"นายก" ดันฮับดิจิทัลภูมิภาค "สัตยา" เยือนไทยชูแผนลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

"นายก" ดันฮับดิจิทัลภูมิภาค "สัตยา" เยือนไทยชูแผนลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์

Date Time: 2 พ.ค. 2567 05:15 น.

Summary

  • “สัตยา” ซีอีโอ ไมโครซอฟท์ประกาศลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ แห่งแรกในไทย แต่ยังไม่เปิดเผยมูลค่าและระยะเวลาลงทุน ขณะที่เพิ่งประกาศลงทุนวงเงิน 1,700 ล้านเหรียญฯ หรือราว 62,000 ล้านบาท ภายใน 4 ปี ในอินโดนีเซีย สูงสุดในรอบ 29 ปี เตรียมบินไปมาเลเซียต่อ ปิดฉากโรดโชว์ 3 ประเทศอาเซียน

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 1 พ.ค.2567 ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) ได้จัดงาน Microsoft Build : AI Day ขึ้น ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร ในโอกาสที่นายสัตยา นาเดลลา ประธานกรรมการบริหาร และซีอีโอของไมโครซอฟท์ได้เดินทางมาเยือนประเทศไทย เพื่อพบปะกับชุมชนนักพัฒนาและผู้สร้างสรรค์นวัตกรรม พันธมิตรภาคเอกชน รวมทั้งประกาศแผนลงทุนเปิดดาต้า เซ็นเตอร์ (Data Center) แห่งแรกของไมโครซอฟท์ในประเทศไทย แต่ยังไม่มีการเปิดเผยวงเงินลงทุนและระยะเวลาในการลงทุน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้เข้า ร่วมงานดังกล่าวด้วย หลังจากที่เคยเจอกับนายสัตยา เมื่อครั้งเดินทาง ไปประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ครั้งที่ 30 ระหว่างวันที่ 12-19 พ.ย.2566 ที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งครั้งนั้นรัฐบาลไทยได้เซ็นบันทึกความเข้าใจกับไมโครซอฟท์เพื่อร่วมกันพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลของไทย

นายกฯเผยพร้อมต่อยอดร่วมกับ ไมโครซอฟท์

นายเศรษฐาซึ่งขึ้นกล่าวบนเวทีหลังนายสัตยา เปิดเผยว่า การประกาศความร่วมมือกับไมโครซอฟท์ เป็นก้าวสำคัญในการผลักดันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลระดับภูมิภาค โดยรัฐบาลจะทำอย่างเต็มที่เพื่อสร้าง ระบบนิเวศที่เอื้อต่อการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว และสอดคล้องกับความร่วมมือกับไมโครซอฟท์ โดยกำลังอยู่ระหว่างร่างแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศ ไทย ระยะที่ 2 (พ.ศ.2567-2570) หรือแผน ยุทธศาสตร์ AI ให้ตรงกับความต้องการของ ประเทศ ตอบโจทย์ตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป

ด้านนายสัตยากล่าวว่า การเปิดดาต้าเซ็นเตอร์ระดับภูมิภาคแห่งใหม่ในไทย ควบคู่ไปกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ สำหรับ คลาวด์และปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI รวมถึงการเสริมสร้างทักษะด้าน AI ล้วนเป็นแผนงาน ที่ต่อยอดพันธกิจของไมโครซอฟท์ เพื่อช่วยให้องค์กรไทย ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนเติบโต ร่วมกันสร้างความเปลี่ยน แปลงใหม่ๆ

งานวิจัยจากบริษัทที่ปรึกษา Kearney คาดการณ์ว่า AI จะช่วย เพิ่มมูลค่าจีดีพีของประเทศต่างๆในภูมิภาค เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 37,000 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2573 เฉพาะประเทศไทยคิดเป็นจีดีพีที่เพิ่มขึ้น โดยในจำนวนนี้ คิดเป็นยอดจีดีพีของไทยที่จะเพิ่มขึ้น 117,000 ล้านเหรียญฯ (ราว 4.3 ล้านล้านบาท)

ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็น 1 ใน 3 ประเทศในอาเซียน ที่นายสัตยาเดินทางมาเยือน เริ่มจากอินโดนีเซีย ซึ่งนายสัตยาประกาศแผนลงทุนมูลค่า 1,700 ล้านเหรียญฯ (ประมาณ 62,000 ล้านบาท) ภายในระยะเวลา 4 ปี ในคลาวด์และเทคโนโลยี AI รวมทั้งมีเป้าหมายพัฒนาทักษะ AI ให้กับคนอินโดนีเซียจำนวน 840,000 คน วงเงินลงทุนดังกล่าวนับเป็นมูลค่าสูงที่สุดในรอบ 29 ปีของไมโครซอฟท์ในอินโดนีเซีย โดยหลังเดินทางมาประเทศไทย นายสัตยาจะบินไปมาเลเซียต่อ

ซีอีโอ “สัตยา” หนุนยกระดับ AI ให้ไทย 1 แสนคน

นายสัตยากล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2567 ไมโครซอฟท์ยังได้ประกาศเป้าหมายสนับสนุนประชากร 2.5 ล้านคน จากอาเซียนครอบคลุมไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ได้เรียนรู้และฝึกฝนทักษะด้าน AI สำหรับประเทศไทย จะยกระดับความสามารถด้าน AI ให้กับคนไทย 100,000 คน รวมทั้งจะขับเคลื่อนการเติบโตของชุมชนนัก พัฒนาในประเทศไทย ผ่านโครงการและกิจกรรม อย่าง AI Odyssey อีก 6,000 คน ยกระดับ ทักษะความสามารถขึ้นมาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ที่ครบเครื่องด้วยทักษะใหม่ๆ

ด้านนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอี เปิดเผยเพิ่มเติมว่า เท่าที่ทราบการลงทุนของไมโครซอฟท์ น่าจะเกิดขึ้นภายในปีนี้ แต่ยังไม่มีการเปิดเผยวงเงิน ความร่วมมือดังกล่าวเป็นการสานต่อความสำเร็จในการเดินทางไปโรดโชว์ระหว่างการประชุมเอเปกของนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือน พ.ย.2566 ซึ่งได้พบบริษัทยักษ์ใหญ่มากมาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ อเมซอน เว็บ เซอร์วิส ได้เคยประกาศลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ ในประเทศไทย สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มูลค่า 5,000 ล้านเหรียญ (ราว 190,000 ล้านบาท) ภายใน 15 ปี แต่ ยังไม่มีการลงทุนเกิดขึ้น ขณะที่การประกาศของไมโครซอฟท์ถือเป็นรายที่ 2 หลังจากที่หัวเว่ยได้ลงทุนเปิดดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดย่อมในไทยไปก่อนหน้านี้ โดยรัฐบาลกำลังจีบกูเกิล ให้เข้ามาลงทุนเช่นกัน.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ