“สุริยะ” เปิดแผนเนรมิตระบบโครงข่ายคมนาคม “ภูเก็ต” ขึ้นชั้น “ฮับการท่องเที่ยว-การบิน” โลก

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

“สุริยะ” เปิดแผนเนรมิตระบบโครงข่ายคมนาคม “ภูเก็ต” ขึ้นชั้น “ฮับการท่องเที่ยว-การบิน” โลก

Date Time: 13 พ.ค. 2567 07:32 น.

Summary

  • โครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมขนส่งต่างๆของจังหวัดภูเก็ต ทั้ง “ทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ และ ทางราง” ก็ต้องพร้อมที่จะรองรับผู้คนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ที่จะเดินทางเข้ามา “ทีมเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” จึงได้สัมภาษณ์ “นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ถึงแผนการดำเนินการ และแนวทางการพัฒนา เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคมขนส่งในพื้นที่ จังหวัดภูเก็ต

Latest

“เอนเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์” ในประเทศไทย จังหวัดไหนบ้าง? ที่ทำเลมีศักยภาพ พร้อมให้ทุนใหญ่ลงทุน

หากพูดถึงหมู่เกาะที่มีความสวยงามระดับโลก “เกาะภูเก็ต” ของไทย เป็นหนึ่งในเกาะที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกรู้จักและอยากมาสัมผัสด้วยตัวเองสักครั้ง สมกับชื่อ “ไข่มุกแห่งอันดามัน”

เห็นได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หลั่งไหลเข้ามาประเทศ ไทยจำนวนมากเพื่อท่องเที่ยวธรรมชาติ เกาะ และทะเลใต้ตอนล่าง ภายหลังการหยุดแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมุ่งตรงสู่จังหวัดภูเก็ต และเกาะแก่ง จังหวัดต่างๆ รอบๆ ภูเก็ต รวมกว่า 10 ล้านคนต่อปี ส่งผลให้ในปี 66 จังหวัดภูเก็ตและบริเวณใกล้เคียง มีเศรษฐกิจแพร่สะพัดรวมกว่า 300,000 ล้านบาท

และนอกเหนือจากความสวยงามแล้ว “ภูเก็ต” ยังมีศักยภาพในด้านต่างๆที่มากกว่านั้น รัฐบาลภายใต้การนำของ “นายเศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี จึงมีนโยบายเร่งผลักดัน “จังหวัดภูเก็ต” ให้ก้าวสู่ “ฮับแห่งการท่องเที่ยว และฮับแห่งการบิน” เต็มรูปแบบ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมการบินที่กลับมาเติบโตอย่างต่อเนื่อง

แต่การจะเป็นฮับได้นั้น โครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมขนส่งต่างๆของจังหวัดภูเก็ต ทั้ง “ทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ และ ทางราง” ก็ต้องพร้อมที่จะรองรับผู้คนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ที่จะเดินทางเข้ามา “ทีมเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” จึงได้สัมภาษณ์ “นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ถึงแผนการดำเนินการ และแนวทางการพัฒนา เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคมขนส่งในพื้นที่ จังหวัดภูเก็ต ทั้งระบบเพื่อให้รองรับนักท่องเที่ยว และการลงทุนที่จะมาจากทั่วทุกมุมโลกให้ได้รับความสะดวก ปลอดภัย ส่งเสริมให้ “ภูเก็ต” ก้าวสู่ ฮับแห่งการท่องเที่ยว และ ฮับทางการบิน อย่างสมบูรณ์

อัปเกรดโครงสร้างพื้นฐานแก้ปัญหารถติด

“นายสุริยะ” เริ่มต้นเล่า ให้ “ทีมเศรษฐกิจ” ฟังถึงแนวนโยบายในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของ จ.ภูเก็ต ว่า “นายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยว โดยเฉพาะบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามัน โดยเฉพาะการเร่งพัฒนายกระดับจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวชั้นนำของโลก และเป็นประตูสำคัญของภาคใต้ตอนล่าง เพื่อเป็นกลไกสำคัญที่จะขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศในระยะต่อไป”

โดยแนวทางแรกที่จะเร่งดำเนินการคือ การยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทั้งระบบ ซึ่งปัญหาสำคัญของเกาะภูเก็ตในขณะนี้ คือ ปัญหาการจราจรที่ติดขัด เนื่องจากมีถนนสายหลักเชื่อมต่อหัวเกาะกับท้ายเกาะ (ท่าอากาศยานภูเก็ตกับศูนย์กลางเมือง) เพียงเส้นทางเดียว คือ ทางหลวงหมายเลข 402 ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ต้องใช้ถนนสายดังกล่าว โดยปัจจุบัน พบว่าการเดินทางจากแยกสนามบินถึงตัวเมืองภูเก็ต ระยะทาง 27 กิโลเมตร ต้องใช้เวลาในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนประมาณ 1 ชั่วโมง ถึง 1 ชั่วโมง 20 นาที

ดังนั้น กระทรวงคมนาคม จึงได้วางแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งใน ระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว ครอบคลุมการพัฒนา ทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ และระบบขนส่งมวลชนทางราง รองรับการเติบโตของเมืองภูเก็ต และเพื่อแก้ปัญหาเบื้องต้น จะเริ่มต้นจากการแก้ไขปัญหาการจราจรใน ระยะเร่งด่วน ก่อนเป็นลำดับแรก โดยให้กรมทางหลวง (ทล.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แก้ไขปัญหาการจราจรบนถนนสายหลักคือ ทางหลวงหมายเลข 402 ทันที

เริ่มจากปรับปรุงระบบไฟสัญญาณจราจรอัจฉริยะในทุกทางแยก กำหนดเขตห้ามจอดรถริมทางหลวง เพื่อไม่ให้กีดขวางการจราจรบนทางหลัก ปิดจุดกลับรถเพื่อลดความแออัด รวมทั้งมีแนวคิด ทดลองให้รถวิ่งตรงผ่านทางแยกอย่างเดียวบนทางสายหลัก ส่วนถนนสายรองให้รถเลี้ยวซ้ายไปกลับรถทั้งหมด เฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วน

ส่วน ระยะกลาง จะเป็นการแก้ไขปัญหาจุดคอขวดบนถนนสายหลัก (ทางหลวงหมายเลข 402) ควบคู่ไปกับการก่อสร้างและขยายทางหลวงหมายเลข 4027 ให้เป็นขนาด 4 ช่องจราจร ตลอดเส้นทาง เพื่อเป็นทางเลี่ยงเมืองที่สมบูรณ์ เพิ่มทางเลือกในการเดินทางของประชาชน

ขณะที่ ระยะยาว จะเป็นการพัฒนาทางพิเศษเชื่อมต่อระหว่าง หาดป่าตอง กับท่าอากาศยานภูเก็ต และเชื่อมต่อกับทางพิเศษระหว่างเมือง หรือมอเตอร์เวย์ ซึ่งจะทำให้ประชาชนที่จะเดินทางจากท่าอากาศยานภูเก็ต เข้า-ออก เมืองภูเก็ตผ่านมอเตอร์เวย์ โดยไม่ต้องผ่านถนนปกติ นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมยังจะยกระดับการให้บริการคมนาคมทุกรูปแบบ ทั้งท่าอากาศยาน ท่าเรือ Cruise Terminal และระบบขนส่งมวลชนทางรางที่ทันสมัย

ภายใต้ 5 โครงการสำคัญ ซึ่งเป็นของกรมทางหลวง 3 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการก่อสร้างทางแนวใหม่ ช่วงบ้านเมืองใหม่–สามแยกเข้าสนามบินภูเก็ต ขนาด 4 ช่องจราจร และทางแยกต่างระดับระยะทาง 1.95 กิโลเมตร วงเงินก่อสร้าง 1,300 ล้านบาท 2.โครงการก่อสร้างขยายช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 4027 ช่วงบ้านพารา– บ้านเมืองใหม่ ขยายถนนเดิมจาก 2 ช่องจราจร ให้เป็น 4 ช่องจราจร ระยะทาง 4.55 กิโลเมตร โดยมีการก่อสร้างสะพานพร้อมจุดกลับรถใต้สะพาน 3 แห่ง วงเงินก่อสร้าง 650 ล้านบาท และ 3.โครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับที่จุดตัด ทล.402 กับ ทล.4027 และ ทล.4025 (แยกท่าเรือ) วงเงินค่าก่อสร้าง 2,380 ล้านบาท ซึ่งทั้ง 3 โครงการดังกล่าว คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ประมาณปลายปี 2569

ขณะที่มอบหมายให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ดำเนินงาน 2 โครงการ ประกอบด้วย 1.โครงการทางพิเศษ (ทางด่วน) จ.ภูเก็ต ช่วงกะทู้–ป่าตอง วงเงิน 16,494 ล้านบาท และ 2.ช่วงเมืองใหม่–เกาะแก้ว–กะทู้ วงเงิน 45,651 ล้านบาท และเมื่อสร้างเสร็จจะช่วยลดระยะเวลาการเดินทางจากท่าอากาศยานภูเก็ตไปหาดป่าตองจากเดิม 90 นาที เหลือเพียง 20 นาทีเท่านั้น คาดเปิดให้บริการประชาชนได้ในปี 2573

“ในส่วนของการพัฒนาระยะกลางและระยะยาว ผมได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานหาวิธีการเร่งรัดการก่อสร้างโครงการโดยใช้ความรู้ทางวิศวกรรมและการบริหารสัญญา เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการประชาชนได้โดยเร็วที่สุด” นายสุริยะกล่าว

ปั้น “แทรมภูเก็ต” เทียบชั้นเมืองท่องเที่ยวโลก

“นายสุริยะ” เล่าต่อว่า นอกเหนือจากการพัฒนาระบบคมนาคมทางถนนแล้ว อีกสิ่งสำคัญที่จะผลักดันเพื่อยกระดับการคมนาคมในจังหวัดภูเก็ต คือการสร้าง ระบบขนส่งมวลชนทางราง (รถไฟฟ้ารางเบา หรือ Tram) ช่วงท่าอากาศยานภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง ระยะทาง 41.7 กม. ซึ่งเป็นโครงการขนส่งมวลชนทางรางเส้นทางนี้จะเป็นโครงการแรกที่จะพัฒนานอกกรุงเทพมหานคร และจะเป็นโครงการต้นแบบที่จะใช้ในจังหวัดอื่นๆ

โดยได้มอบหมายให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ศึกษารูปแบบที่เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณที่มีช่องจราจรแคบ และมีจุดตัดการจราจร เบื้องต้นคาดใช้เวลาศึกษาประมาณ 6 เดือน ซึ่งตามแผนงานที่กำหนดไว้จะเริ่มศึกษาหาแนวทางการจัดทำและแผนดำเนินการ ในปี 2568-2569

เมื่อได้ข้อสรุปแล้วจะเสนอต่อกระทรวงคมนาคม รวมถึงหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องพิจารณาในปี 2569-2570 ขณะที่ช่วงปี 2570-2571 จะเข้าสู่ กระบวนการคัดเลือกเอกชน และในช่วงปี 2571 คาดว่าจะเริ่มการก่อสร้าง พร้อมเปิดให้บริการในปี 2574 โครงการแทรมนี้จะทำให้ภูเก็ตมีระบบขนส่งมวลชนที่ทันสมัย สมกับเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก

นายสุริยะ กล่าวเสริมว่า “ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม เพราะสอดคล้องกับกำหนดการเปิดให้บริการถนนสายหลักตามแผนของกระทรวง จึงทำให้การก่อสร้างของระบบรางไม่ส่งผลกระทบต่อการสัญจรในเส้นทางหลัก เพราะเริ่มดำเนินการเมื่อโครงการก่อสร้างทางพิเศษแล้วเสร็จ นอกจากนั้น ยังมีการออกแบบการก่อสร้างบางส่วนในลักษณะคลองแห้ง (ทางลอด) ตัดผ่านแยกต่างๆ บนถนน ทล. 402 รอบนอกตัวเมืองภูเก็ต เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและส่งผลกระทบต่อการจราจรบนทางหลวงให้น้อยที่สุด”

ยกระดับสนามบินภูเก็ตรับฮับท่องเที่ยว

ขณะที่การยกระดับศักยภาพด้านการบิน ตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายให้ประเทศไทยยกระดับศักยภาพเป็น ศูนย์กลางด้านการบิน (Aviation Hub) ของภูมิภาคให้ได้ในอนาคต นายสุริยะ กล่าวว่า กระทรวงคมนาคม ได้เร่งจัดทำแผนงานต่างๆเพื่อก้าวสู่จุดศูนย์กลางการบินของภูมิภาคอย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งไม่เพียงแต่จะพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเท่านั้น แต่ต้องยกระดับทุกท่าอากาศยานให้มีบริการที่ดี พร้อมรองรับผู้โดยสารและเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นได้

“ผมจึงได้มอบหมายให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.ปรับปรุงและพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต เพื่อขยายศักยภาพการรองรับผู้โดยสารใน 2 ด้าน เรื่องแรก การพัฒนาขีดความสามารถของท่าอากาศยานภูเก็ตให้เต็มศักยภาพ บริหารจัดการพื้นที่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รองรับปริมาณผู้โดยสารเพิ่มเป็น 18 ล้านคนต่อปี จากปัจจุบัน 12 ล้านคนต่อปี เบื้องต้นคาดแล้วเสร็จในปี 2574 หรือเร็วกว่านั้น”

ส่วนด้านที่ 2 การเพิ่มทางเชื่อมต่อเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายของผู้โดยสารในการเดินทางจากเกาะภูเก็ตไปยังโรงแรมต่างๆ โดยให้ ทอท.พิจารณา“มัลดีฟส์” เป็นโมเดล ที่มี “สนามบินน้ำ” รองรับผู้โดยสาร ที่เดินทางมาถึงท่าอากาศยานเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางผ่าน Seaplane เพื่อไปยังโรงแรมที่อยู่ในเกาะบริวารได้โดยตรง

ล่าสุด ท่าอากาศยานภูเก็ตได้ทำการเพิ่มขีดความสามารถทางวิ่ง (รันเวย์) โดยเป็นการปรับความยาวของรันเวย์จาก 20 เที่ยวบินต่อชั่วโมง เป็น 25 เที่ยวบินต่อชั่วโมง หรือเฉลี่ย 100 เที่ยวบินต่อวัน ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับโครงการ Seaplane ที่สามารถทำการบินขึ้น-ลง จากรันเวย์ไปยังเกาะได้โดยตรง โดยโรงแรมที่อยู่บริเวณเกาะต่างๆที่มีลูกค้าใช้บริการ สามารถติดต่อเพื่อเข้ามาดำเนินการได้อย่างครบวงจร ขณะที่แผนพัฒนาในระยะยาว ทอท.จะดำเนินการท่าอากาศยานภูเก็ตส่วนต่อขยายให้สอดรับกับโครงการ Seaplane Terminal ในปัจจุบันด้วย ซึ่งจะสามารถทำการบินในรูปแบบโครงการ Seaplane เพิ่มขึ้น

เติมต่อสร้าง “ท่าอากาศยานอันดามัน”

นอกจากนี้ ยังได้ให้ ทอท.ศึกษาหาแนวทางขยายและก่อสร้าง “ท่าอากาศยานอันดามัน” ในพื้นที่ ต.โคกกลอย และ ต.หล่อยูง อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา ซึ่งการก่อสร้างสนามบินอันดามันจะมีความเชื่อมโยงกับโครงการพัฒนาด้านคมนาคมในพื้นที่และภูมิภาค โดยเฉพาะใน จ.ภูเก็ต อย่างมากเพื่อให้ระบบคมนาคมครบวงจรมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ตามแผนโครงการท่าอากาศยานอันดามัน หากปัจจัยต่างๆ พร้อม ทอท.จะจัดตั้งโครงการฯและเสนอต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ พิจารณาดำเนินการโครงการ หลังจากนั้นจะเข้าสู่การออกแบบรายละเอียดต่อไป และเริ่มออกแบบรายละเอียดได้ภายในไตรมาส 2 ปี 2568 ใช้ระยะเวลาการออกแบบประมาณ 1 ปี โดยระหว่างนี้จะเริ่มกระบวนการเวนคืนที่ดินควบคู่ไปพร้อมกันไปในปลายปี 2569 ซึ่งมีพื้นที่เวนคืนที่ดินประมาณ 6,500 ไร่ โดยคาดว่าจะเวนคืนที่ดินแล้วเสร็จภายในต้นปี 2570 และจะเริ่มกระบวนการก่อสร้าง โดยจะใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 4 ปีครึ่ง พร้อมเปิดให้บริการได้ในช่วงปี 2575

“ผมขอย้ำว่า ท่านนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการพัฒนาจังหวัดภูเก็ตเป็นอย่างยิ่งโดยท่านได้ลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ตหลายครั้ง และได้รับฟังความคืบหน้าการดำเนินการของกระทรวงคมนาคม ซึ่งท่านนายกฯได้แสดงความพึงพอใจผลการดำเนินการที่ผ่านมา และได้เน้นย้ำให้กระทรวงคมนาคมเร่งรัดก่อสร้างโครงการทางพิเศษ ป่าตอง–กะทู้–สนามบินภูเก็ต ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพราะนอกจากจะเป็นการแก้ไขปัญหาการจราจรที่ติดขัดในขณะนี้แล้ว ยังช่วยลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุของพี่น้องประชาชนอีกด้วย”

นอกจากนั้น ท่านนายกฯยังได้เห็นด้วยกับแนวทางการบูรณาการตามที่กระทรวงเสนอ ทั้งในส่วนที่ให้กรมบัญชีกลางพิจารณาเพิ่มค่าปรับผู้รับจ้าง กรณีที่การก่อสร้างล่าช้า การประสานงานเรื่องรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการให้จังหวัดภูเก็ตมาเป็นเจ้าภาพหลักในการบูรณาการการรื้อย้ายสาธารณูปโภคและการแก้ไขปัญหาการจราจร เป็นต้น

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลและกระทรวงคมนาคมให้ความสำคัญและจริงจังกับการแก้ไขปัญหาด้านการเดินทางในปัจจุบัน และการพัฒนาระบบการคมนาคมของพี่น้องประชาชนในจังหวัดภูเก็ตและภาคใต้ตอนล่างเป็นอย่างยิ่ง หากทุกนโยบายและทุกโครงการแล้วเสร็จ จังหวัดภูเก็ตจะก้าวสู่ฮับการท่องเที่ยวและฮับการบินอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศจำนวนมาก

“ผมมีความเชื่อมั่นว่า ด้วยความร่วมแรงร่วมใจจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตามนโยบายของท่านนายกฯ จังหวัดภูเก็ต และกลุ่มจังหวัดภาคใต้ตอนล่าง จะมีระบบการคมนาคมที่สมบูรณ์ และเป็นกลไกสำคัญเพื่อขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องประชาชนได้อย่างยั่งยืน”.

ทีมเศรษฐกิจ

คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปเศรษฐกิจ" เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ