ไทยเตรียมออกพ.ร.บ. Global minimum tax “ปฏิรูประบบภาษี” ครั้งใหญ่ อุดช่องต่างชาติเลี่ยงภาษี

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ไทยเตรียมออกพ.ร.บ. Global minimum tax “ปฏิรูประบบภาษี” ครั้งใหญ่ อุดช่องต่างชาติเลี่ยงภาษี

Date Time: 2 พ.ค. 2567 10:14 น.

Video

เปิดทริกวางแผนการเงิน เพื่อชีวิตที่มีประสิทธิภาพ

Summary

  • กรมสรรพากร เตรียมเสนอครม. ออก พ.ร.บ. Global minimum tax “ปฏิรูประบบภาษี” ระหว่างประเทศครั้งใหญ่ ขั้นต่ำ 15% ตามรอย 55 ประทศทั่วโลก คาดบังคับใช้ ต้นปี 2568 อุดช่องโหว่ บริษัทข้ามชาติ เลี่ยงภาษี-จ่ายน้อยกว่าจริง จากการเข้ามาลงทุน

Latest


“ทำทุกทาง - ยอมทุกอย่าง - แข่งกันลดภาษี” เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ นี่คือภาพที่เกิดขึ้นกับหลายประเทศทั่วโลกโดยเฉพาะกลุ่มประเทศเกิดใหม่ เพื่อมุ่งหวังให้การเข้ามาลงทุนของต่างชาติ ช่วยปลุกเศรษฐกิจ นำเม็ดเงินที่ได้มาพัฒนาประเทศในแง่ต่างๆ แม้จะแลกมาด้วย อัตราภาษีที่แท้จริงนั้น เก็บได้น้อย และลดต่ำลงเรื่อยๆ 

ประกอบกับ รูปแบบธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบออนไลน์มากขึ้น จึงไม่จำเป็นต้องตั้งสำนักงานในประเทศที่ให้บริการ ทำให้ประเทศนั้นๆ รวมถึงไทยด้วย ไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย 

จนนำมาสู่ โจทย์ใหญ่ที่ทั่วโลก พยายามร่วมมือหาทางออกมานานนับสิบปี โดยต้องการ จัดเก็บภาษีจากธุรกิจข้ามชาติ ให้เป็นธรรมมากขึ้น ก่อนเมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เสนอให้มีการปฏิรูประบบภาษีระหว่างประเทศ ด้วยการจัดเก็บอัตราภาษีเงินได้ธุรกิจขั้นต่ำ (Global minimum tax) 15% 

โลก กับ กฎกติกาภาษีใหม่ 

ซึ่ง Global minimum tax นับเป็นการปฏิรูประบบภาษีระหว่างประเทศครั้งใหญ่ ประเทศที่มีความพร้อม สามารถประกาศความชัดเจนในการเดินเกมวางระบบภาษีใหม่ดึงเม็ดเงินลงทุนได้ทันที 

ล่าสุด ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) ออกรายงานว่า สำหรับประเทศไทย เป็น 1 ใน 10 กลุ่มประเทศนำร่อง Global minimum tax ของ OECD ที่คาดว่าจะออกใช้ต้นปี 2568 

โดยไทยอยู่ในขั้นตอนที่กรมสรรพากรเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ออกเป็น พ.ร.บ. Global minimum tax ภายในครึ่งแรกของปีนี้ และจะกำหนดให้บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ต้องเสียภาษีเงินได้ในอัตราภาษีที่แท้จริง (Effective tax rate) ไม่น้อยกว่า 15% รวม 2 แนวทางหลัก ดังนี้ 

  • Pillar 1 การจัดสรรกำไรและสิทธิการจัดเก็บภาษีบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ให้เป็นธรรมมากขึ้น 
  • Pillar 2 การจัดเก็บอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ 15% จากบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ เพื่อลดการแข่งขันทางภาษีระหว่างประเทศ

"Global minimum tax จะบังคับใช้ในการจัดเก็บภาษีเงินได้บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่มีรายได้รวมต่อปีเกิน 2.8 หมื่นล้านบาท  โดยมีประเทศสมาชิกกว่า 140 ประเทศเข้าร่วมข้อตกลง Pillar 2 ไว้ตั้งแต่ ต.ค. 2021 และล่าสุดมี 55 ประเทศที่เริ่มดำเนินการแล้ว เช่น สหราชอาณาจักร สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย เกาหลีใต้"

วิเคราะห์ 4 ผลกระทบการจัดเก็บภาษีใหม่  Global minimum tax กับบริษัทข้ามชาติ 

สำหรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับการค้าโลก และประเทศปลายทางต่างๆ นั้น OECD ประเมินไว้ 4 ประเด็น ดังนี้ 

  1. กำไรของธุรกิจที่เคยเสียภาษีต่ำเกินไปจะลดลง 80% จากเดิมที่มีสัดส่วน 36% ของกำไรธุรกิจทั่วโลก เหลือเพียง 7% เป็นผลจากการโยกย้ายผลกำไรไปประเทศอื่นที่ลดลงและการจัดเก็บภาษีส่วนต่างเพิ่มขึ้น
  2. การโยกย้ายกำไรไปต่างประเทศจะลดลงครึ่งหนึ่ง ส่งผลให้ผลกำไรของบริษัทข้ามชาติจะยังอยู่ในประเทศนั้นๆ สำหรับประเทศที่เป็นฐานการลงทุน ผลประเมินพบว่าการโยกย้ายผลกำไรจากประเทศอื่นมาลงทุนที่ลดลงไป จะทำให้รายได้ภาษีของประเทศหายไปราว 30%
  3. ความแตกต่างของอัตราภาษีเงินได้ธุรกิจระหว่างประเทศจะลดลง 30% โดยเฉพาะความแตกต่างระหว่างประเทศที่เป็นและไม่เป็นฐานการลงทุน ดังนั้น ปัจจัยที่ไม่ใช่ภาษีจะถูกนำมาพิจารณามากขึ้นในการตัดสินใจโยกย้ายเงินลงทุนระหว่างประเทศ ช่วยให้การกระจายจัดสรรทรัพยากรเงินทุนในโลกดีขึ้น
  4. ภาษีเงินได้ธุรกิจในโลกโดยสุทธิจะเพิ่มขึ้น 6.5%-8.1% จากการจัดเก็บภาษีส่วนต่างและการโยกผลกำไรไปประเทศอื่นลดลง หรือคิดเป็นมูลค่า 155-192 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

ไทยจะไปต่ออย่างไร? 

อย่างไรก็ดี ไทยมีการทำมาตรการรองรับเพื่อให้ไทยยังน่าสนใจในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนต่างชาติร่วมด้วย โดย ครม. มีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เสนอไว้ตั้งแต่ 7 มี.ค. 2023 

ให้รัฐบาลจัดสรรรายได้จากการจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มตาม Pillar 2 ในสัดส่วน 50%-70% ให้กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อให้ BOI ใช้ออกแบบสิทธิประโยชน์การลงทุนของบริษัทต่างชาติที่อาจเสียประโยชน์จากเกณฑ์ใหม่นี้ 

ขณะข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชูว่า เรามีจุดขายอื่น ที่สามารถดึงดูดการลงทุนจากบริษัทข้ามชาติได้ ทั้งความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ห่วงโซ่อุปทานที่ครอบคลุม และสิทธิประโยชน์อื่นจาก BOI ที่อำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน ทำให้การเดินเกมเรื่องนี้ ไม่ใช่เรื่องยาก 

เพราะสามารถเน้นสิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ภาษีได้มากขึ้น และการยกเลิกกฎหมายที่ไม่จำเป็น จะเป็นส่วนสำคัญที่จะส่งเสริมให้ไทยสามารถแข่งขันได้ ท่ามกลางความท้าทายในอนาคตที่ภาษีไม่ใช่ปัจจัยดึงดูดหลักอีกต่อไป

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่ 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์