นับเป็นประเด็นใหญ่ระหว่างรัฐบาล และเอกชน สำหรับการประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท เท่ากันทั่วประเทศ โดยไทม์ไลน์ที่ต้องจับตามองคือวันที่ 14 พ.ค. 2567 ซึ่งจะมีการประชุมของบอร์ดค่าจ้างชุดใหญ่ กำหนดความชัดเจนในการปรับขึ้นค่าจ้างดังกล่าวอีกครั้ง หลังจากกระทรวงแรงงานเผยว่า จะมีการบังคับใช้จริง 1 ต.ค. 2567 อย่างแน่นอน
ล่าสุดวันนี้ “เกรียงไกร เธียรนุกุล” ประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เผยว่า การประชุมเดือน พ.ค. กับผู้ประกอบการ กลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ทั่วประเทศ มีความเห็นร่วมกันว่า เอกชนไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ 400 บาท
เนื่องจากการปรับอัตราค่าจ้างที่สูงเกินกว่าความเป็นจริง ซึ่งยังจะเป็นปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศไทย เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังมีปัญหาจากปัจจัยหลายประการที่มีความผันผวน อาทิ ค่าเงินบาท ราคาพลังงาน มาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ และสงครามการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจในประเทศไทย
โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมีนาคม 2567 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 และอัตราการใช้กำลังการผลิต (CapU) อยู่ที่ 62.39% ซึ่งลดลง 4.47% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แสดงให้เห็นถึงความเปราะบางของภาคอุตสาหกรรมไทย
ในที่ประชุมจึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาลดังนี้
ทั้งนี้ กกร. จะมีการทำหนังสือถึงกระทรวงแรงงาน เพื่อขอคัดค้านการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ 13 พ.ค. และหารือถึงแนวทางการปรับขึ้นค่าแรงให้เหมาะสมกับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเป็นประโยชน์ต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ พร้อมกันนี้จะมีการหารือกับภาคเอกชนในแต่ละจังหวัดถึงผลกระทบและจัดทำข้อเสนอต่อการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อนำเสนอคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายจังหวัด โดยจะยึดกลไกการพิจารณาของคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) เป็นสำคัญ
นอกจากนี้ กกร.ยังมีการปรับลดคาดการณ์ GDP ไทย ปี 2567 เหลือ ขยายตัว 2.2-2.7% จากเดิมคาดขยายตัว 2.8-3.3% เนื่องจากภาคการส่งออกมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้เพียง 0.5-1.5% ต่ำกว่าประมาณการเดิมเช่นกันตามทิศทางการค้าโลก.
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney