คนไทยแบกรายจ่าย 82% ของรายได้ เปิดค่าครองชีพคนไทย แต่ละเดือนใช้จ่ายอะไรมากสุด

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

คนไทยแบกรายจ่าย 82% ของรายได้ เปิดค่าครองชีพคนไทย แต่ละเดือนใช้จ่ายอะไรมากสุด

Date Time: 18 พ.ค. 2567 13:03 น.

Video

วิธีเอาตัวรอดของ Wikipedia ไม่พึ่งโฆษณา ไม่มีค่าสมาชิก แต่อยู่มาได้ 23 ปี | Digital Frontiers

Summary

  • “ค่าครองชีพ” กลายเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้การจับตามองมากขึ้น จากเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นหลังโควิด-19 กดดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ Thairath Money ชวนส่องค่าครองชีพของคนไทย แต่ละเดือนใช้จ่ายอะไรมากที่สุด มีสัดส่วนเท่าไรของรายได้ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ค่าใช้จ่ายเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

Latest


“ค่าครองชีพ” เป็นประเด็นที่คนไทยให้การจับตามองอยู่เสมอ โดยเฉพาะในยุคหลังโควิด-19 ที่ไม่เพียงแค่เปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลสุขภาพ รูปแบบการทำงาน แต่ยังเปลี่ยนวิถีชีวิตคนทั่วโลกให้ระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น เนื่องจากปัญหาเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น กดดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ รายได้หามาได้เท่าไร ก็ต้องหมดไปกับค่าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน


แม้ปัญหาเงินเฟ้อในประเทศไทยจะไม่รุนแรง เมื่อเทียบกับประเทศอื่น และอยู่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายที่ 1-3% มาหลายเดือน โดยล่าสุดเดือน เม.ย. พลิกกลับเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 7 เดือน ที่ 0.19% YoY แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจ ถูกขับเคลื่อนโดยผู้มีรายได้น้อย ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางที่ทำงานในภาคเกษตรกรรม จึงไม่แปลกที่คนไทยส่วนใหญ่จะรู้สึกถึงแรงกดดัน จากค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น 


Thairath Money ชวนส่องค่าครองชีพของคนไทย แต่ละเดือนใช้จ่ายอะไรมากที่สุด มีสัดส่วนเท่าไรของรายได้ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ค่าใช้จ่ายเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง 


ข้อมูลล่าสุดโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งทำการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับรายได้ ค่าใช้จ่าย ภาวะหนี้สิน และทรัพย์สินของครัวเรือน ตลอดจนลักษณะที่อยู่อาศัย เมื่อพิจารณาข้อมูลรายได้ ค่าใช้จ่าย ตั้งแต่ปี 2556 จนถึง 2566 (6 เดือนแรก) พบว่า รายได้ทั้งสิ้นเฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือนไทย เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 25,194 บาท ในปี 2556 เป็น 29,502 ในปี 2566 เช่นเดียวกันกับค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นเฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 19,061 บาท ในปี 2556 เป็น 24,362 บาท ในปี 2566

เปิด "ค่าใช้จ่ายต่อเดือน" คนไทยจ่ายอะไรมากสุด


ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 ครัวเรือนไทย มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเดือนละ 24,362 บาท โดย 87.3% มาจากค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค 21,262 บาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายหมวดอาหาร เครื่องดื่มและยาสูบ สูงสุดถึง 8,575 บาท รองลงมาเป็นค่าที่อยู่อาศัย และเครื่องใช้ภายในบ้าน 5,295 บาท ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเดินทางและยานพาหนะ 3,880 บาท และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตามลำดับ ส่วนค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวกับการอุปโภคบริโภค (เช่น ค่าภาษี เบี้ยประกันภัย ซื้อสลากกินแบ่ง/หวย ดอกเบี้ย) อยู่ที่ 3,100 บาท คิดเป็น 12.7% เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนกับรายได้ พบว่า คนไทยต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายมากถึง 82.57% ของรายได้ต่อเดือน

10 ปีที่ผ่านมา ค่าใช้จ่าย “คนไทย” เพิ่มขึ้นเท่าไร


ทั้งนี้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นเฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือน เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ระหว่างปี 2555-2565 เพิ่มขึ้น 19.21% โดยแต่ละปีค่าใช้จ่ายมีการเปลี่ยนแปลงดังนี้

  • ปี 2555 คนไทยมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นเฉลี่ยต่อเดือน 18,766 บาท
  • ปี 2556 คนไทยมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นเฉลี่ยต่อเดือน 19,061 บาท
  • ปี 2557 คนไทยมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นเฉลี่ยต่อเดือน 20,891.74 บาท
  • ปี 2558 คนไทยมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นเฉลี่ยต่อเดือน 21,157 บาท
  • ปี 2559 คนไทยมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นเฉลี่ยต่อเดือน 21,144.15 บาท
  • ปี 2560 คนไทยมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นเฉลี่ยต่อเดือน 21,436.50 บาท
  • ปี 2561 คนไทยมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นเฉลี่ยต่อเดือน 21,346.01 บาท
  • ปี 2562 คนไทยมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นเฉลี่ยต่อเดือน 20,742.12 บาท
  • ปี 2563 คนไทยมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นเฉลี่ยต่อเดือน 21,329.09 บาท
  • ปี 2564 คนไทยมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นเฉลี่ยต่อเดือน 21,616 บาท
  • ปี 2565 คนไทยมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นเฉลี่ยต่อเดือน 22,372 บาท


อย่างไรก็ตาม แม้ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือน จะมีสัดส่วนมากถึง 82.57% ของค่ารายได้ แต่พอมาดูการเปลี่ยนแปลงของค่าใช้จ่ายในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ก็พบว่าไม่ได้มีการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด แม้ปัจจุบันคนไทยจะรู้สึกว่า ค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ช่วงโควิด-19 โดยเฉพาะราคาอาหารตามสั่งทั่วไปไม่มีท่าทีจะลดลงมาเลย แม้ต้นทุนวัตถุดิบจะปรับลงแล้วก็ตาม


โดยตัวชี้วัดที่จะช่วยยืนยันข้อเท็จจริงที่ตรงข้ามกับความรู้สึกนี้ได้ คือ “ดัชนีค่าครองชีพโลกปี 2567” จัดทำโดย Numbeo เว็บไซต์ฐานข้อมูลด้านค่าครองชีพโลก ซึ่งคำนวณจาก ค่าใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ โดยไม่รวมค่าเช่าที่อยู่อาศัยใน 146 ประเทศเปรียบเทียบกับดัชนีค่าครองชีพของ เมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งใช้เป็นฐานอยู่ที่ร้อยละ 100


จากข้อมูลล่าสุด พบว่า ดัชนีค่าครองชีพของไทย ในช่วงต้นปี 2567 อยู่ที่ร้อยละ 36 เป็นอันดับที่ 94 จาก 146 ประเทศทั่วโลก ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับต่ำ โดยลดลงจากร้อยละ 40.7 หรืออยู่อันดับที่ 79 จาก 140 ประเทศทั่วโลก ในปี 2566


เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ดัชนีค่าครองชีพของไทย สูงเป็นอันดับที่ 5 จาก 9 ประเทศที่ถูกจัดอันดับ โดยต่ำกว่ากัมพูชา (38.5 อันดับ 88) เมียนมา (38.6 อันดับ 87) บรูไน (50.5 อันดับ 48) และสิงคโปร์ ที่มีค่าครองชีพสูงที่สุดในอาเซียน โดยอยู่ที่ร้อยละ 81.9 สูงเป็นอันดับที่ 7 ของโลก ทั้งนี้สาเหตุที่ค่าครองชีพไทยอยู่ในระดับต่ำ นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) อธิบายว่า สาเหตุสำคัญมาจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐที่มีอย่างต่อเนื่อง ทั้งสินค้าในกลุ่มพลังงาน (ค่าไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง แก๊สหุงต้ม) และสินค้าอุปโภคบริโภค


อย่างไรก็ตามผู้บริโภครวมถึงผู้ประกอบการ ควรเตรียมรับมือกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากในช่วงที่เหลือของปี เงินเฟ้อมีแนวโน้มเป็นบวกอย่างต่อเนื่อง โดยศูนย์วิจัยกสิกร คาดว่า เงินเฟ้อมีแนวโน้มกลับเข้าสู่เป้าหมายของกนง. ที่ 1-3% ในช่วงไตรมาสที่เหลือของปีนี้ จากปัจจัยราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ที่มีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูง จะส่งผลให้ภาครัฐอาจทยอยลดการอุดหนุน ราคาพลังงานในประเทศ, ราคาผักสดและผลไม้สดมีแนวโน้มยืนอยู่ในระดับสูง จากสภาพอากาศที่ร้อนจัดส่งผลให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง รวมถึงการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาททั่วประเทศในเดือนต.ค. 2567 ที่จะเพิ่มแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ

ที่มา

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ Thairath Money ได้ที่ 
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ


ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ