นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมกรอบความร่วมมือในการดำเนินงานระหว่างกองทัพอากาศ (ทอ.) และกระทรวงคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาตามนโยบายศูนย์กลางการบิน “Aviation Hub” ของรัฐบาล ว่า ทอ.พร้อมหนุนรัฐบาล โดยจะมีการมอบสนามกอล์ฟกานตรัตน์หรือสนามงูให้รัฐบาลใช้ประโยชน์ด้านการบินพลเรือน เบื้องต้นจะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุดเพื่อหารือในรายละเอียดของการชดเชยการย้ายสนามกอล์ฟออกจากพื้นที่สนามบินดอนเมือง ซึ่งผลดีในการย้ายออกและนำมาใช้ประโยชน์ทางการบินจะทำให้สนามบินดอนเมืองสามารถเพิ่มศักยภาพทางการบินเชิงพาณิชย์ได้อีก 5% ทันที “ได้มอบนโยบายให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.พิจารณางบประมาณในการชดเชยรายได้บุคลากรและรายได้จากสวัสดิการต่างๆ รวมทั้งการสนับสนุน ทอ.อย่างสมเหตุสมผลจากการใช้ประโยชน์พื้นที่สนามงู ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถเที่ยวบินจาก 55 เที่ยวบินต่อชั่วโมง เป็น 65 เที่ยวบินต่อชั่วโมง ซึ่งจะนำมาซึ่งรายได้มาสู่ประเทศได้เพิ่มขึ้น”
นายสุริยะกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ได้หารือเรื่องการพัฒนาถนนวงแหวนรอบที่ 1 ผ่านบริเวณของกองบิน 41 ที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งกองทัพอากาศกับกรมทางหลวงจะพัฒนาร่วมกัน โดยเปิดให้ประชาชนใช้ถนนผ่านเข้า-ออกในพื้นที่กองบิน 41 เพื่ออำนวยความสะดวกในการสัญจร แก้ไขปัญหาการจราจรในตัวเมืองเชียงใหม่ได้เป็นอย่างดี โดยมอบให้กรมทางหลวงตั้งคณะทำงานร่วมกับ ทอ.เพื่อพิจารณาหาแนวทางการกำหนดเส้นทางที่เหมาะสมร่วมกัน
“การประชุมหารือดังกล่าว ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการร่วมมือระหว่างกองทัพอากาศและกระทรวงคมนาคม เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย Aviation Hub ของรัฐบาล และทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินและเศรษฐกิจ”
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงคมนาคม ว่า จากการหารือร่วมกับกองทัพอากาศ พบว่าผลกระทบในกรณีไม่ได้ดำเนินกิจการสนามกอล์ฟงู ได้แก่ ผลกระทบด้านยุทธการ เนื่องจากหากมีสถานการณ์วิกฤติ กองทัพอากาศจะปรับเปลี่ยนพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นพื้นที่ปฏิบัติการด้านความมั่นคง และกระทบความรู้สึกของข้าราชการกองทัพอากาศ เนื่องจากผู้ใช้บริการเป็นทหารปัจจุบันและเกษียณแล้ว ขณะเดียวกับพนักงานสนามกอล์ฟ จำนวน 49 คนจะขาดรายได้พนักงานถือถุงกอล์ฟ (แคดดี้) จำนวน 264 คน รวมทั้งผู้ประกอบการร้านค้ารอบๆ
อย่างไรก็ดี ทางกองทัพอากาศประเมินผลกระทบด้านรายได้ที่จะเกิดขึ้นหากไม่มีกิจการสนามกอล์ฟ โดยประมาณการเงินชดเชยรวมประมาณ 138 ล้านบาท ประกอบด้วย
1.ผลกระทบกับรายได้แคดดี้ จำนวน 250 คน (ไม่รวมครอบครัว) ประมาณปีละ 75 ล้านบาท
2.ผลกระทบกับพนักงานและเจ้าหน้าที่สนาม จำนวน 51 คน ประมาณปีละ 9.1 ล้านบาท
3.เสียรายได้จากการดำเนินการกิจการ นำส่งเข้ากองทุนสวัสดิการกองทัพอากาศ ประมาณปีละ 5.5 ล้านบาท
4.ผลกระทบกับทรัพย์สิน เครื่องจักร 35 รายการ ประมาณ 12 ล้านบาท
5.ผลกระทบกับงบลงทุนสร้างอาคารคลับเอาส์ ประมาณ 35 ล้านบาท
6.ผลกระทบกับงบลงทุนสร้างรายได้ในสนาม ประมาณ 1.8 ล้านบาท
7.ผลกระทบกับผู้ประกอบการภายในสนาม 15 กิจการ
นอกจากนี้ กองทัพอากาศยังประเมินการจัดใช้งบประมาณที่จะต้องเกิดขึ้น หากไม่ได้ดำเนินกิจการสนามกอล์ฟ โดยแบ่งงบออกเป็น ชดเชยรายได้และบุคลากร คาดการณ์ไว้ที่ปีละ 89.6 ล้านบาท และงบค่าสิ่งก่อสร้างและอุปกรณ์ ประมาณ 48.8 ล้านบาท รวมทั้งยังมีงบค่าก่อสร้างอาคารสปอร์ตคอมเพล็กซ์แห่งใหม่ ที่ต้องการให้ ทอท.สนับสนุน ประเมินวงเงินลงทุนในหลักพันล้านบาท.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่