ค่าไฟ-ราคาน้ำมัน ส่อออกฤทธิ์ ผักแพง พลิก“ เงินเฟ้อไทย” เดือน เม.ย. กลับมาบวกครั้งแรกในรอบ 7 เดือน 

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ค่าไฟ-ราคาน้ำมัน ส่อออกฤทธิ์ ผักแพง พลิก“ เงินเฟ้อไทย” เดือน เม.ย. กลับมาบวกครั้งแรกในรอบ 7 เดือน 

Date Time: 3 พ.ค. 2567 12:52 น.

Video

ล้วงไส้ TEMU อีคอมเมิร์ซจีน บุกไทย ทำไมอาจสร้างวิบากกรรมกว่าที่คิด ? | Digital Frontiers

Summary

  • กระทรวงพาณิชย์ เผย เงินเฟ้อไทย เดือน เม.ย. พลิกกลับมาบวกเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน เพิ่มขึ้น 0.19% เหตุ ค่าพลังงานเพิ่มขึ้น ฤดูแล้ง ผลผลิตน้อย ดัน "ราคาผักแพง" จับตา แนวโน้มเดือน พ.ค. เงินเฟ้อยังขึ้นต่อ แต่ยัน ยังไม่น่าห่วง! ไทยมีเงินเฟ้อต่ำ เป็นอันดับ 2 ของอาเซียน

Latest


แนวโน้ม “เงินเฟ้อ” กลับมาบวกอีกครั้ง ในรอบ 7 เดือน หลังจาก สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย ณ เม.ย. 2567 เท่ากับ 108.16 ซึ่งเท่าช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้น 0.19%

ซึ่งนับเป็นการพลิกกลับมาเพิ่มขึ้น ที่เร็วกว่าที่หลายฝ่ายมีการคาดการณ์กันไว้ว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทย จะเริ่มบวกตั้งแต่ เดือน พ.ค. 67 เป็นต้นไป หลังจากเผชิญการติดลบมานาน 

“พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์” ผู้อำนวยการ สนค. เผยว่า “เงินเฟ้อ” ที่สูงขึ้น เป็นผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับสูงขึ้น ตามสถานการณ์ราคาพลังงานในตลาดโลก สินค้าเกษตรหลายรายการโดยเฉพาะผักสด และผลไม้สด ออกสู่ตลาดลดลงและราคาสูงขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด สำหรับสินค้าและบริการอื่นๆ ราคาเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ

อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ข้อมูลล่าสุดเดือนมีนาคม 2567 พบว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยลดลง 0.47% ซึ่งยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ 

โดยอยู่ระดับต่ำอันดับ 5 จาก 137 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และอยู่ในระดับต่ำอันดับ 2 ในอาเซียนจาก 8 ประเทศที่ประกาศตัวเลข (สปป.ลาว เวียดนาม สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไน) 

จับตา 5 ตัวแปร ดัน เงินเฟ้อ เดือน พ.ค. เพิ่มอีก 

สำหรับแนวโน้ม เงินเฟ้อ เดือน พ.ค. 2567 กระทรวงพาณิชย์ คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้น โดยมีสาเหตุสำคัญมาจาก 5 ปัจจัย ดังนี้ 

  1. ฐานราคาค่ากระแสไฟฟ้าเดือนพฤษภาคม 2566 อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดของปี 2566
  2. ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายชนิดปรับตัวสูงขึ้น ทั้งไข่ไก่ เนื้อสุกร ผัก และผลไม้ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด และขาดแคลนน้ำในบางพื้นที่
  3. ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกทรงตัวในระดับสูง ประกอบกับมีการปรับลดการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศ
  4. ค่าเงินบาทอ่อนค่า ทำให้ต้นทุนการนำเข้าสูงขึ้น 
  5. ผู้ประกอบการมีแรงกดดันจากต้นทุนที่อยู่ในระดับสูง ทั้งอัตราดอกเบี้ย ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และค่าใช้จ่ายค่ากระแสไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น 

ขณะที่ยังมีปัจจัยที่ทำให้ราคาสินค้าและบริการบางชนิดยังคงอยู่ในระดับต่ำ ได้แก่

  • เศรษฐกิจขยายตัวในระดับต่ำ 
  • การแข่งขันที่สูงขึ้นของผู้ประกอบการค้าส่งและค้าปลีกขนาดใหญ่ รวมทั้งการเติบโตของการค้าอีคอมเมิร์ซ ทำให้มีการแข่งขันและใช้นโยบายส่งเสริมการค้าจำนวนมาก โดยเฉพาะการปรับลดราคาอย่างต่อเนื่อง 


ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2567 อยู่ระหว่าง 0-1%

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่ 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์