รับเทรนด์ “สินค้ารักษ์โลก” มาแรง “พาณิชย์” เพิ่มศักยภาพผู้ส่งออกสู่การผลิตที่ยั่งยืน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

รับเทรนด์ “สินค้ารักษ์โลก” มาแรง “พาณิชย์” เพิ่มศักยภาพผู้ส่งออกสู่การผลิตที่ยั่งยืน

Date Time: 23 พ.ค. 2567 05:03 น.

Summary

  • กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเดินหน้าส่งเสริม สนับสนุน ผู้ประกอบการไทยสู่การผลิตที่ยั่งยืน เพื่อรองรับเทรนด์โลกนิยมสินค้าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หวังหนีมาตรการกีดกันทางการค้าขยายโอกาสส่งออก

Latest

เจ้าหนี้การบินไทยขอเลื่อนโหวตแผนฟื้นฟู

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ “หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ถึงการเดินหน้าสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยสามารถปรับตัวรับกับเทรนด์ของโลกที่มุ่งไปสู่ความยั่งยืนว่า ในช่วงที่ผ่านมาทั่วโลกหันมาใช้สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพราะผู้บริโภคมองว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใกล้ตัวและตนเองได้รับผลกระทบในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้น จึงต้องการมีส่วนร่วมในการลดปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยการเลือกซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

กระแสนิยมสินค้ารักษ์สิ่งแวดล้อม

สำหรับสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นายภูสิตขยายความว่าเป็นสินค้าจากผู้ผลิตที่แสดงถึงมาตรฐานจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิต , สินค้า Eco Products ผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน ไม่สิ้นเปลืองพลังงาน ไม่ก่อขยะหรือ มลพิษ นำกลับมาใช้ใหม่ได้, สินค้า Fast-moving consumer goods ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น หลอดดูดน้ำ ก้านสำลีย่อยสลายได้ อาหารและเครื่องดื่มจากโปรตีนทางเลือก สินค้าที่ใช้บรรจุภัณฑ์รีไซเคิลได้ เครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดพลังงาน รถยนต์ไฟฟ้า ฯลฯ

นอกจากนี้ กระแสความนิยมดังกล่าว ยังมาจากการที่ผู้บริโภคเข้าถึงง่าย เพราะแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ มีการขายมากขึ้น อีกทั้งประเทศต่างๆ กำหนดนโยบายและกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม ที่กำกับดูแลการผลิต แปรรูป ติดฉลาก รับรอง และการค้าสินค้าที่ยั่งยืน รวมถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ปรับปรุงกระบวนการผลิตสู่ความยั่งยืน

“การที่โลกให้ความสำคัญกับการค้าสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นโอกาสให้หลายประเทศนำมาตรการที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมมาใช้ปกป้องการค้า ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการค้าของประเทศไทยได้”

สำหรับมาตรการสิ่งแวดล้อมตามรายงาน Carbon Pricing Dashboard ธนาคารโลก พบมีใช้ 104 มาตรการ ใน 52 ประเทศ ประกอบด้วย 3 มาตรการหลัก คือ เก็บภาษีจากการปล่อยคาร์บอน (Carbon Tax) 38 มาตรการ, ซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading Scheme) 37 มาตรการ และกลไกตลาด (Government Crediting Mechanisms) 29 มาตรการ โดยประเทศที่ใช้สูงสุด 10 อันดับแรก จากฐานข้อมูล Environmental Database องค์การการค้าโลก (WTO) ช่วงปี 2552-2567 คือ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย จีน แคนาดา บราซิล ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน นิวซีแลนด์ ซึ่งไทยส่งออกสินค้าไป 10 ประเทศนี้ รวมกันกว่า 55% ของการส่งออกไทยไปโลก

“กรมจึงต้องส่งเสริม และสนับสนุนให้ผู้ผลิต ผู้ส่งออกไทยผลิตสินค้าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลก เพื่อทำให้การส่งออกสินค้าไทยเติบโตต่อเนื่อง ไม่ถูกกีดกัน จนเกิดอุปสรรคต่อการส่งออก”

เปิด 3 อุปสรรคสู่การผลิตที่ยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม ในการส่งเสริม และสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้มีการผลิตที่ยั่งยืนนั้น นายภูสิต กล่าวว่า ยังมีปัญหา 3 ด้านหลัก คือ ด้านแรก ขาดความรู้ ความเข้าใจการขับเคลื่อนธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ขาดนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อปรับเปลี่ยนการผลิตสู่โมเดล BCG (เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว) โดยเฉพาะรายกลางและเล็ก

นอกจากนี้ เศรษฐกิจการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ปรับตัวไม่ทัน และมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการปรับตัวรองรับกฎระเบียบและมาตรการทางการค้าที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก

ส่วนด้านที่ 2 การพัฒนาสินค้าสร้างมูลค่าเพิ่มตามแนวทาง BCG โดยผู้ประกอบการยังขาดระบบบริหารจัดการ โดยเฉพาะการเก็บข้อมูลต่างๆ เช่น ข้อกำหนดเฉพาะของกลุ่มผลิตภัณฑ์ (PCRs) ซึ่งต้องใช้ในการขอขึ้นทะเบียนคาร์บอนฟุตพริ้นต์ของผลิตภัณฑ์ กับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. รวมถึงขาดเงินทุน ในการลงทุนนำเทคโนโลยีสีเขียวมาใช้ในการผลิต

“ขณะที่ด้านสุดท้าย คือช่องทางตลาด โดยสินค้าไทยยังขาดการสร้างเรื่องราวของสินค้าว่าเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ BCG อย่างไร ช่วยสร้างความยั่งยืนได้อย่างไร ขาดการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการ และความร่วมมือระหว่างธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ทำให้ความเชื่อมโยงตลอดห่วงโซ่อุปทานไม่ราบรื่น และขาดความร่วมมือกับสถาบันวิจัยและบริษัทเทคโนโลยี เพื่อร่วมมือและร่วมทุน ผลักดันงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์”

ช่วยผู้ผลิตปรับตัวรับเทรนด์โลก

นายภูสิตกล่าวว่า กรมได้ช่วยให้ผู้ประกอบการปรับตัวไปสู่การผลิตที่ยั่งยืน โดยเร่งพัฒนาองค์ความรู้ เช่น มีหลักสูตรฝึกอบรมที่สอดแทรกเนื้อหาการทำธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกว่า 100 หลักสูตร มีโครงการสำคัญเสริมศักยภาพ เช่น โครงการเสริมสร้างศักยภาพและส่งเสริมผู้ประกอบการไทยสู่ความยั่งยืน, โครงการส่งเสริมนักออกแบบไทยสู่ตลาดโลก ที่เน้นการออกแบบหมุนเวียน มุ่งสู่ความยั่งยืน (SDGs)

โดยในส่วนของการพัฒนาสินค้ามีโครงการสำคัญ เช่น โครงการพัฒนาผลผลิตเหลือใช้ทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์เชิงสร้างสรรค์สู่ตลาดสากล และนำผู้ประกอบการที่ผ่านการบ่มเพาะเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ โครงการ IDEA Lab โดยเปิดตัว BCG Heroes แบรนด์ไทย รุ่นที่ 1 จำนวน 50 ราย เมื่อปลายปี 64 และพาไปเจาะตลาดต่างประเทศ ขณะนี้อยู่ระหว่างบ่มเพาะรุ่นที่ 2 จำนวน 52 รายใน 6 กลุ่มสินค้า คือ กลุ่มเฟอร์นิเจอร์ กลุ่มของตกแต่งและของใช้ในบ้าน กลุ่มแฟชั่นและสิ่งทอ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มสินค้าสำหรับเด็กและสัตว์เลี้ยง กลุ่มไลฟ์สไตล์และอื่นๆ

สำหรับด้านการส่งเสริมช่องทางการตลาดทั้งออฟไลน์และออนไลน์ กรมนำผู้ประกอบการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าทั้งในและต่างประเทศ จัดกิจกรรมเจรจาธุรกิจสินค้า BCG ดำเนินการประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างการรับรู้ศักยภาพของไทยในการผลิตสินค้าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างโอกาสทางการค้า เป็นต้น

“การดำเนินการดังกล่าวเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบ การไทย โดยเฉพาะ SMEs ค่อยๆปรับตัวไปสู่การผลิตอย่างยั่งยืน สามารถผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์ของโลก ช่วยลดการถูกกีดกันทางการค้า และสร้างรายได้อย่างยั่งยืน”.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ