หลังเปลี่ยน คณะรัฐมนตรี หรือ ครม.ใหม่ ที่มี พิชัย ชุณหวชิร เข้ามาดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ก็เริ่มเดินหน้าทันที โดยในวันนี้ 16 พ.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงาน ที่กระทรวงการคลัง ได้จัดการประชุมเพื่อ หารือแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินให้สอดคล้องกับนโยบายการคลัง ระหว่าง นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง และนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
โดยการประชุมครั้งนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางคำถามถึงอนาคตทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของไทย จะไปทางไหน เพราะท่าทีของรัฐบาล และแบงก์ชาติก่อนหน้านี้ ดูไม่ตรงกัน โดยผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมครั้งนี้ กินเวลาถึง 2 ชั่วโมง
ภายหลังการประชุม พิชัย ชุณหวชิร ให้สัมภาษณ์ถึงบรรยากาศและข้อสรุปหลังการประชุม โดยมีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
1.กระทรวงการคลังและ ธปท.เห็นตรงกันว่า ตอนนี้ปัญหารายย่อยขาดสภาพคล่อง เนื่องจากเข้าไม่ถึงสินเชื่อ ส่งผลกระทบทั้งภาคครัวเรือนและธุรกิจ เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข เพื่อลดจำนวนหนี้เสีย (NPLs) มากกว่าการลดอัตราดอกเบี้ย ในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยมีสภาพคล่องที่ดี แต่เข้าถึงสินเชื่อยาก เนื่องจากสถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ หลังจากวันนี้เมื่อมีกรอบการทำงานที่ชัดเจนแล้ว กระทรวงการคลังโดย สนค.จะทำงานร่วมกันกับ ธปท.เพื่อหาแนวทางเพิ่มสภาพคล่องให้คนไทย
2.การกำกับดูแลสถาบันการเงินอย่างเข้มงวดในช่วงที่ผ่านมา ทำให้สถาบันการเงินประเทศไทยมีความแข็งแกร่ง วันนี้กระทรวงการคลังและธปท.จึงมานั่งคุยกันว่าจะมีแนวทางอย่างไร ให้สถาบันการเงินทั้งภาครัฐและเอกชน ดำเนินการปรับพอร์ตสินเชื่อลูกค้าเฉพาะกลุ่มให้เข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น และมีอะไรที่สามารถทำได้ โดยไม่กระทบวินัยการคลัง ซึ่งมองว่ายังมีช่องว่างให้ทำอีกมาก
สำหรับประเด็นเรื่องความไม่ลงรอยกันระหว่างกระทรวงการคลัง และธปท.นายพิชัย
กล่าวว่า
“เราพูดภาษาเดียวกัน ไม่มีปัญหา ท่านพูดมา ผมแย้งไป ท่านพูดมา ผมก็บอกแบบนี้ก็ถูกนะ เพราะผมเคยนั่งเป็นคณะกรรมการธปท.มา เลยเข้าใจวิธีการทำงาน ถ้าดำเนินนโยบายเข้มงวดมาก ผลดีคือสถาบันการเงินก็เข้มแข็ง เชื่อว่าสถาบันการเงินไทย คงอยากเข้ามาช่วยดูแลเรื่องนี้ภายใต้วินัยที่ดี”
นายพิชัยกล่าวว่า ถ้าบริหารเงินเฟ้อไม่เข้าเป้าทางธปท.มีวิธีคิดและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอยู่แล้ว โดยปกติกรอบเงินเฟ้อจะมีการทบทวนทุกปี ซึ่งจะต้องคำนึงถึงสถานการณ์ในระยะข้างหน้า ซึ่งต้องให้อิสระ ธปท.
นอกจากนี้กระทรวงการคลัง และ ธปท. ยังเห็นตรงกันในประเด็นการแก้ปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ทั้งธุรกิจ SME และธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งต้องใช้เวลาแก้ไขระยะยาว หลังจากนี้จะต้องพิจารณาดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่มากขึ้น
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney