BOI เผยไทยเนื้อหอม บริษัทยักษ์อินเดีย จับมือ BBGI ตั้งโรงงานชีวภาพขั้นสูงใหญ่สุดในอาเซียน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

BOI เผยไทยเนื้อหอม บริษัทยักษ์อินเดีย จับมือ BBGI ตั้งโรงงานชีวภาพขั้นสูงใหญ่สุดในอาเซียน

Date Time: 14 พ.ค. 2567 15:37 น.

Video

3 มาตรการใหม่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คุมหุ้นร้อนผิดปกติ | Money Issue

Summary

  • BOI ส่งเสริมการลงทุนบริษัทร่วมลงทุนจากอินเดีย จัดตั้งโรงงานเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูงเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่แห่งแรกในอาเซียน เพิ่มโอกาสพัฒนาไทยเป็น Bio Hub ของภูมิภาค

Latest


รัฐบาลไทย ยังเดินหน้าลงทุนดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่องหลังจากที่ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและคณะ เดินทางเยือนต่างประเทศจำนวน 14 ประเทศ หารือกับบริษัทชั้นนำจากทั่วโลกกว่า 60 แห่ง พร้อมชักชวนลงทุนในประเทศไทย ทำให้ในปี 2566 ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้รับคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนมูลค่ารวม 8.5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 9 ปี 

ล่าสุด นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) อนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนบริษัท บีบีจีไอ เฟิร์มบ็อกซ์ ไบโอ จำกัด เพื่อจัดตั้งโรงงานเทคโนโลยีชีวภาพที่ใช้เทคโนโลยีการหมักที่แม่นยำ (Precision Fermentation) เพื่อผลิตเซลลูโลซิก เอนไซม์ (Cellulosic Enzyme) สำหรับใช้ในอุตสาหกรรม โดยขยายขนาดจากระดับห้องปฏิบัติการ (Lab scale) สู่การผลิตเชิงพาณิชย์ (Commercial Scale) ขนาดใหญ่ นับเป็นโรงงานเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูงเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่แห่งแรกในอาเซียน 


โดยบริษัทฯ ดังกล่าว เป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ BBGI ในกลุ่มบางจากฯ ผู้เชี่ยวชาญธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง กับบริษัท เฟิร์มบ็อกซ์ ไบโอ (Fermbox Bio) ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นผู้นำด้านชีววิทยาสังเคราะห์ (Synthetic Biology: SynBio) และด้านการขยายกำลังการผลิตไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ (Lab-to-launch) โดยบริษัทฯ วางแผนที่จะตั้งฐานการผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพ (Bio Hub) ใน EEC มุ่งเน้นการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) ด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ

ทั้งนี้ โรงงานเทคโนโลยีชีวภาพดังกล่าวตั้งอยู่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งจะผลิตเซลลูโลซิก เอนไซม์ ด้วยอุปกรณ์ขั้นสูงตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยมีกำลังการผลิตในระยะแรก 200,000 ลิตร ภายใต้เงินลงทุน 440 ล้านบาท และมีเป้าหมายจะเพิ่มกำลังการผลิตรวมให้ถึง 1 ล้านลิตร ในระยะต่อไป และจะใช้วัตถุดิบส่วนใหญ่จากในประเทศ และวางแผนจะตั้งให้ไทยเป็นฐานการผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพ (Bio hub) ของบริษัทฯ 


การตั้งโรงงานเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูง นอกจากจะช่วยยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมต้นน้ำด้านเทคโนโลยีชีวภาพของไทยแล้วยังสะท้อนถึงศักยภาพของไทยที่มีความพร้อมทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน บุคลากร และวัตถุดิบทางชีวภาพที่สมบูรณ์ นอกจากนี้ การที่บริษัทฯ มีเป้าหมายที่จะใช้วัตถุดิบส่วนใหญ่จากในประเทศ คาดว่าจะเป็นการกระจายรายได้ไปสู่พี่น้องชาวไทยในภาคอุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ Thairath Money ได้ที่ 
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ


ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney


 


 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์