หนี้เสีย “สินเชื่อบ้าน” พุ่ง1.8 แสนล้าน เศรษฐกิจซึม ค้างค่างวดเพิ่ม ดีมานด์ซื้อ “ที่อยู่” หดตัว31%

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

หนี้เสีย “สินเชื่อบ้าน” พุ่ง1.8 แสนล้าน เศรษฐกิจซึม ค้างค่างวดเพิ่ม ดีมานด์ซื้อ “ที่อยู่” หดตัว31%

Date Time: 13 พ.ค. 2567 14:55 น.

Video

ล้วงไส้ TEMU อีคอมเมิร์ซจีน บุกไทย ทำไมอาจสร้างวิบากกรรมกว่าที่คิด ? | Digital Frontiers

Summary

  • หนี้เสีย “สินเชื่อบ้าน” พุ่ง 1.8 แสนล้าน เศรษฐกิจซึม คนค้างค่างวดเพิ่ม กระทบตลาดอสังหาฯ หลัง ดีมานด์ซื้อ “ที่อยู่” หดตัว 31% สวนทางซัพพลาย และราคา บ้าน-คอนโดฯ-ทาวน์เฮาส์ เพิ่มขึ้น

Latest


ข้อมูลจากเครดิตบูโร (บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ) เผย ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2567 หนี้ครัวเรือนไทย เทียบกับ GDP อยู่ที่ 91.3% หรือเท่ากับ 16.3 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นหนี้ที่อยู่ในระบบเครดิตบูโร ราว 13.64 ล้านล้านบาท โดยที่ยังไม่นับรวมการกู้หนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ และหนี้ของ กยศ. 

พบประเด็นที่น่าเป็นห่วง คือ สถานการณ์หนี้เสียเพิ่มมากขึ้น จาก 13.64 ล้านล้านบาท มีตัวเลขหนี้เสีย, หนี้ NPLs แล้ว เป็นยอดสะสม 1.09 ล้านล้านบาท โดยเป็นหนี้รถยนต์ 2.4แสนล้าน เติบโตขึ้นมา 32% เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วน หนี้บ้านเติบโตไม่แพ้กัน สะท้อนภาพ : คนไทยหนี้ท่วม เริ่มผ่อนรถ-ผ่อนบ้าน ไม่ไหว


สอดคล้องกับข้อมูลล่าสุดของ ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ ที่รายงานว่า ขณะนี้ตลาดที่อยู่อาศัยไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน จากอัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 10 ปี ทำให้ต้นทุนทางการเงินในการซื้อที่อยู่อาศัยปัจจุบันยังคงสูง เมื่อเทียบกับกำลังซื้อของผู้บริโภค 

เห็นได้จากข้อมูลของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) เผยว่า ณ สิ้นปี 2566 มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) หรือหนี้เสียจากสินเชื่อที่อยู่อาศัย 1.8 แสนล้านบาท ส่วนหนี้บ้านที่ค้างชำระ 30-90 วัน เพิ่มขึ้นถึง 31%  มาอยู่ที่ 1.78 แสนล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นบ้านมูลค่าไม่เกิน 3 ล้านบาท 

ประกอบกับความเข้มงวดในการพิจารณาสินเชื่อของธนาคารในเวลานี้ ทำให้ผู้ซื้อต้องมีความพร้อมทางด้านการเงินมากขึ้น รวมทั้งผู้บริโภคกลุ่ม Real Demand อาจจะยังชะลอแผนการซื้อที่อยู่อาศัยออกไปก่อน เพื่อรอติดตามสถานการณ์การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) 

ซึ่งจะมีการประชุมรอบถัดไปในเดือนมิถุนายน 2567 รวมทั้งจับตาทิศทางการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด เพื่อลดความเสี่ยงในการเพิ่มภาระหนี้ที่เกินศักยภาพออกไปก่อน มีผลโดยตรงกับกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้น้อย-ปานกลาง ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบมาตั้งแต่ช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อีกทั้งสภาพเศรษฐกิจที่ยังคงซบเซา ให้มีความท้าทายทางการเงินมากขึ้น 

เกิดภาพผู้บริโภคเลือกชะลอแผนการซื้อบ้านออกไปก่อน เห็นได้ชัดจากภาพรวมความต้องการซื้อทั่วประเทศที่ปรับลดลง 7% จากไตรมาสก่อนหน้า และลดลงถึง 31% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในทุกประเภทที่อยู่อาศัย สะท้อนให้เห็นกำลังซื้อในเมืองหลวงที่ยังคงซบเซาต่อเนื่อง 

  • ทาวน์เฮาส์ ลดลง 38%
  • บ้านเดี่ยว ลดลง 37% 
  • คอนโดฯ ลดลง 26% 

“เมื่อความต้องการซื้อลดลง จึงทำให้ปัจจุบันมีสินค้าแนวราบเหลือขายเพิ่มขึ้น โดยบ้านเดี่ยวเพิ่มขึ้น 7% และทาวน์เฮาส์เพิ่มขึ้น 8%”

ขณะ “วิทยา อภิรักษ์วิริยะ” ผู้จัดการทั่วไป Think of Living และ ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (ฝั่งดีเวลลอปเปอร์) ยังระบุว่า ความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยที่อยู่ในช่วงขาลง ยังสวนทางกับราคาที่เพิ่มขึ้น หลังพบราคาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ มีทิศทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2 ปี 2566 ราว 8% กลายเป็นช่องว่างระหว่างแนวโน้มดัชนีความต้องการซื้อ กับดัชนีราคาเริ่มกว้างออกจากกันเรื่อยๆ 

ทั้งนี้ คอนโดฯ ยังครองตลาด โดยมีจำนวนมากที่สุดถึง 80% ของจำนวนที่อยู่อาศัยทั้งหมดในกรุงเทพฯ ขณะที่บ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์ มีสัดส่วนไล่เลี่ยกันที่ 11% และ 9% ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่ามาตรการลดค่าโอนกรรมสิทธิ์และค่าจดจำนองสำหรับที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท จะช่วยเพิ่มอัตราการดูดซับที่อยู่อาศัยกลุ่มใหญ่ในกรุงเทพฯ ให้ลดลงได้

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ Thairath Money ได้ที่ 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์