"ข้าว" อาหารหลักของคนในชาติ พืชเศรษฐกิจที่ไทยเคยส่งออกสูงสุด11ล้านตัน/ปี ข้าวยิ่งเก่า คุณภาพยิ่งลด

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

"ข้าว" อาหารหลักของคนในชาติ พืชเศรษฐกิจที่ไทยเคยส่งออกสูงสุด11ล้านตัน/ปี ข้าวยิ่งเก่า คุณภาพยิ่งลด

Date Time: 9 พ.ค. 2567 11:06 น.

Video

ล้วงลึกอาณาจักร “PCE” สู่บริษัทมหาชน ปาล์มครบวงจร | On The Rise

Summary

  • ว่าด้วยเรื่องราวของ "ข้าว" อาหารหลักของคนในชาติ ที่เกี่ยวพันกับเกษตรกรกว่า 5 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ ตำแหน่ง พืชเศรษฐกิจสำคัญระดับโลก ที่ไทยเคยส่งออกสูงสุด 11 ล้านตัน/ปี กับ คุณภาพ ข้าวเก่า-ข้าวใหม่ ที่ต่างกัน วันหมดอายุของ "ข้าวสาร" บ่งบอกอะไร ?

Latest


ท่ามกลาง ประเด็นถกเถียงใหญ่ของสังคม เกี่ยวกับ “ข้าวเก่า 10 ปี” มีความปลอดภัย และ กินได้จริงหรือ ? หลังจาก “ภูมิธรรม เวชยชัย”  รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โชว์กินข้าวสต๊อกค้างเก่า จากโครงการ “รับจำนำข้าว” ในอดีต 

เพื่อเรียกความเชื่อมั่น ก่อนออกประกาศเชิญชวนให้ผู้สนใจเข้าร่วมประมูล ข้าวสารหอมมะลิ 15,000 ตัน ในสต๊อกรัฐบาลลอตสุดท้าย จากโครงการรับจำนำข้าวปี 56/57 ในช่วงกลางเดือน พ.ค. นี้ ปูทาง ปิดตำนาน โครงการจำนำข้าว อันโด่งดัง ในอดีต 

แม้ยอมรับ สีของข้าวมีปัญหา เช่นเดียวกับ ฝุ่นผงปะปนในข้าว ที่อาจต้องซาวข้าวราว 15 ครั้ง ก่อนหุงกินได้ แต่ระบุ “เม็ดข้าว” ยังสวยงาม และ ปลอดภัย ไม่ได้น่ากลัว อย่างที่กังวลกัน และคาดที่จะเป็นที่ต้องการของตลาดแอฟริกา ที่นิยม ข้าวเก่า-สีเหลือง 

เรื่องราวของ “ข้าว” และ ชาวนา

โอกาสนี้ ThairathMoney ชวนเปิดเรื่องราวของ “ข้าวไทย” พืชเศรษฐกิจสำคัญ ระดับโลก ที่ไทยเคยส่งออกได้สูงสุด 10-11 ล้านตัน /ปี  อาหารหลักของคนในชาติ ที่ผู้ผลิต กำหนดวันหมดอายุ 1-2 ปี หลังบรรจุถุงเสมอ

สำหรับ “ข้าว” เป็นสินค้าเกษตรส่งออกหลักของไทย โดยมีพื้นที่เพาะปลูก มากที่สุดในภาคการเกษตร ราว 43.7% และเกี่ยวพันกับ 5.1 ล้านครัวเรือน หรือ 63.6% ของจำนวนครัวเรือนภาคเกษตรทั้งหมด

นี่เองจึงเป็นที่มา ที่ทำให้ “เกษตรกรผู้ปลูกข้าว” มักได้รับความสนใจเป็นพิเศษจากรัฐบาลมาโดยตลอด ผ่านนโยบายช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านราคา และโครงการช่วยเหลือ เช่น 

  • การประกันราคาข้าว 
  • การรับจำนำข้าว 
  • โครงการสนับสนุนเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว 
  • โครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว 

จริงอยู่ ที่ปัจจุบัน ไทยมีผลผลิตข้าว เป็นแค่ อันดับ 6 ของโลก รองจากจีน อินเดีย บังกลาเทศ อินโดนีเซีย และเวียดนาม แต่ ไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 2 ของโลก มีส่วนแบ่งตลาดคิดเป็น 13.5% รองจากอินเดียที่มีส่วนแบ่งตลาด 38.8% ท่ามกลางการแข่งขันที่สูง จากคู่แข่ง เวียดนาม ปากีสถาน เมียนมา และจีน 

อย่างไรก็ตาม ปริมาณการส่งออกข้าวสู่ตลาดโลกมีสัดส่วนเพียง 11.1% ของผลผลิตข้าวทั่วโลก เนื่องจาก ข้าว ยังถูกปลูก เพื่อความมั่นคงด้านอาหารภายในประเทศเป็นหลักด้วย

ดังนั้น ปริมาณการค้าข้าวระหว่างประเทศจึงเป็นผลผลิตส่วนเกินจากการบริโภคในแต่ละประเทศ ขณะเดียวกัน ภาวะตลาดส่งออกจึงมักผันผวนตามปริมาณผลผลิตของประเทศผู้ส่งออกและการบริโภคของประเทศผู้นำเข้า โดยตลาดนำเข้าข้าวส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคแอฟริกา ตะวันออกกลาง และเอเชีย ตามลำดับ 

ทั้งนี้ ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไทยมีผลผลิตข้าวเปลือกเฉลี่ยปีละ 31-33 ล้านตัน ซึ่งนำไปสีเป็นข้าวสารได้ประมาณ 20-22 ล้านตัน ใช้บริโภคภายใน ประเทศเฉลี่ย 10-12 ล้านตัน (ส่วนที่เหลือส่งออกและสต๊อก) 

ย้อนสถิติ การส่งออก “ข้าวไทย” 

  • ปี 2560 ปริมาณ 11.48 ล้านตัน (สูงสุดเป็นประวัติการณ์ )
  • ปี 2561 ปริมาณ 11.23 ล้านตัน มูลค่า 1.82 แสนล้านบาท 
  • ปี 2562 ปริมาณ 7.58 ล้านตัน มูลค่า 1.32 แสนล้านบาท
  • ปี 2563 ปริมาณ 5.72 ล้านตัน มูลค่า 1.16 แสนล้านบาท
  • ปี 2564 ปริมาณ 6.11 ล้านตัน มูลค่า 1.07 แสนล้านบาท
  • ปี 2565 ปริมาณ 7.69 ล้านตัน มูลค่า 1.3 แสนล้านบาท 
  • ปี 2566 ปริมาณ 8.76 ล้านตัน มูลค่า 1.78 แสนล้านบาท
  • ปี 2567 ปริมาณ 7.5 ล้านตัน (เป้าหมายอย่างต่ำ) 

โดยชนิดข้าวส่งออกสำคัญ คือ ข้าวขาว, ข้าวหอมมะลิไทย, ข้าวนึ่ง, ข้าวหอมไทย, ข้าวเหนียว และข้าวกล้อง ส่วนสาเหตุที่อาจทำให้ การส่งออก “ข้าวไทย” ปีนี้ ลดต่ำลงจากปีก่อน  มาจาก …

  • ผลกระทบ จากปรากฏการณ์เอลนีโญ 
  • ปริมาณผลผลิตข้าวในตลาดโลก มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แข่งขันสูง 
  • ประเทศผู้นำเข้า ลดความต้องการ ส่วนหนึ่งมาจากความนิยมการบริโภคข้าวลดลง ส่งผลการแข่งขันด้านราคารุนแรง 
  • ราคาข้าวไทย สูงกว่า ข้าวของประเทศผู้ส่งออกรายอื่น 

ไทยมีข้าวบรรจุถุง นับ 100 แบรนด์ 

สำหรับ ข้าวเพื่อใช้บริโภคโดยตรงของคนในประเทศ มีสัดส่วนสูงถึง 30% ของปริมาณผลผลิตข้าวเปลือกทั้งหมดของไทย ได้แก่

  • การจำหน่ายในลักษณะข้าวบรรจุถุง 
  • ร้านขายของชำในท้องถิ่นขนาดเล็ก (ข้าวสารตักแบ่งขาย)
  • การจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ 


ความน่าสนใจ คือ ปัจจุบันไทยมีแบรนด์ข้าวถุงมากกว่า 100 แบรนด์ ที่จดทะเบียนกับสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย และมีผู้ส่งออกข้าว โรงสีข้าว ผู้ประกอบการร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ผู้ประกอบการขนาดเล็ก กลุ่มชุมชน เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร และผู้ประกอบการรายย่อยจำนวนมากที่ไม่ได้จดทะเบียนทำข้าวถุง เข้ามาทำตลาดและทำแบรนด์ข้าวถุงของตัวเองมากขึ้น

ตัวอย่างคุณภาพข้าวของไทย 

  • ข้าว 100% เป็นข้าวที่มีคุณภาพดีที่สุด ซึ่งตามมาตรฐานของข้าว 100% จะมีข้าวหักปนเพียงเล็กน้อย เช่น ข้าวขาว 100% ชั้น 1 มีข้าวหักปนได้ไม่เกิน 4% 
  • ข้าว 5% มีข้าวหักปนอยู่ 5-7%
  • ข้าว 25% มีข้าวหักปนอยู่ 25-28% 


ข้าวสาร มีวันหมดอายุไหม? 

ขณะคำถามสำคัญ คือ “ข้าวสาร” มีวันหมดอายุหรือไม่? หลังจาก จะพบเห็นกันโดยทั่วไป ว่าข้าวที่ถูกบรรจุถุงขนาดต่างๆ ที่วางจำหน่ายในร้านค้า หรือ ห้างสรรพสินค้า มักจะมีการเขียนกำหนดไว้หลังถุง ระบุ วันหมดอายุราว 1-2 ปี หลังวันผลิตเสมอ ด้วยคำว่า ควรบริโภคก่อน …/…/…

โดยผู้เชี่ยวชาญเรื่องข้าว และเจ้าของโรงสีข้าวหลายราย ออกมาขยายความผ่านสื่อต่างๆ เพิ่มเติมว่า เป็นการกำหนด ถึงระยะเวลา คุณภาพของข้าว ที่เหมาะกับการบริโภคที่ดีที่สุด ซึ่งก็จะอยู่ราว 1 ปี หรือ บางผู้ผลิต ระบุ 2 ปี หลังผลิตใส่ถุงเสมอ เพราะหากเก็บนานไป อาจทำให้การบริโภคด้อยลง ไม่ว่าจะเป็น ความหอม รสชาติความอร่อย แต่ไม่ได้หมายความว่า ไม่สามารถบรืโภคได้แล้ว หลังจากผ่านวันที่กำหนดไว้ 

ขณะคลังข้อมูลวิจัยการเกษตรไทย เผยว่า การเก็บรักษาข้าวเป็นเวลานาน จะทำให้เมล็ดข้าวสารมีสีคล้ำขึ้น ความขาวใสลดลง โดยเฉพาะการเก็บที่อุณหภูมิและความชื้นสูง

เนื้อสัมผัสของข้าวที่เก็บรักษานานเมื่อหุงสุกพบว่ามีความแข็งมากกว่าข้าวเก็บเกี่ยวใหม่ เนื่องจากปริมาณ amylose และการรวมตัวของ amylose-lipid complex ในข้าว ทำให้เมล็ดมีความแข็งขึ้น 

ข้าวที่เก็บรักษานานหรือข้าวเก่าจึงต้องใช้อุณหภูมิในการหุงต้มให้สุกสูงกว่าและใช้เวลานานกว่า เช่นเดียวกับกลิ่นหอมในข้าวจะค่อยๆ ลดลง

ข้าวที่จะเก็บรักษาควรมีความชื้นไม่เกิน 14% หรือ 12% ในกรณีที่เก็บรักษานานเกิน 6 เดือน การเก็บรักษาควรมีความชื้นไม่เกิน 14% หรือ 12% ในกรณีที่เก็บรักษานานเกิน 6 เดือน การเก็บรักษาภายใต้อุณหภูมิต่ำ จะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบต่างๆ ภายในเมล็ดข้าวน้อย 

นอกจากนี้ ภาชนะที่บรรจุระหว่างเก็บรักษาต้องสะอาด ไม่มีแมลงปะปนมา สถานที่เก็บรักษาควรมีอากาศถ่ายเทสะดวก ไม่ชื้นและไม่ควรวางกระสอบข้าวกับพื้นโดยตรง เพราะข้าวอาจจะเกิดความชื้นได้ 

การเก็บรักษาข้าวสารควรเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่มีความพรุนน้อยเพื่อลดการผ่านเข้าออกของอากาศ หรือการใช้ตัวดูดซับออกซิเจน จะช่วยให้คุณภาพระหว่างการเก็บรักษาเปลี่ยนแปลงน้อยลงได้

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่ 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์