สภาพัฒน์ หั่น GDP ปี 67 เหลือ 2.5% หลังไตรมาสแรกโตต่ำ การผลิตทรุดหนัก ภาคบริโภค-ท่องเที่ยวเดอะแบก

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

สภาพัฒน์ หั่น GDP ปี 67 เหลือ 2.5% หลังไตรมาสแรกโตต่ำ การผลิตทรุดหนัก ภาคบริโภค-ท่องเที่ยวเดอะแบก

Date Time: 20 พ.ค. 2567 18:50 น.

Video

3 มาตรการใหม่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คุมหุ้นร้อนผิดปกติ | Money Issue

Summary

  • สภาพัฒน์ หั่น GDP ปี 67 เหลือ 2.5% หลังเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรก โตต่ำ 1.5% ภาคการผลิตยังทรุดหนักเป็นไตรมาสที่ 6 การบริโภค-การท่องเที่ยวยังเป็นเดอะแบก หวังการใช้จ่ายภาครัฐช่วยหนุนการเติบโต

Latest


วันนี้ (20 พ.ค. 2567) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรก ของปี 2567 พบว่า GDP ไทย ขยายตัว 1.5% จากระดับ 1.7% ในไตรมาส 4/2566 โดยได้รับแรงหนุนหลักจากการบริโภคที่ยังขยายตัวในระดับสูง และการท่องเที่ยวที่แข็งแกร่ง ทั้งนี้ สศช.ได้ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2567 ลงเหลือ 2-3% (ค่ากลาง 2.5%) จากช่วง 2.2-3.2% เนื่องจากปัจจัยเรื่องสงครามการค้าที่สหรัฐฯ ออกมาตรการกีดกันทางการค้ากับจีน ซึ่งไทยต้องมีการเฝ้าระวังเรื่องการทุ่มตลาดสินค้าจากจีนที่จะวกกลับเข้ามาไทยมากขึ้น รวมถึงปัจจัยเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ที่ทวีความรุนแรง 

 

เจาะการเติบโต GDP ไตรมาส 1 ปี 2567


การเติบโตของ GDP ไตรมาส 1 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 ที่ผ่านมา มีปัจจัยหลักมาจากการผลิตภาคนอกเกษตร ที่ขยายตัว 2% จากบริการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว เช่น สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร สาขาขนส่งฯ  ด้านหมวดอุตสาหกรรมลดลง 3% ทั้งนี้ การผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับลดลงต่อเนื่อง 6 ไตรมาส สอดคล้องกับการผลิตที่อยู่ในระดับต่ำ ขณะที่การผลิตภาคเกษตรลดลง 3.5% ด้านการลงทุนรวมลดลงต่อเนื่องที่ 4.2% โดยเฉพาะด้านการใช้จ่ายรัฐบาลที่ลดลง 27.7% ขณะที่การส่งออกสินค้าและบริการ และการบริโภคอุปโภคขั้นสุดท้ายของเอกชนชะลอลงที่ 2.5% และ 6.9% ตามลำดับ

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 

  • การบริโภคภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัว 4.5%
  • การอุปโภคภาครัฐบาล คาดว่าจะขยายตัว 1.7%
  • การลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัว 3.2%
  • การลงทุนภาครัฐ คาดว่าจะหดตัว 1.8%
  • มูลค่าการส่งออก (รูปเงิน USD) คาดว่าจะขยายตัว 2%
  • เงินเฟ้อ (%) คาดว่าจะเคลื่อนไหว อยู่ในกรอบ 0.1-1.1%
  • ดุลบัญชีเดินสะพัด (%GDP) คาดว่าจะเกินดุล 1.2%

โดยมีปัจจัยสนับสนุน 5 ด้าน ดังนี้


1. การเพิ่มขึ้นของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ จะได้รับแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐในช่วงที่เหลือของปีหลัง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 มีผลบังคับใช้ และแรงส่งจากการเพิ่มกรอบวงเงินงบประมาณ


2. การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนที่ยังขยายตัวได้ดี จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว อัตราการว่างงานและอัตราเงินเฟ้อในระดับต่ำ รวมถึงความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง


3. การฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว โดยค่าใช้จ่ายต่อหัวที่ปรับดีขึ้นจากปี 2566 รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวที่ปรับเข้าสู่ระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 


4. การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการลงทุนภาคเอกชน ตามการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการนำเข้าสินค้าทุน รวมทั้งแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของการขอรับการส่งเสริมการลงทุน และพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม


5. การฟื้นตัวช้าๆ ของภาคการส่งออกตามการฟื้นตัวของการค้าโลก และวัฏจักรขาขึ้นของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และยอดคำสั่งซื้อใหม่ของประเทศอุตสาหกรรมหลัก


ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม 3 ด้าน ได้แก่


1. ภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง และการเพิ่มขึ้นของภาระดอกเบี้ย ส่งผลให้สถาบันการเงินระมัดระวังการให้สินเชื่อมากขึ้น

2. ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศต่อผลผลิตทางการเกษตร

3. ความเสี่ยงจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการค้าโลกที่อาจเพิ่มขึ้นตามสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การปรับทิศทางนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลัก และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ Thairath Money ได้ที่ 
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์