ขึ้นค่าแรง 400 บาททั่วประเทศ...เดิมพันครั้งใหม่ของรัฐบาล

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ขึ้นค่าแรง 400 บาททั่วประเทศ...เดิมพันครั้งใหม่ของรัฐบาล

Date Time: 20 พ.ค. 2567 06:35 น.

Summary

  • นโยบาย “ทุนนิยมที่มีหัวใจ” ของพรรคเพื่อไทย ที่ต้องขับเคลื่อนผ่านด่านคณะกรรมการค่าจ้างหรือไตรภาคีจะสัมฤทธิผลหรือไม่ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมีความคิดเห็นอย่างไร “ทีมเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ขอประมวลมานำเสนอดังต่อไปนี้

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

ท่วงท่าของรัฐบาลในการขับเคลื่อนการขึ้นค่าแรง 400 บาททั่วประเทศ เป็นไปด้วยความขึงขัง จริงจัง และต่อเนื่อง นับตั้งแต่วันแรงงาน 1 พ.ค.2567 ที่ พิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน จากโควตาพรรคภูมิใจไทย ประกาศมีบิ๊กเซอร์ไพรส์ ตอกย้ำนโยบายปรับขึ้นค่าแรงทั่วประเทศเป็นวันละ 400 บาทในวันที่ 1 ต.ค.2567

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 พ.ค.2567 ยังมีมติรับทราบรายงานความคืบหน้าการกำหนดอัตราค่าจ้าง 400 บาททั่วประเทศ โดยกระทรวงแรงงานและคณะกรรมการค่าจ้าง คาดว่าจะมีการประกาศอัตราค่าจ้างใหม่ในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค.2567

แม้ว่าที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างหรือไตรภาคี (นายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐ) ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 14 พ.ค.เช่นกัน ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะขึ้นค่าแรง 400 บาททั่วประเทศหรือไม่ และให้คณะอนุกรรมการค่าจ้างระดับจังหวัด กลับไปทบทวนสูตรการคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำใหม่

แต่ รมว.แรงงานตอกย้ำว่า เป้าหมายคือการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ ในวันที่ 1 ต.ค.2567 ส่วนที่ประชุมไตรภาคีเป็นหน้าที่ของปลัดกระทรวงแรงงานที่เป็นประธาน “เป็นเรื่องของการสวมหมวกคนละใบ แต่ทั้ง 2 ส่วนต้องทำงานคู่ขนานกัน”

ย้อนกลับไปดูนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย ในฐานะพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ประกาศนโยบายเพิ่มรายได้ภาคแรงงานและการจ้างงาน ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาทต่อวันภายในปี 2570 และขยับค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาทตั้งแต่ปีแรก นโยบายนี้ไม่ได้ใช้แรงงานเป็นตัวประกัน แต่จะทำให้เศรษฐกิจโตขึ้น และแบ่งผลกำไรเหล่านี้กลับไปให้ภาคแรงงาน โดยการตกลงร่วมกันของไตรภาคี (นายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐ) ตามหลัก “ทุนนิยมที่มีหัวใจ”

นโยบาย “ทุนนิยมที่มีหัวใจ” ของพรรคเพื่อไทย ที่ต้องขับเคลื่อนผ่านด่านคณะกรรมการค่าจ้างหรือไตรภาคีจะสัมฤทธิผลหรือไม่ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมีความคิดเห็นอย่างไร “ทีมเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ขอประมวลมานำเสนอดังต่อไปนี้

พจน์ อร่ามวัฒนานนท์
พจน์ อร่ามวัฒนานนท์

พจน์ อร่ามวัฒนานนท์
รองประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 1

ภาคเอกชนทุกภาคส่วน ทั้งหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หอการค้านานาชาติในไทยกว่า 30 แห่ง รวมถึง สมาคมการค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้นกว่า 100 สมาคม ได้ยื่นหนังสือคัดค้านและไม่เห็นด้วย แต่ยังคงสนับสนุนให้รัฐบาลพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี ตามมาตรา 87 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 โดยต้องผ่านความเห็นชอบจากไตรภาคีก่อน เห็นว่า ปี 2567 นี้ รัฐบาลปรับค่าจ้างขั้นต่ำไปแล้ว 2 ครั้ง จึงไม่ควรปรับครั้งที่ 3

“ค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 400 บาท เป็นอัตราที่เกินกว่าสภาพความเป็นจริงทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งจะกระทบต่อเศรษฐกิจ และขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ เพราะแต่ละจังหวัด แต่ละธุรกิจ มีความพร้อมต่างกัน การปรับค่าแรงสูงเกินจริงจะทำให้ต้นทุนการผลิต การขนส่ง การบริการ การจ้างงานสูงขึ้น กระทบโดยตรงต่อภาคเกษตร การค้าและบริการ ท่องเที่ยว และเอสเอ็มอี ซึ่งอาจทำให้ธุรกิจเหล่านี้ อาจต้องหยุดกิจการ ลดขนาด หรือเอาธุรกิจออกนอกระบบภาษี นำไปสู่การปลดลูกจ้างและเลิกจ้าง เพื่อลดต้นทุนในที่สุด”

ขณะนี้ ต้องรอความเห็นจากคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด และมติที่ชัดเจนของคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) ประกอบด้วย ภาครัฐ นายจ้าง และลูกจ้าง ก่อน หวังว่าการปรับขึ้นครั้งนี้จะพิจารณาตามความเหมาะสมของแต่ละจังหวัด ไม่เช่นนั้นจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี

ขณะเดียวกัน รัฐบาลควรพิจารณาจากทักษะฝีมือแรงงาน และควรเร่งส่งเสริมมาตรการทางภาษี ลดอุปสรรคต่อการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการและแรงงาน ให้ความสำคัญกับการ UP-Skill & Re-Skill และ New Skill สร้างแรงงานทักษะฝีมือและเพิ่มผลิตภาพแรงงาน เพราะค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเพียงค่าจ้าง
ของแรงงานแรกเข้าที่ยังไม่มีฝีมือ

เกรียงไกร เธียรนุกุล
เกรียงไกร เธียรนุกุล

เกรียงไกร เธียรนุกุล
ประธานสภาอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

ความท้าทายและข้อจำกัดเชิงโครงสร้างยังส่งผลให้ภาคการผลิตและการส่งออก ไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ เห็นได้จากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน มี.ค.2567 ที่หดตัว -5.13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการหดตัวต่อเนื่องเดือนที่ 18 ประกอบกับอัตราการใช้กำลังการผลิต (CapU) ที่ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 62.39% เป็นสัญญาณสะท้อนให้เห็นว่าภาคการผลิตไทยยังคงมีความเปราะบาง

“นโยบายที่จะปรับขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ เท่ากัน 400 บาท ปรับเพิ่มขึ้น 8-21% ขึ้นอยู่กับแต่ละจังหวัด ถือเป็นระดับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่สูงมาก สูงกว่าตัวเลขการขยายตัวของอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) และอัตราเงินเฟ้อ ที่เป็นปัจจัยหนึ่งในสูตรคำนวณอัตราค่าจ้างขึ้นต่ำหลายเท่า เพราะปี 2566 จีดีพีของไทยขยายตัว 1.9% อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 1.23% โดยจะกระทบอย่างมากต่อผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSME) 3 ล้านรายทั่วประเทศ ที่ส่วนใหญ่จำเป็นต้องพึ่งพาการใช้แรงงาน

ภาคเอกชนต่างเข้าใจถึงเป้าหมายการปรับอัตราค่าจ้างขึ้นต่ำ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานไทยและเพิ่มกำลังซื้อ ในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งนอกเหนือจากการยกระดับรายได้แรงงานแล้ว ส.อ.ท.พยายามผลักดันให้ภาครัฐเข้ามาดูแลเรื่องการดำรงชีพของแรงงาน เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย เช่น ค่าไฟ ค่าน้ำมัน ค่าเดินทาง เป็นต้น เพื่อช่วยสร้างความสมดุลด้านรายได้และค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพให้กับแรงงาน ให้สอดคล้องตามภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน

“ในส่วนของการปรับขึ้นอัตราค่าจ้าง ภาครัฐควรยึดหลักการจ้างงานตามทักษะฝีมือแรงงาน (Pay By Skills) ซึ่งเป็นนโยบายหนึ่งที่ได้มีการส่งเสริมแรงงาน มาตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยปัจจุบันกรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้ประกาศมาตรฐานฝีมือแรงงาน 7 สาขาอาชีพ รวม 272 สาขา ส่วนใหญ่จะมีการจ้างค่าตอบแทนในอัตราที่สูงกว่าที่กำหนด”

อัญรัตน์ พรประกฤต
อัญรัตน์ พรประกฤต

อัญรัตน์ พรประกฤต
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยูบิลลี่ เอ็นเตอร์ ไพรส์ จำกัด (มหาชน)

การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ ในมุมมองของรัฐบาลอาจจะมองจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น ขณะนี้เงินเฟ้อขึ้นทุกปี จึงต้องการปรับขึ้นค่าแรงเพื่อเพิ่มกำลังซื้อและอำนาจในการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน ที่จะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวม แต่ในมุมผู้ประกอบการ ยังมองว่าเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจทั่วโลกยังไม่ดี แต่ต้องมาแบกรับต้นทุนเพิ่มขึ้น เพราะยังมีต้นทุนค่าใช้จ่ายอื่นๆที่สูงขึ้นด้วย ทำให้ต้นทุนการผลิตโดยรวมสูงขึ้น และสุดท้ายอาจกระทบไปถึงราคาสินค้าที่ต้องปรับขึ้น

ดังนั้น จึงต้องมาพิจารณาว่าจะทำอย่างไรให้เกิดการบาลานซ์หรือความสมดุล ต้องทำให้ครบระบบนิเวศที่จะให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกันมากที่สุด เช่น เมื่อรัฐบาลต้องการให้มีการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ที่ทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนเพิ่มขึ้น ภาครัฐอาจต้องมีมาตรการอื่นๆ เข้ามารองรับหรือสนับสนุน เพื่อทำให้ผู้ประกอบการมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น ทำให้ค้าขายง่ายขึ้น ซื้อง่ายขายคล่อง มีรายได้เพิ่มขึ้น หรือสามารถลดค่าใช้จ่ายในส่วนอื่นแทนได้ เช่น มาตรการภาษีที่กระตุ้นการใช้จ่าย หรือมาตรการอื่นๆ

สำหรับผลกระทบต่อการขึ้นค่าแรงในอุตสาหกรรมเครื่องประดับหรือ Jewelry นั้น ในส่วนของยูบิลลี่ซึ่งเป็นธุรกิจผลิตและจำหน่ายเครื่องประดับเพชรแท้ “Jubilee Diamond” ไม่ได้รับผลกระทบ เพราะเป็นแรงงานมีฝีมือ ที่สำคัญใช้เทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงมาตรฐานโลก ค่าตอบแทนพนักงานสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมของทั้งอุตสาหกรรมอาจได้รับผลกระทบบ้าง เพราะมีหลากหลายกลุ่มคนทำงานในแต่ละประเภทงาน แต่ไม่น่าได้รับผลกระทบมากนัก เมื่อเทียบกับกลุ่มอุตสาหกรรมอื่น

เซีย จำปาทอง
เซีย จำปาทอง

เซีย จำปาทอง
ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ พรรคก้าวไกล ตัวแทนเครือข่าย

ผู้ใช้แรงงานการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นนโยบายของทุกพรรคการเมืองในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง พรรคก้าวไกลเห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรง 400 บาทต่อวันทั่วประเทศ เนื่องจากปัจจุบันค่าครองชีพสูงมาก ราคาสินค้าปรับขึ้นหมด ทุกอาชีพเดือดร้อน ลำพังเลี้ยงดูตัวเองยังเงินขาดมือ บางคนมีครอบครัว ส่งลูกเรียน เลี้ยงดูพ่อ-แม่สูงวัยอีก ค่าแรงขั้นต่ำปัจจุบันไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพแน่นอน จึงขอให้รัฐบาลเร่งประกาศอัตราค่าแรงขั้นต่ำให้ชัดเจนโดยเร็ว

“ทุกวันนี้ ค่าอาหารตามสั่ง ข้าวหมูแดง ต่อมื้อต้องจ่าย 50-60 บาท ยังไม่รวมน้ำ ไม่รวมขนมหวาน ค่าเดินทาง ค่าน้ำ ค่าไฟ ทุกอย่างแพงหมด แต่ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำไม่ได้ปรับขึ้น ถึงแม้รัฐบาลจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันใน 10 จังหวัดพื้นที่ท่องเที่ยว แต่ในความเป็นจริง พื้นที่ท่องเที่ยวเหล่านี้ ค่าแรงขั้นต่ำเกิน 400 บาทต่อวันไปหมดแล้ว รัฐบาลทำงานมากว่า 7 เดือน แต่เรื่องค่าแรงขั้นต่ำ พูดมาหลายครั้งแล้ว ก็ยังไม่ประกาศปรับขึ้นเสียที”

การปรับขึ้นค่าจ้าง ฝั่งนายจ้างย่อมไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว แต่ฝั่งลูกจ้างเห็นด้วย จึงต้องหาจุดสมดุลร่วมกันและควรกำหนดเป็นกรอบและตารางค่าจ้างแบบอัตโนมัติ เพื่อเจ้าของธุรกิจจะได้วางแผนรู้ต้นทุน จะได้ไม่วิตกกังวลว่าจะมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีก รัฐบาลควรเร่งขับเคลื่อนให้เกิดความชัดเจนกับทุกฝ่าย นอกจากนี้ยังขอฝากให้รัฐบาล ช่วยดูแลลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างไปก่อนหน้านี้ และกำลังจะถูกเลิกจ้างอีกหลายแห่ง โดยไม่ได้รับค่าชดเชยแต่อย่างใด

“เท่าที่ผมทราบ มีผลการศึกษาเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสมและเพียงพอต่อการเลี้ยงดูครอบครัว อยู่ที่ 723– 789 บาท แต่การจะปรับไประดับดังกล่าวได้ต้องใช้เวลา หรือจะมีสวัสดิการอื่นๆ มาช่วย ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน อย่างพรรคก้าวไกล มีนโยบายปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 450 บาท มีสวัสดิการดูแลเด็ก ผู้สูงอายุ เมื่อนำมารวมกันน่าจะเพียงพอต่อการดำรงชีพในยุคค่าครองชีพสูง”

เทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์
เทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์

เทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์
นายกสมาคมโรงแรมไทย

ไม่เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ซึ่งจะกระทบกับโรงแรมระดับ 3 ดาวลงมาอย่างมาก เพราะหลังจากโควิดมาจนถึงตอนนี้ โรงแรมระดับ 3 ดาวยังเปิดให้บริการไม่ครบ 100% ส่วนหนึ่งอาจจะยังไม่ได้รีโนเวต หรือยังเปิดไม่เต็มที่เนื่องจากยังไม่มีลูกค้า เพราะต้องยอมรับว่าทัวร์จีนที่เที่ยวแบบรถบัสยังไม่กลับมา ขณะที่เศรษฐกิจก็ยังหนักอยู่ แต่โรงแรมมีภาระแบกรับภาษีที่ดิน

การขึ้นค่าแรงวันละ 400 บาททั่วประเทศจะส่งผลให้ต้นทุนของสินค้าทุกอย่างขึ้นตามไปด้วย โรงแรมก็ต้องมาดูว่าจะบริหารได้ไหม ถ้าไม่ได้ก็ต้องลดจำนวนลูกจ้างลง ทำให้คนว่างงานเพิ่มขึ้น

ส่วนโรงแรมระดับ 5 ดาวอาจพอไหว ขณะที่ 4 ดาวบางแห่ง ค่าแรงขั้นต่ำยังไม่ถึงวันละ 400 บาท มีตัวอย่างให้เห็น ที่กระทรวงแรงงานประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของโรงแรมระดับ 4 ดาวขึ้นไปในบางพื้นที่ของจังหวัดท่องเที่ยว เป็นวันละ 400 บาท ตั้งแต่ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา ปรากฏโรงแรมบางแห่งแบกรับต้นทุนไม่ไหว ต้องขอลดมาตรฐานลงต่ำกว่า 4 ดาว หรือบางโรงแรมที่กำลังยื่นขอยกระดับมาตรฐานเป็น 4 ดาว ก็ต้องขอระงับไปก่อน มันกลับตาลปัตร เพราะคนพยายามยกมาตรฐานตัวเอง กลับกลายเป็นมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม

“สิ่งที่อยากบอกรัฐบาลคือ รัฐไม่ได้มีอำนาจให้ขึ้นค่าแรงได้ เป็นเรื่องของคณะกรรมการไตรภาคี จึงไม่อยากให้รัฐมาแทรกแซง ทำเช่นนี้ไม่มีเหตุผล ทุกอย่างต้องดูต้นทุน แต่ตอนนี้รัฐไปเอาตัวเลขมาจากไหนไม่รู้ ไม่รู้ว่าหวังผลทางการเมืองหรืออะไร”

รัฐบาลบอกว่าขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นของขวัญให้ประชาชน แต่เงินที่เอามาจ่าย รัฐบาลไม่ได้จ่าย เป็นเงินที่ผู้ประกอบการต้องจ่าย และการขึ้นเท่ากันทั่วประเทศ จะยิ่งส่งผลต่อค่าครองชีพสูงขึ้นอย่างแน่นอน.

ทีมเศรษฐกิจ

คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปเศรษฐกิจ" เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ