ปฏิเสธไม่ได้ว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท เป็นความหวังของแรงงานรายวันที่จะได้กินอิ่มนอนหลับมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็เป็นฝันร้ายของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กอย่าง SME ที่อาจแบกต้นทุนไม่ไหวจนต้องปิดตัว แม้ตลอด 20 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอย่างต่อเนื่อง แต่สังคมก็ยังถกเถียงถึงผลกระทบที่อาจได้ไม่คุ้มเสียอยู่เสมอ
ล่าสุด (14 พ.ค. 67) แม้การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศจะยังไม่ได้ข้อสรุป โดยขณะนี้ คณะกรรมการค่าจ้างชุดใหญ่ (ไตรภาคี) มีมติมอบหมายคณะอนุกรรมการจังหวัดแต่ละพื้นที่ เสนอตัวเลขปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละจังหวัดและกิจการให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ค. 2567 ด้านพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ก็ได้เน้นย้ำถึงเป้าหมายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้มีผลบังคับใช้ภายในวันที่ 1 ต.ค. 2567 ท่ามกลางเสียงคัดค้านของภาคเอกชน เช่น กกร. ที่ยื่นหนังสือคัดค้านไปยังกระทรวงแรงงาน โดยให้เหตุผลว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้สูงเกินกว่าความเป็นจริง ในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันที่เผชิญความท้าทายหลายด้าน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมไทยที่ยังเปราะบาง สะท้อนจากดัชนี (MPI) ที่หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 อีกทั้งในปี 2567 รัฐบาลปรับค่าแรงขั้นต่ำไปแล้ว 2 ครั้ง จึงไม่ควรปรับครั้งที่ 3
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยแพร่บทวิเคราะห์ผลกระทบ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ทั่วประเทศ 400 บาท โดยมีมุมมองที่น่าสนใจดังนี้
จากการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล อ้างอิง Labor Force Survey ณ ไตรมาส 4/2566 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ภาคธุรกิจจะมีต้นทุนแรงงานเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 6% โดยคำนวณจากข้อมูลปลายปี 2566 ที่มีจำนวนลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่า 10,000 บาท/เดือน คิดเป็นสัดส่วนราว 37% ของลูกจ้างทั้งหมด
โดยประเภทธุรกิจที่ได้รับกระทบมากที่สุดคือ ธุรกิจที่ใช้แรงงานเข้มข้น (Labor-intensive) เช่น ภาคเกษตร การบริการด้านอื่นๆ งานในครัวเรือนส่วนบุคคล ที่พักแรมและบริการอาหาร และก่อสร้าง จะมีต้นทุนแรงงานเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 8-14% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยภาคธุรกิจ
ทั้งนี้กิจการที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัดจะได้รับผลกระทบมากกว่าเมืองหลักและเมือง รอง เนื่องจากค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบันแตกต่างกันไปในแต่ละจังหวัด ตั้งแต่ 330-370 บาทต่อวัน (จากการปรับทั้งประเทศครั้งล่าสุด 1 ม.ค. 2567) โดย แพร่ น่าน ปัตตานี ยะลา นราธิวาส เป็นจังหวัดที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด หากปรับขึ้นค่าแรงเป็น 400 บาท โดยต้นทุนค่าแรงจะเพิ่มขึ้นมากถึง 18-21% จากฐานปัจจุบันที่ 330-338 บาทต่อวัน ส่วนภูเก็ต กรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นจังหวัดที่กระทบน้อยที่สุด โดยต้นทุนค่าแรงเพิ่มขึ้นเพียง 8-10% จากฐานปัจจุบันที่ 363-370 บาทต่อวัน
แม้การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาททั่วประเทศของรัฐบาล จะมีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานไทย และเพิ่มกำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจ แต่เมื่อพิจารณาผลกระทบอีกด้าน การที่ภาคธุรกิจต้องแบกรับต้นทุนแรงงานเพิ่มขึ้น อาจส่งผ่านต้นทุนไปยังราคาสินค้า แม้จะขึ้นราคาได้ไม่เต็มที่ เนื่องจากการแข่งขันด้านราคาที่เข้มข้นในตลาด แต่คาดว่าจะส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วไปในภาพรวมปี 2567 ปรับสูงขึ้น 0.1% ซึ่งแรงกดดันเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจะเป็นปัจจัยกดดันการบริโภคภายในประเทศ ท่ามกลางค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูงอยู่แล้ว
อีกทั้งแรงงานที่อ้างอิงค่าแรงขั้นต่ำในประเทศ ส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าวซึ่งมีแนวโน้มโอนเงินค่าจ้างที่ได้รับกลับไปยังประเทศตนเองราว 30-40% ของรายได้ต่อเดือน ส่งผลให้ภาพรวมแรงงานที่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้น ใช้จ่ายในประเทศน้อยกว่าค่าจ้างที่ได้รับ ดังนั้นผลบวกต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคในปี 2567 จึงมีไม่มากนัก ท่ามกลางค่าครองชีพ และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง.
ที่มา
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่ https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney