มหันตภัย “แคดเมียม”

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

มหันตภัย “แคดเมียม”

Date Time: 7 พ.ค. 2567 05:33 น.

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

การค้นพบกากตะกอนแคดเมียม ซึ่งถือเป็นสารพิษอันตรายต่อสุขภาพ ขั้นร้ายแรงจำนวนมาก ในพื้นที่กรุงเทพฯ ชลบุรี และสมุทรสาคร เมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา เป็นเรื่องสะเทือนขวัญของประชาชนคนไทย และเป็นเรื่องที่ถูกจับตาการแก้ปัญหาของกระทรวงอุตสาหกรรม อย่างใกล้ชิด

และประเด็นดังกล่าว กลายเป็นเรื่องฮือฮาอีกครั้ง เมื่อวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา ขบวนรถบรรทุกกากตะกอนแคดเมียมจำนวน 10 คัน ที่ได้ทำการทดสอบ การขนย้ายแคดเมียม ซึ่งถูกสั่งอายัดไว้จากพื้นที่ กรุงเทพฯและสมุทรสาคร รวมจำนวน 254 ตัน ต้องหยุดกระบวนการทดสอบลง อย่างไม่คาดคิด

เนื่องจากขั้นตอนการขนย้ายถุงกากตะกอนแคดเมียม จากรถบรรทุกไปยังรถขนส่ง ภายในบริษัทเบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด ซึ่งเป็นแคดเมียมลอตแรก ที่จะมีการขนย้ายไปฝังกลบที่จังหวัดตาก จากจำนวน 13,000 ตัน ได้เกิดปัญหาโซ่ที่ใช้เกี่ยวไว้กับรถแบ็กโฮ สำหรับการยกถุงกากตะกอนน้ำหนัก 1 ตันต่อถุง เกิดความไม่สมดุลระหว่างการยกทำให้โซ่ขาด แม้ว่าจะยกได้ในความสูง 1-2 เมตรเท่านั้น

ถือว่าเป็นความผิดพลาดที่ไม่น่าผิดพลาด สำหรับกระทรวงอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ที่ได้ชื่อว่าเป็นหน่วยงานที่เอกอุ ไปด้วยผู้ปฏิบัติงานระดับวิศวกรชั้นหัวกะทิของประเทศไทย

ยิ่งไปกว่านั้น แม้ในสายตาคนภายนอก มองดูก็รู้ว่าขนาดความแข็งแรงของโซ่ที่ใช้เกี่ยวถุงกากตะกอนแคดเมียม ไม่น่าจะรองรับน้ำหนักของถุงกากตะกอนแคดเมียม ได้แต่อย่างใด

ขณะที่การประกาศลาออกของ นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เมื่อค่ำคืนของวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา คงไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นปฏิบัติการ “ชักฟืนออกจากกองไฟ” เพื่อลดกระแสกดดันจากคนไทยทั้งประเทศได้แต่อย่างใด เพราะในข้อเท็จจริงกระบวนการลาออกดังกล่าว อาจต้องใช้เวลากว่าจะแล้วเสร็จในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า ในระหว่างนี้ นายจุลพงษ์ ก็ยังปฏิบัติหน้าที่อธิบดี กรอ.เพื่อแก้ไขปัญหาต่อไปอีกระยะหนึ่ง

ปัญหาการพบกากตะกอนแคดเมียม ที่ขนย้ายมาจากจังหวัดตาก เมื่อกลางปีที่ผ่านมา ขณะนี้ได้ถูกตรวจพบที่จังหวัดสมุทรสาคร ชลบุรี กรุงเทพฯ ซึ่งถูกอายัดไว้กว่า 12,500 ตัน ยังเป็นประเด็นที่คนทั้งประเทศให้ความสนใจว่า สุดท้ายแล้วจะจบลงอย่างไร ทั้งการนำกลับไปฝังกลบ และที่สำคัญใครต้องรับผิดชอบกับปัญหาที่เกิดขึ้น

แค่การลาออกของนายจุลพงษ์ ที่จะเกษียณอายุราชการวันที่ 30 ก.ย.นี้ คงไม่สามารถนำมาแลกกับความหละหลวม และผลกระทบที่เกิดขึ้น สุขภาพและชีวิตของประชาชนได้ เรื่องดังกล่าวหากเกิดขึ้นในต่างประเทศที่จริงจัง เข้มงวดและให้ความสำคัญ กับความปลอดภัยของประชาชน จะต้องมี “คนติดคุก” สังเวยความผิดอย่างแน่นอน

เพราะจนถึงขณะนี้ เรายังไม่มีทางพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้เลยว่า กากตะกอนแคดเมียมที่หลุดออกมาจากหลุมฝังกลบ มันกระจายตัวไปยังจังหวัดต่างๆมากน้อยเพียงใด

ประเด็นสำคัญของแคดเมียมคือ ความเป็นพิษ (Toxicity) แม้ว่าแคดเมียมจะเป็นที่สาร แผ่กัมมันตรังสี (Radioactive substance) ต่ำมากจนไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่มีความเป็นพิษสูง เนื่องจากมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่าเป็นพิษต่อร่างกายมนุษย์ เมื่อสะสมในร่างกายจากการบริโภค การเข้าสู่ร่างกายผ่านผิวหนังหรือการหายใจ จะนำไปสู่การทำลายไต การทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน และมีความเสี่ยงเกิดมะเร็งบางชนิดเพิ่มขึ้น อาทิ ปอด ต่อมลูกหมาก การทำลายระบบสืบพันธุ์ การทำงานของหัวใจ ฯลฯ ทำให้การผลิตของภาคอุตสาหกรรมพยายามหลีกเลี่ยงการนำสารแคดเมียมไปใช้ในกระบวนการผลิต

ดังนั้น ถึงเวลาที่ต้องสังคายนาในเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะมาตรการป้องกันการก่อให้เกิดมลพิษที่ต้องบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างจริงจัง พร้อมเพิ่มเติมมาตรการ การออกใบอนุญาตขนย้ายกากอุตสาหกรรมทุกชนิด ตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง การติดระบบจีพีเอส ติดตามรถบรรทุกขนส่งเพื่อไม่ให้รถถูกขับออกนอกเส้นทาง การตรวจสอบโรงงานปลายทาง ว่าสามารถรองรับกากที่ถูกนำไปกำจัดได้กี่ตัน ตามข้อเท็จจริงของการขนกากไปจากต้นทาง รวมทั้งการเพิ่มโทษทั้งทางแพ่งและอาญาหรือทั้งปรับทั้งจำผู้กระทำผิดให้รุนแรงมากขึ้น จากปัจจุบันที่ปรับไม่เกิน 200,000 บาท

ในระหว่างนี้ คงต้องมาลุ้นว่า การขนย้ายกาก ตะกอนแคดเมียมกองมหึมา จะเริ่มขนย้ายและฝังกลบเสร็จสิ้นได้เมื่อใด ที่สำคัญต้องมารอดูว่า ผู้มีอำนาจที่ต้องจดปากกาเซ็นแต่งตั้งอธิบดี กรอ.
คนใหม่ จะเลือกใครมารับตำแหน่ง

เพราะเป็นการกอบกู้และทวงคืนศักดิ์ศรีของกระทรวงอุตสาหกรรม ให้กลับมายืนในสายตาของคนทั้งประเทศ ว่าได้ดำเนินการอย่างเข้มงวด จริงจังและยังเป็นภาพสะท้อนถึงวิจารณญาณของคนแต่งตั้งเป็นสำคัญ.

เกรียงไกร พันธุ์เพ็ชร

คลิกอ่านคอลัมน์ "THE ISSUES" เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ