๆ มาเสริม แต่ประเทศไทย ไม่มี ! 

การบริโภคที่อาจลดลงจากทั้งผู้สูงอายุ ที่ใช้จ่ายน้อยลงและจำนวนประชากรที่น้อยลง ยิ่งเป็นเรื่องน่ากังวล ก็เนื่องจากผู้สูงอายุไทยที่จะกลายมาเป็นฐานประชากรที่สำคัญ ต่างเป็นกลุ่มที่มีรายได้น้อย 

เห็นได้จากผู้สูงอายุไทยกว่า 34% มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่ำกว่าเส้นความยากจน (Poverty Line) และในบรรดาผู้สูงอายุที่ยังทำงานทั้งหมด 5.1 ล้านคน พบว่า 3.7 ล้านคน ประกอบอาชีพในภาคเกษตร (59%) และภาคการค้า (14%) ซึ่งมีค่าจ้างเฉลี่ยต่ำกว่าอาชีพอื่นๆ ย่อมกดดันการบริโภคของผู้สูงอายุไทย

“แรงงานภาคเกษตรมีรายได้ เฉลี่ยเพียง 6,975 บาทต่อเดือนเท่านั้น” 

การบริโภคหด-กำลังซื้อฝ่อ กระทบกลุ่ม SME แบกจ้างงานสูง แต่รายได้ต่ำ

นอกจากฐานภาษีของวัยแรงงาน ที่จะลดน้อยลง และรัฐต้องแบกค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น จากจำนวนผู้ได้รับสิทธิสวัสดิการคนสูงวัยเพิ่มขึ้นแล้ว อีกข้อที่น่าเป็นห่วง คือ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับกลุ่มธุรกิจขนาดกลาง-เล็ก หรือ SME เนื่องจาก ถ้าพิจารณาโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ


จะพบว่า ประเทศไทย มีจำนวนผู้ประกอบการ SMEs มากรวม 3.18 ล้านราย หรือคิดเป็นสัดส่วน 99.5% ของผู้ประกอบการทั้งหมด (3.2 ล้านราย) และมีสัดส่วนการจ้างงานสูงถึง 71% แต่กลับสร้างรายได้ให้กับประเทศ คิดเป็นสัดส่วนเพียง 35% ของ GDP เท่านั้น อีกทั้งมีแนวโน้มที่การสร้างรายได้อาจลดลงจากการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากการขยายตลาดของรายใหญ่อีกด้วย 

ดังนั้น โจทย์สำคัญจึงอยู่ที่ รัฐบาล ต้องช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถปรับตัว ให้ทันกับปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้แรงงานในธุรกิจ SMEs มีรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้น 

อีกส่วน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังเสนอให้ ดึงชาวต่างชาติที่มีกำลังซื้อหรือแรงงานต่างชาติที่มีทักษะสูงเข้ามา เพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศ โดยยังรักษามาตรฐานของสินค้าและบริการ และการเข้าถึงของคนในประเทศ เนื่องจากจะช่วยสร้างรายได้เพิ่มการจ้างงานและการบริโภคในประเทศได้ โดยอาศัยธุรกิจที่เป็นจุดแข็งของไทย เช่น ธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นต้น 

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่ 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ