เวลานี้คงไม่ใช่แค่ “ผู้ประกอบการไทย” กำลังวิตกกังวลกับนโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนการผลิตโดยตรง แต่ภาคการส่งออกสินค้าและการผลิตที่ฟื้นตัวได้ช้า จนส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าในไตรมาสแรกของปีลดลง 0.2% ก็กำลังเป็นอุปสรรคใหญ่ต่อเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย ปี 2567 ด้วย
สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือน เม.ย. 2567 หดตัวมาอยู่ที่ระดับ 90.3 โดยผู้ประกอบการไทยต่างกังวลถึงภาวะการส่งออกที่ชะลอลงของประเทศคู่ค้า จากปัญหาความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก รวมถึงผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางรุนแรงขึ้น
อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงปัจจัยบางเบา เมื่อเทียบกับสิ่งที่ผู้ประกอบการไทย จำเป็นต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์ และปรับตัวเพื่อรับกับแรงกระแทกต่างๆ ที่นับวันการค้าโลกยิ่งเต็มไปด้วยข้อจำกัด
เปิดมุมมอง “มนตรี มหาพฤกษ์พงศ์” ประธานคณะกรรมการบริหาร หอการค้านานาชาติแห่งประเทศไทย (ICC Thailand) ระบุว่า ขณะนี้ไม่ใช่แค่ผู้ประกอบการไทยกำลังเผชิญกับคำสั่งซื้อสินค้าหดตัว แต่ปัจจุบันปัญหาการกีดกันทางการค้าของโลก ก็มีแนวโน้มซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีการนำเรื่องสิ่งแวดล้อมมาเป็นเงื่อนไข หรือข้อกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น ถ้าไม่ปรับตัว อาจเป็นข้อเสียเปรียบได้
เช่น มาตรการปรับภาษีคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของยุโรป Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) โดยจะเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 6 อุตสาหกรรม ประกอบด้วย เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย ไฟฟ้า และไฮโดรเจน ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2566
โดยในช่วงปี 2566-2568 จะเป็นการกำหนดให้แต่ละประเทศเมื่อส่งออกสินค้าที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อมไปยุโรป จะต้องมีการรายงานข้อมูลผลกระทบต่างๆ ต่อสิ่งแวดล้อม จากนั้นก็จะเริ่มมีการเก็บภาษีอย่างเต็มรูปแบบในปี 2569
ขณะเดียวกันยังเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน ซึ่งแต่ละประเทศจะต้องเตรียมตัวในเรื่องการบริหารจัดการภาคอุตสาหกรรมและดูแลภาคการส่งออกให้ได้เกณฑ์มาตรฐานสิ่งแวดล้อม ซึ่งต่อไปมาตรการ CBAM จะครอบคลุมสินค้ามากขึ้นและนับรวมการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ทางอ้อมอีกด้วย
สำหรับ ICC Thailand หอการค้านานาชาติแห่งประเทศไทย หรือ International Chamber of Commerce - Thailand ในฐานะสมาชิกและตัวแทนของหอการค้านานาชาติ (ICC) ก่อตั้งขึ้นในปี 2542 โดยการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย
ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะสนับสนุนภาคธุรกิจไทยให้สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดกฎระเบียบการค้าและการลงทุนในเวทีโลก และเป็นตัวแทนของภาคเอกชนไทยในการเสนอข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ จึงถือว่าเรื่องดังกล่าวเป็นภารกิจเร่งด่วน ที่ ICC ต้องเร่งเสริมแกร่งศักยภาพผู้ประกอบการไทย ให้ขับเคลื่อนธุรกิจสู่เวทีโลกได้อย่างราบรื่น
“มนตรี” ยังกล่าวว่า ส่วนหนึ่งที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการได้ คือ การเลือกใช้กฎระเบียบการค้าที่ถูกต้องเพื่อลดความเสี่ยงต่างๆ ของผู้ส่งออก เช่น กฎ Incoterms ซึ่งทาง ICC Thailand ได้มีการจัดอบรมอย่างต่อเนื่อง เช่น เรื่อง Force Majeure เหตุสุดวิสัยในการค้าขาย และส่งสินค้าระหว่างประเทศ การใช้เอกสารต่างๆ ที่จำเป็นในการลดภาษี หรือยกเว้นภาษีนำเข้าของกรอบความร่วมมือ FTA กับประเทศต่างๆ และให้ความรู้เกี่ยวกับข้อกำหนด ESG เพื่อส่งสินค้าไปยังประเทศในทวีปยุโรปและสหรัฐอเมริกา เป็นต้น
“แค่ทำการค้าในไทย ยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องมากกว่า 1.5 แสนฉบับ แต่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ มีมากกว่ามหาศาล ถ้าผู้ประกอบการไม่เข้าใจ จะทำให้เสียเปรียบ และยังต้องอยู่ภายใต้การแข่งขันที่เป็นธรรม กฎระเบียบเข้ม เรื่องการคุมตลาดของประเทศนั้นๆ ด้วย ที่สำคัญ ยุคนี้ผู้ประกอบการไทยจะเน้นทำมาค้าขายอย่างเดียวไม่ได้ ต้องให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่เรื่องคอร์รัปชัน ระดับสากลก็ให้ความสำคัญอย่างมาก”
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยต้องการขยายตลาดในต่างประเทศมากขึ้น โดยหอการค้านานาชาติ (ICC) เครือข่ายสมาชิกอยู่กว่า 100 ประเทศทั่วโลก จำนวน 4.5 ล้านบริษัท หากผู้ประกอบการไทยต้องการขยายตลาดไปยังต่างประเทศ ก็สามารถใช้เครือข่ายของ ICC ในประเทศนั้นได้
ปัจจุบันหอการค้านานาชาติแห่งประเทศไทยมีการบริหารงานโดยคณะกรรมการบริหารและดำเนินงานโดยผ่านคณะกรรมาธิการ (Commission) ด้านต่างๆ 11 สาขา ประกอบด้วย
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่มองว่าเป็นจุดแข็ง โอกาสของผู้ประกอบการไทยให้สามารถต่อยอดได้ คือ Commission on Food and Agricultural Products (ด้านผลิตภัณฑ์อาหารและเกษตร) ของสินค้าไทย จากตำแหน่งประเทศไทย เป็น Food Supplier ของโลก อ้างอิงข้อมูลเผยแพร่ พบในปี 2566 ไทยได้ขึ้นแท่นเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 12 ของโลก และใหญ่เป็นอันดับ 2 ของเอเชีย
ประเด็นดังกล่าว ICC ยังชี้ว่า จากจุดแข็งที่ไทยได้เป็น 1 ใน “ห่วงโซ่ความมั่นคงทางอาหาร” ของโลก เพราะเราส่งออกอาหารสดและอาหารแปรรูปไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก นี่เป็นโอกาสที่จับต้องได้ ย้อนไปเมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา เทรนด์อาหารอนาคต หรือ Future Food มาแรง แต่ปัจจุบันตลาดใหม่ที่น่าจับตามอง คือ กลุ่มอาหารสัตว์ ถ้าผู้ประกอบการไทยรุกเร็วก็ได้เร็ว เพราะถ้าทำแบบเดิมๆ เราอาจได้ผลลัพธ์แบบเดิมๆ.
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ Thairath Money ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney