ลูกค้าบริษัทประกันปิดกิจการ ชงแนวทางจ่าย "อัตราส่วนลด" เคลมประกันโควิด

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ลูกค้าบริษัทประกันปิดกิจการ ชงแนวทางจ่าย "อัตราส่วนลด" เคลมประกันโควิด

Date Time: 2 พ.ค. 2567 05:45 น.

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มีการพิจารณาเสนอทางเลือกให้แก่ผู้ที่ต้องการเคลมประกันโควิด เจอ จ่าย จบ ในส่วนของบริษัทประกันวินาศภัยที่ปิดกิจการในช่วงโควิด-19 โดยรับเงินเคลมประกันปัจจุบันในอัตราส่วนลดลงแทนที่จะรอเงินเคลมในอนาคต เพื่อแก้ไขปัญหาผู้เคลมประกันที่ต้องใช้เวลานานกว่าจะได้รับเงินจากการเคลม เนื่องจากกองทุนประกันวินาศภัย ในขณะนี้เหลือเงินน้อยมาก

“แทนที่ผู้ขอเคลมประกันโควิดเจอ จ่าย จบ จะใช้เวลานานเป็น 10 ปี เพื่อเคลมประกัน แต่หากต้องการได้เงินในวันนี้เลย มีทางเลือกให้รับในอัตราที่เป็นส่วนลด เช่น สิทธิ์การเคลมประกันที่ 100 บาท อาจลดเหลือ 60 บาท โดยกองทุน ประกันวินาศภัยเป็นผู้รับผิดชอบจ่ายเงินเคลมประกัน แทนบริษัทประกันวินาศภัยที่ปิดกิจการที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด แต่ทั้งนี้ กองทุนประกันวินาศภัยจะจ่ายให้กับผู้เคลมประกัน รายละไม่เกิน 1 ล้านบาทตามกฎหมาย”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นับตั้งแต่จัดตั้งกองทุนวินาศภัยปี 2551 มีบริษัทประกันวินาศภัยถูกเพิกถอนใบอนุญาตแล้ว 14 บริษัท โดยเฉพาะในช่วงโควิด ซึ่งมีการทำประกันแบบเจอ จ่าย จบ และมีการเคลมประกันเป็นจำนวนมาก และส่งผลทำให้บริษัทประกันวินาศภัยที่รับประกัน ต้องปิดกิจการลง 4 บริษัท คือ 1.บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) 2.บริษัท เดอะ วัน ประกันภัย จำกัด (มหาชน) 3.บริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) 4.บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และผลจากการปิดกิจการของ 4 บริษัทดังกล่าว และได้มีการ

จัดตั้งกองทุนเพื่อคุ้มครองเจ้าหนี้ ซึ่งมีสิทธิ์ได้รับการชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัยในกรณีที่บริษัทถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย ส่งผลกองทุนประกันวินาศภัยมีภาระต้องชำระหนี้แทนบริษัทประกันวินาศภัยรวมถึง 60,000 ล้านบาท และมีเจ้าหนี้ที่มีสิทธิ์ได้รับการชำระหนี้มากถึง 600,000 ราย ขณะที่ปัจจุบันเงินกองทุนเหลือไม่มากนัก โดยภาระหนี้ดังกล่าว ยังไม่นับรวมกรณีบริษัท สินมั่นคง ประกันภัย ที่อาจถูกปิดกิจการในอนาคต

อย่างไรก็ตาม กองทุนได้พยายามหาแนวทางเพิ่มแหล่งรายได้ของกองทุน นอกเหนือจากการปรับเพิ่มเงินนำส่งของบริษัทประกันวินาศภัย จาก 0.25% เป็น 0.50% แล้ว กองทุนยังได้ยื่นขอให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) บรรจุแผนการก่อหนี้ ให้กองทุนในวงเงิน 3,000 ล้านบาท และการยื่นของบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลด้วย ซึ่งยังไม่ได้รับการพิจารณาแต่อย่างใด.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ