นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า วันที่ 20 พ.ค.นี้ กรมจะเชิญทูตานุทูตต่างประเทศประจำประเทศไทยกว่า 20 ประเทศ เช่น ญี่ปุ่น จีน สหรัฐฯ รัสเซีย ฯลฯ พร้อมด้วยตัวแทนหอการค้าต่างประเทศ มารับฟังการชี้แจงเกี่ยวกับการลงทุนของคนต่างชาติในไทย ภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 เพื่อให้ได้เข้าใจกฎหมายนี้ และจะได้ลงทุนในไทยอย่างถูกต้อง ไม่มีการทำผิดกฎหมาย เพราะปัจจุบัน มีคนต่างด้าวที่ลงทุนในไทยภายใต้กฎหมายนี้ หลีกเลี่ยงดำเนินการตามกฎหมาย และเป็นสาเหตุให้เกิดคนไทยเป็นตัวแทนอำพรางถือหุ้นแทนคนต่างด้าว (นอมินี)
สำหรับการตรวจสอบธุรกิจที่มีความเสี่ยงจะเป็นนอมินีนั้น ปี 67 กรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีเป้าหมายตรวจสอบ 26,019 ราย ใน 4 กลุ่มธุรกิจเสี่ยง คือ ท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่อง, ค้าที่ดิน อสังหาริมทรัพย์, โรงแรม รีสอร์ต และธุรกิจเกี่ยวกับขนส่ง (โลจิสติกส์) ที่อยู่ใน 6 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ชลบุรี ภูเก็ต ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี และกรุงเทพฯ โดยล่าสุด ได้คัดกรอง และเรียกขอตรวจสอบเอกสารหลักฐานเพิ่มเติม เช่น เอกสารทางบัญชี ฯลฯ 460 ราย ในจำนวนนี้ ลงพื้นที่ไปตรวจสอบถึงบริษัทแล้ว 91 ราย ส่วนที่เหลือจะตรวจสอบให้เสร็จภายในปีนี้
ส่วนปี 66 จากกลุ่มเป้าหมายที่ต้องตรวจสอบ 16,607 ราย กรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตรวจสอบจนพบบริษัทที่เข้าข่ายนอมินี 8 ราย โดยเป็นนอมินีของต่างด้าวจากฝรั่งเศส 5 ราย จีน 2 ราย และอังกฤษ 1 ราย ซึ่ง 2 ใน 8 รายนี้ เป็นสำนักงานบัญชีและสำนักงานกฎหมายที่มีชื่อเสียงของไทย มีพฤติกรรมถือครองหุ้นถึง 267 บริษัท
“ขอเตือนคนไทยที่เป็นนอมินีหรือคิดจะเป็นนอมินีของต่างด้าว อย่าทำ เพราะจะมีความผิดตามกฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว มาตรา 36 ที่กำหนดว่า ผู้ให้ความช่วยเหลือ หรือสนับสนุน หรือร่วมประกอบธุรกิจ หรือถือหุ้นแทนคนต่างด้าว เพื่อให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจ โดยหลีกเลี่ยงหรือฝ่าฝืนกฎหมาย มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000 ถึง 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
ขณะที่ตัวบริษัทหรือนิติบุคคลที่มีคนไทยเป็นนอมินี จะยังคงทำธุรกิจในไทยต่อไปได้หรือไม่นั้น นางอรมนกล่าวว่า อยู่ที่การพิจารณาของศาล หากศาลตัดสินให้ยกเลิกการทำธุรกิจที่จะต้องขออนุญาตภายใต้กฎหมายต่างด้าว แต่ไม่ได้ขออนุญาต เช่น ท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่อง,ค้าที่ดิน อสังหาริมทรัพย์, โรงแรม รีสอร์ต ฯลฯ ก็ต้องยกเลิกตามคำสั่งศาล.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่