นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 1/2567 เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 31 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ในวันที่ 7-8 พ.ค. 2567 ว่า
ที่ประชุมได้หารือถึงความก้าวหน้าของโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา ระยะทาง 250 กิโลเมตร โดยมีงานก่อสร้างแล้วเสร็จ 2 สัญญา จากทั้งหมด 14 สัญญา อยู่ระหว่างดำเนินการอีก 10 สัญญา และรอลงนามสัญญาอีก 2 สัญญา ซึ่งมีความก้าวหน้าโดยรวม 32.31% คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ในปี 2571
ขณะเดียวกันกระทรวงคมนาคมจะเร่งผลักดันโครงการ ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคายให้มีการก่อสร้างเร็วที่สุด ซึ่งหากก่อสร้างแล้วเสร็จจะเชื่อมต่อโครงการสู่ สปป.ลาวและจีน โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการใน ปี 2573 พร้อมย้ำกับจีนหากมีการก่อสร้างทางจีนจะต้องมีการถ่ายทอดทางเทคโนโลยีรถไฟและรถไฟความเร็วสูงจากต่างประเทศให้กับไทย ส่วนประเด็นพื้นที่ก่อสร้างทับซ้อนโครงการระหว่างไทย-จีน กับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินช่วง บางซื่อ-ดอนเมือง สัญญา 4-1 นั้นขณะนี้ทางกลุ่มบริษัท เอเซียเอราวัณ จำกัด (กลุ่มบริษัทซีพี) ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทที่รับผิดชอบสร้างรถไฟเชื่อม 3 สนามบินนั้น ได้ยืนยันกลับมาว่าพร้อมที่จะก่อสร้างต่อ เนื่องจากโครงการดำเนินการมากว่า 90%
นอกจากนั้นได้มีการหารือถึงการพัฒนาสถานีรถไฟนาทา จังหวัดหนองคาย ให้เป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าระหว่างประเทศ เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนระหว่างไทย สปป.ลาวและจีน และได้เสนอให้ศึกษาแนวทางรูปแบบเดียวกับโครงการสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้ว สำหรับเป็นแนวทางโครงการก่อสร้างทางรถไฟและสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ ในช่วงสถานีเวียงจันทน์ใต้-สะพานข้ามแม่น้ำโขง-สถานีนาทา.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่