เพื่อทะเลไทย ด้วยใจรักษ์

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เพื่อทะเลไทย ด้วยใจรักษ์

Date Time: 14 พ.ค. 2567 05:30 น.

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) โดย “ปาริชาติ บุญคล้าย” ผู้อำนวยการฝ่ายบริการการตลาด ได้จัดโครงการ “เพื่อทะเลไทย ด้วยใจรักษ์” นำช่างภาพมืออาชีพ ไปถ่ายภาพและวิดีโอพร้อมสำรวจแนวปะการังใต้ทะเล ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ จ.พังงา ระหว่างวันที่ 30 เม.ย.–4 พ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อนำมาเก็บในคลังภาพของ ททท. (TAT Media Asset : TMA) และนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการท่องเที่ยว หลังจาก ททท.ไม่มีรูปภาพใหม่ๆใต้ทะเลสีครามมาเนิ่นนาน

ปรากฏผลจากการเดินทางทริปนี้ ที่ทุกคนไปในฐานะจิตอาสา ได้ประโยชน์กว่าที่นึก ลึกกว่าที่คาดคิด เมื่อมีการบูรณาการทำงาน ระหว่างหน่วยงานที่จะก่อให้เกิดการอนุรักษ์ทะเลไทยมากขึ้น

“นภันต์ เสวิกุล” ช่างภาพผู้ที่บันทึกเรื่องราว และความสวยงาม ของเมืองไทย ตั้งแต่ยอดภูผา ถึงใต้มหานที ผ่านทางภาพถ่ายระดับครู มายาวนานกว่า 40 ปี ได้เลือกช่างภาพมืออาชีพระดับประเทศ ร่วมคณะ 3 คน คือ “วราณ สุวรรณโณ” ที่รู้จักกันในนาม RBJ ช่างภาพมือฉมังอันดับต้นของเมืองไทย ผู้ที่ครุ่นคิดและวางแผนงานทุกครั้งก่อนกดชัตเตอร์ แถมด้วยดีกรีนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลแบบเข้าเส้นเลือด “เดชบดินทร์ ลิมศุภนาค”ช่างภาพหนุ่ม ที่หลงรักการเฝ้าดูการใช้ชีวิตของสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล ถ่ายภาพด้วยมุมมองของคนที่รักกล้อง เข้าใจเทคโนโลยี ใช้เทคนิคแปลกใหม่ มาเล่าเรื่องราวในมุมที่หลายคนไม่เคยเห็น และ “นวพรรณ เจนจรัสสกุล” ช่างภาพ มือล่ารางวัลทั้งในไทยและต่างประเทศ ผู้ที่บอกว่าไม่ต้องไปไกลถึงดวงจันทร์ แค่ลงลึกไปใต้ทะเลไม่กี่เมตรก็จะได้พบกับโลกที่แสนสวยงาม ชื่นชอบการศึกษาและค้นหาสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กจิ๋วใต้ทะเล มานำเสนอ

คณะที่ร่วมเดินทาง ครั้งนี้ยังประกอบไปด้วย “วินิจ รังผึ้ง” อดีตบรรณาธิการบริหารอนุสาร อ.ส.ท. ช่างภาพอาชีพผู้ถ่ายทอดคอลัมน์ “ท่องโลกใต้ทะเล” มาร่วม 30 ปี “กิ่งกาญจน์ สิงห์สมดี” ช่างภาพวิดีโอใต้น้ำ และโปรดิวเซอร์สารคดี Sea Series จากบริษัท พาโนราม่า เวิลด์ไวด์ จำกัด

การเดินทางท่องโลกใต้ทะเลครั้งนี้ “นภันต์ เสวิกุล” แนะนำให้ใช้บริการเรืออมิตา (Amita Liveaboard) ของ “ครูสิทธิ์–ชนันพัทธ์ สุรชัยกุลวัฒนา” ภายใต้เหตุผลว่า ครูสิทธิ์เป็นคนที่มีใจอนุรักษ์ท้องทะเล พอได้ร่วมลงเรือลำนี้ จึงเป็นอีกหนึ่งคนที่ถูกปลูกฝังแนวคิดการอนุรักษ์ ภายใต้การบรรยายในหัวข้อ “ปะการัง มหัศจรรย์กว่าที่คิด” ครูสิทธิ์ บอกสังเกตได้ว่านักดำน้ำที่ได้เรียนรู้การใช้ชีวิตของปะการังแล้ว มีความระมัดระวังมากขึ้น

ทริปท่องทะเล 4 วัน 4 คืนครั้งนี้ ยังได้รับอนุญาตจาก “อรรถพล เจริญชันษา” อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงสำรวจเพื่อถ่ายภาพแนวปะการัง บริเวณหน้าหาดของเกาะตาชัย ที่ไม่อนุญาตนักท่องเที่ยว ขึ้นเกาะมาร่วม 8 ปี หลังในช่วงนั้นพบแนวปะการังเสียหายจำนวนมาก

เช้าวันหนึ่ง “นภันต์ เสวิกุล” นั่งวางแผนการสำรวจแนวปะการังโดยวิธีถ่ายวิดีโอ ร่วมกับ “วราณ สุวรรณโณ” ครอบคลุมความลึก 12 เมตร ไล่ขึ้นฝั่งไปจนถึงระดับ 1.5 เมตร โดยดำสลับฟันปลาซ้ายขวา สิ่งที่ได้เหนือกว่าที่คาดคิด

หลังจบทริป “วราณ สุวรรณโณ” ได้จัดทำบทสรุป โชว์ด้วยรูปภาพและคำอธิบาย ว่า ที่แนว 12-10 เมตร แนวปะการังสมบูรณ์ดี ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจาก 8 ปี ก่อนปิดเกาะที่แนว 8-5 เมตร แนวปะการังสมบูรณ์ สาหร่ายน้อย และมีกลุ่มก้อนปะการังแบบโขดเกิดใหม่ คาดว่าน่าจะเกิดใหม่ในช่วงปิดฟื้นฟู ที่แนว 5-3 เมตร พบปะการัง แบบเขากวาง ดอกกะหล่ำ นิ้วมือ ขนาดโคโลนีตั้งแต่ 5-15 ซม. ซึ่งน่าจะอยู่ในช่วงปิดฟื้นฟูเช่นกัน

ความลึก 3-1.5 เมตร ก่อนเข้าแนวทราย มีสาหร่ายพวงองุ่น และสาหร่าย halimida ขึ้นปกคลุมค่อนข้างหนาแน่น แต่จากการสำรวจ พบว่ามีทรายกลบในพื้นที่ที่มีความลึก ที่คิดว่าไม่สามารถพัดพาออกไปได้ ด้วยน้ำขึ้นน้ำลง หรือกระแสน้ำธรรมชาติ ถ้าหากมีการทำการศึกษาเรื่องการทำความสะอาดแนวที่ทรายกลบ เพื่อลองเพิ่มพื้นที่การลงเกาะ ของตัวอ่อน ก็ดูน่าสนใจ

“วราณ สุวรรณโณ” สรุปว่า การดำน้ำ ครอบคลุมระยะประมาณ 1000 ตารางเมตร ตามแนวตรง ด้วยเวลาจำกัด อาจจะยังไม่สามารถ ใช้เป็นตัวแทนพื้นที่สำรวจได้อย่างมีนัยสำคัญ หากมีการสำรวจและหาแนวทางศึกษาอีกครั้งจะดีมาก

บทต่อจากนี้เกิดขึ้นทันที เมื่อ “หมอล็อต-น.สพ.ภัทรพล มณีอ่อน” นายสัตวแพทย์ชำนาญพิเศษประจำกรมอุทยานฯ หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า ที่ร่วมในทริปนี้ด้วย ได้นำ ข้อมูลข้างต้นเสนอต่ออธิบดีอรรถพล เจริญชันษา ทราบและได้สั่งการให้นำข้อมูลเข้าที่ประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาอุทยานแห่งชาติทางทะเล และจะมีการจับมือกันของ กรมอุทยานฯ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อกำหนดแนวทางและมาตรการรับมือที่จะนำมาสู่การ กำหนดนโยบายอนุรักษ์ควบคู่กับการท่องเที่ยว

บทสรุปทั้งหมดนี้ กลุ่มจิตอาสาที่ร่วมในทริปจะนำมาเสนอบนเวทีเสวนา “เพื่อทะเลไทย ด้วยใจรักษ์” เพื่อจุดประกายการอนุรักษ์ทรัพยากรอันมีค่าทางทะเล ในหัวใจนักดำน้ำและคนรักทะเล วันศุกร์ที่ 17 พ.ค. 2567 เวลา 14.30-15.15 น. พร้อมกับการจัดนิทรรศการภาพถ่ายใต้ทะเลของช่างภาพกลุ่มนี้ ระหว่างวันที่ 16–19 พ.ค.นี้ บริเวณ หน้า Hall 5–6 ในงาน Thailand Dive Expo 2024 (TDEX 2024) ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์.

อมรรัตน์ จรูญสมิทธิ์

คลิกอ่านคอลัมน์ "THE ISSUES" เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ