หมดร้อนจัด เปลี่ยนผ่านสู่ “มรสุม” จับตาครึ่งปีหลังเสี่ยง “น้ำท่วม” ภาคเกษตรป่วน ดัน เงินเฟ้อพุ่ง

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

หมดร้อนจัด เปลี่ยนผ่านสู่ “มรสุม” จับตาครึ่งปีหลังเสี่ยง “น้ำท่วม” ภาคเกษตรป่วน ดัน เงินเฟ้อพุ่ง

Date Time: 7 พ.ค. 2567 16:08 น.

Video

โมเดลธุรกิจ Onlyfans ทำไมถึงมีแต่ได้กับได้ ? บริษัทมั่งคั่ง คนทำก็รวย | Digital Frontiers

Summary

  • หมดร้อนจัด เปลี่ยนผ่านสู่ “มรสุม” จับตาครึ่งปีหลังเสี่ยง “น้ำท่วม” ภาคเกษตรป่วน ดัน เงินเฟ้อพุ่ง 2 ปี ไทยสูญเม็ดเงิน 5 หมื่นล้าน

Latest


กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศ ไทยเตรียมเริ่มต้น “ฤดูฝนปี 2567” ช่วงสัปดาห์ที่ 4 ของ เดือน พ.ค. เป็นต้นไป ส่วนฝนที่ตกลงมาวันนี้ ของหลายพื้นที่ทั่วประเทศ หากแต่เป็นส่วนหนึ่งของ “พายุฤดูร้อน” 

ขณะ พยากรณ์อากาศ “ฝนตก” ยังคงจะเกิดขึ้นยาวไป จนถึงช่วงวันที่ 8-13 พ.ค. 67 จากอิทธิพล ของลมตะวันออกเฉียงใต้และลมใต้พัดปกคลุมบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และด้านตะวันออกของภาคเหนือและภาคกลาง

สำหรับภาคการเกษตร กรมอุตุฯ เตือน ให้เตรียมพร้อมการป้องกันและระวังความเสียหายที่อาจจะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงไว้ด้วย พร้อมๆ กับ การวิเคราะห์ ว่า ปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” อาจจบเร็วกว่าที่คิด และกำลังจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ปรากฏการณ์ “ลานีญา” ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีฝนมากขึ้นและอุณหภูมิลดต่ำลง

เฝ้าระวัง “พายุฤดูร้อน” 

ด้านผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำ ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ประธานกรรมการ ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา Futuretales LAB ชี้ว่า ปีนี้ เป็นอีกปี ที่ไทยต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์ ลม ฟ้า อากาศ จากภาวะน้ำท่วม-น้ำแล้ง 

รายงานฉบับที่ 6 จากการประเมินโดยคณะทำงานระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC-AR6) พบว่าในภาวะโลกเดือด จะก่อให้เกิดพายุฤดูร้อนถี่ขึ้น และความรุนแรงมากขึ้นโดยเฉพาะในพื้นที่แถบโซนร้อน รวมประเทศไทย 

เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของพลังงานสะสมของการยกตัวของอากาศร้อน ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ รายชั่วโมง จะมีทั้งลม ฝน ลูกเห็บ ฟ้าแลบ ฟ้าร้อง หรือฟ้าผ่าตามมาโดยจากนี้ต่อไปก่อนเข้าฤดูฝน จะต้องเฝ้าระวังพายุฤดูร้อน

น้ำท่วม-น้ำแล้ง ฉุดภาคเกษตร เสียหาย 5 หมื่นล้าน 

เจาะข้อมูลยึดโยงกับภาพรวมเศรษฐกิจ ของ EIC SCB (ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ) เผยว่า ที่ผ่านมา ซึ่งไทยต้องเผชิญกับทั้งวิกฤติภัยแล้งและน้ำท่วม สร้างความเสียหาย ต่อภาคการเกษตร เป็นมูลค่ามหาศาล 

โดยเฉพาะในภาคกลาง ภาคเกษตรมีความอ่อนไหวต่อปริมาณน้ำค่อนข้างมาก เนื่องจากปริมาณน้ำที่น้อย (แล้ง) หรือมาก (ท่วม) เกินไป จะกระทบต่อการเจริญเติบโตของพืชและส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรปรับตัวลดลง 

SCB EIC ประเมินว่า ปัญหา “ภัยแล้ง-น้ำท่วม” ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2566 จะสร้างความเสียหายต่อภาคเกษตรไม่ต่ำกว่า 51,700 ล้านบาท โดยความเสียหายจะเกิดขึ้นในปีที่แล้ว ราว 19,300 ล้านบาท และในปีนี้อีกราว 32,400 ล้านบาท 

ซึ่ง อ้อย เป็นสินค้าเกษตรที่จะต้องเผชิญกับมูลค่าความเสียหายสูงที่สุด ตามมาด้วยข้าวนาปรัง ข้าวนาปีและมันสำปะหลัง ส่วนผลกระทบในเชิงพื้นที่พบว่า พื้นที่ภาคกลางจะเผชิญกับความเสียหายสูงที่สุด ตามมาด้วยภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้

ฟ้าฝนแปรปรวน ป่วนเศรษฐกิจ 

ปัญหาฟ้าฝนแปรปรวน สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งทางตรง และทางอ้อม โดยประเมินว่าความเสียหายผ่าน ความเชื่อมโยงของภาคเกษตรกับภาคส่วนอื่นๆ ในระบบเศรษฐกิจ จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปีที่แล้ว และปีนี้ ขยายตัวลดลงรวม -0.34% เทียบกับกรณีที่ไม่เกิด “ภัยแล้ง-น้ำท่วม” 

นอกจากปัญหาฟ้าฝนแปรปรวนจะส่งผลกระทบ ต่อเศรษฐกิจแล้ว ราคาสินค้าเกษตรที่ปรับสูงขึ้นยังเป็นหนึ่งในความเสี่ยงสำคัญกดดันเงินเฟ้อไทยในปีนี้ โดยเฉพาะราคาข้าว และน้ำตาล ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ที่มีน้ำหนักในตะกร้าเงินเฟ้อราว 5% 

ขณะ สภาพอากาศที่ร้อนจัด ก่อนหน้านี้ ทำให้ ผักสด และผลไม้สด ออกสู่ตลาดลดลง มีราคาสูงขึ้น ยังดันให้ “เงินเฟ้อไทย” ในเดือนล่าสุด เม.ย. 67 พลิกกลับมาเป็นบวก 0.19% เป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน 

จับตาครึ่งปีหลังเสี่ยง “น้ำท่วม” 

ศูนย์วิจัยดังกล่าว ยังวิเคราะห์ต่อว่า ปรากฏการณ์ลานีญา ที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงหลัง เดือน พ.ค.เป็นต้นไป อาจทำให้ เศรษฐกิจไทย มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น จากคาดการณ์ฝนในไทยตกมากกว่าปกติและอาจจะทำให้เกิด ปัญหาน้ำท่วม ดังที่เคยเกิดขึ้นล่าสุดในปี 2565 และรุนแรงสุดในปี 2554 อีกด้วย 

“มูลค่าความเสียหายต่อภาคเกษตรที่เกิดขึ้นจากปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงความรุนแรงของปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อน โดยอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้นกำลังส่งผลให้รูปแบบ การเกิดฝนในไทยมีความแปรปรวนมากขึ้น เช่น ในช่วงที่มีฝนตก ฝนก็จะตกหนักมาก หรือในช่วงที่มีฝนแล้ง ฝนก็จะแล้งหนักมากเช่นเดียวกัน ซึ่งปัญหาเหล่านี้จะสร้างความเสียหายให้กับพืชผล ทางการเกษตรและส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจไทยโดยรวม”

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่ 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ